“ไทยกับเวียดนาม –หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน”

(VOVWORLD) -สารจากนางสาววันทนีย์ วิพุธวงศ์สกุล อุปทูต ณ กรุงฮานอย  เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร              มหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ

           


“ไทยกับเวียดนาม –หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” - ảnh 1นางสาววันทนีย์ วิพุธวงศ์สกุล อุปทูต ณ กรุงฮานอย  

วันที่ 5 ธันวาคม ของทุกปีถือเป็นวันสำคัญของคนไทยเนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ นอกจากนี้ องค์การสหประชาชาติยังได้กำหนดให้วันที่ 5 ธันวาคม เป็น “วันดินโลก” เพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในพระปรีชาด้านการอนุรักษ์ดิน แก้ไขปัญหา และพัฒนาดินเสื่อมโทรมให้กลับมาอุดมสมบูรณ์

ในวันนี้ ชาวไทยจะน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล              อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสมงคลในการแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงสืบสาน รักษา ต่อยอดพระราชปณิธาน ตลอดจนเป็นโอกาสในการแสดงพลังแห่งความสามัคคีและปรองดองในฐานะพสกนิกรชาวไทยภายใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร เนื่องในโอกาสวันชาติไทย รวมทั้งแสดงความกตัญญูต่อบิดาของตน 

ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเวียดนามมีพลวัตและมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม นับจากการยกระดับความสัมพันธ์ขึ้นเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ในปี 2556 โดยเวียดนามเป็นประเทศที่ไทยมีความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน

ในปี 2561 นี้ ได้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับหัวหน้ารัฐบาล ได้แก่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเยือนเวียดนามเพื่อเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Summit) ครั้งที่ 6 ณ กรุงฮานอย ระหว่างวันที่ 30-31 มีนาคม 2561 ขณะเดียวกัน นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนามเยือนไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง (Ayeyawady – Chao Phraya – Mekong Economic Cooperation Strategy -ACMECS) ครั้งที่ 8 ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายน 2561 ที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังมีการแลกเปลี่ยนการเยือนทุกระดับอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นประจักษ์พยานที่สำคัญของมิตรภาพอันยาวนานระหว่างสองประเทศ  นอกจากนี้ หน่วยงานของทั้งสองประเทศอยู่ระหว่างการเตรียมการจัดประชุมในกรอบความร่วมมือทวิภาคีหลายด้านในระดับต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนาม อย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 (4th Joint Cabinet Retreat - JCR) ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือที่ไทยมีกับเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น

สำหรับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจนั้นได้มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2560 ไทยกับเวียดนามมีมูลค่าการค้าทวิภาคีจำนวน 15,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดิฉันเชื่อมั่นว่าทั้งสองประเทศจะบรรลุเป้าหมายการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกันให้เป็น 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2563 ตามที่รัฐบาลของทั้งสองประเทศตั้งเป้าหมายไว้ ในการนี้ ดิฉันมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ไทยเป็นผู้ลงทุนอันดับที่ 10 ของเวียดนาม ด้วยมูลค่าการลงทุนจำนวน 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2560 โดยเป็นโครงการด้าน              ต่าง ๆ ตั้งแต่ด้านสาธารณูปโภค พลังงาน  อุตสาหกรรมแปรรูป ไปจนถึงภาคการบริการ ในฐานะตัวแทนของประเทศไทย ดิฉันมีความยินดีอย่างยิ่งที่ประเทศไทยได้เป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพัฒนาทางเศรษฐกิจไปกับเวียดนาม  เพื่ออนาคตที่เป็นประโยชน์แก่ทั้งสองประเทศร่วมกัน

ความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวเป็นอีกกลไกสำคัญหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนและกระชับความสัมพันธ์ภาคประชาชนระหว่างไทยและเวียดนามให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวไทยและเวียดนามเยือนซึ่งกันและกันมากกว่า 1 ล้านคน นอกจากนี้ มีการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษา เยาวชน และด้านสื่อสารมวลชน

ในกรอบพหุภาคี  ไทยกับเวียดนามมีความร่วมมือใกล้ชิดภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง ๆ ไม่ว่า                   จะเป็นสหประชาชาติ  ไทยสนับสนุนการสมัครเป็นสมาชิกไม่ถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของเวียดนามอย่างเต็มที่  นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังได้ร่วมมือกันในกรอบอื่น ๆ ได้แก่ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Cooperation- APEC) กรอบความร่วมมือเอเชีย (Asia Cooperation Dialogue-ACD)  การประชุมสุดยอดผู้นำแผนงานความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง   การประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง และการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting – ASEM) ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับเวียดนามในทุกเวทีเพื่อส่งเสริมความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมด้านความมั่นคงในภูมิภาคเพื่อส่งเสริมสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่งคั่ง และความยั่งยืนในภูมิภาคของเรา

ไทยในฐานะประธานอาเซียนในปี 2562 พร้อมที่จะทำงานกับทุกประเทศในอาเซียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเวียดนามซึ่งจะเป็นประธานต่อจากไทยในปี 2563  โดยให้ความสำคัญกับความเป็นหุ้นส่วนและการก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน เพื่อสร้างประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ส่งเสริมความเชื่อมโยงและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในทุกมิติ  

สุดท้ายนี้ ดิฉันเชื่อมั่นว่ามิตรภาพและความร่วมมือระหว่างไทยกับเวียดนามนับวันจะยิ่งเพิ่มพูนและพัฒนาขึ้นอย่างมากต่อไป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด