อนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในเวียดนาม

(VOVWORLD) - ดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างความหลากหลายให้แก่คลังดนตรีพื้นเมืองเวียดนาม ในสภาวการณ์ที่ดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆกำลังมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทางการท้องถิ่นและชุมชนชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆกำลังผลักดันการอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองอย่างเข้มแข็ง
อนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในเวียดนาม - ảnh 1 การแสดงฆ้องของชนเผ่าเอเดในเขตที่ราบสูงเตยเงวียน ( baotintuc.vn)

เวียดนามมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประเพณี ภาษาและเอกลักษณ์วัฒนธรรมเฉพาะ รวมถึงเพลงและเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่เป็นเอกลักษณ์และมีความผูกพันธ์อย่างแน่นแฟ้นกับชีวิตทั้งด้านวัตถุ จิตใจและจิตวิญญาณของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ซึ่งในนั้น มีเพลงพื้นเมืองต่างๆ เช่น เพลง “เมือเรย” หรือ แปลว่า “ฝนตก”ของชนเผ่าเคอมู้ เพลง “รูแอม” หรือ แปลว่า “เพลงกล่อมเด็ก”ของชนเผ่าเซอดัง เพลง “อิงหลาเอย” ของชนเผ่าไทและเพลง “กอนก่าไก๊แลแต” หรือ แปลว่า “เสียงไก่ขัน” ของชนเผ่าก๊งคาว ที่ไม่เพียงแต่เป็นที่รู้จักของชาวเวียดนามหลายคนเท่านั้น หากยังเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติจำนวนมากอีกด้วย

สำหรับบทบาทของดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในการพัฒนาวัฒนธรรมของประชาชาติ รองศาสตราจารย์ ดร.เหงวียนบิ่งดิ่ง อดีตหัวหน้าสถาบันดนตรีแห่งชาติเวียดนามได้ประเมินว่าชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆมีการกำหนดลีลา รูปแบบและดนตรีที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าตน โดยชนกลุ่มน้อย 53ชนเผ่าได้มีส่วนช่วยสร้างคลังศิลปะที่มีทั้งลักษณะที่โดดเด่นของประชาชาติและเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ อีกทั้งสร้างความหลากหลายให้แก่ดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยของเวียดนาม

ถึงแม้จะมีคลังดนตรีพื้นบ้านที่หลากหลาย แต่ท่ามกลางการผสมผสานและการพัฒนาของประเทศ ดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆกำลังมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป ดังนั้น ยิ่งกว่าเวลาใดทั้งหมด ต้องถือการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆเป็นงานเร่งด่วน โดยหน่วยงานวัฒนธรรมกำลังพยายามจัดทำกลไก นโยบาย ปฏิบัติโครงการอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ โดยเฉพาะเน้นโครงการลงทุนและสนับสนุนเงินให้แก่การจัดรายการแสดงและสอนดนตรีพื้นเมืองให้แก่คนรุ่นใหม่ ซึ่งโครงการอนุรักษ์และพัฒนามรดกอย่างยั่งยืนจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดถ้าหากมีการเข้าร่วมของชุมชน ดังนั้น การส่งเสริมให้ชุนชนชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆอนุรักษ์มรดกดนตรีพื้นบ้านผ่านการแสดงในชีวิตประจำวันและในงานเทศกาลต่างๆถือเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนี่ก็เป็นเหตุผลของการส่งเสริมให้ประชาชนชนกลุ่มน้อยในเขตที่ราบสูงเตยเงวียนเข้าร่วมงานเฟสติวัลวัฒนธรรมฆ้องเตยเงวียนที่จะจัดขึ้น ณ จังหวัดยาลายในเดือนพฤศจิกายน นาย ฟานซวนหวู ผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดยาลายได้เผยว่า“ในงานเฟสติวัลครั้งนี้ พวกเราให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการเข้าร่วมของชุมชนและศิลปะการแสดงพื้นบ้านเพื่อประชาชนและชุมชน ซึ่งมีส่วนร่วมที่สำคัญในการสร้างสรรค์บรรยากาศวัฒนธรรมฆ้อง ในปี 2017 และปี 2018 ได้มีการจัดงานเทศกาลฆ้องระดับอำเภอและนครในจังหวัดเพื่อเตรียมพร้อมด้านบุคลากรให้แก่งานเฟสติวัลวัฒนธรรมฆ้องปี 2018”

ยกตัวอย่างเช่นประชาชนชนเผ่าโบ๊อีในตำบลเกวี๊ยดเตี๊ยน อำเภอกว๋านบะ จังหวัดห่ายางได้มีมาตรการอนุรักษ์ดนตรีพื้นบ้านผ่านการแสดงในงานเทศกาลและพิธีกรรมต่างๆ เช่น การตีกลองมโหระทึกและกลองฉาบในงานเซ่นไหว้ผีบ้าน การรวบรวมและตีพิมพ์เพลงพื้นเมืองเพื่อสืบทอดให้แก่คนรุ่นหลัง โดยเฉพาะการบันทึกเนื้อร้องของเพลงพื้นเมืองเป็นอักษรละตินเพื่อให้ประชาชนสามารถฝึกร้องได้ ตลอดจนเลือกเยาวชนที่มีทักษะความสามารถเพื่อสอนการร้องเพลงพื้นเมืองให้ นอกจากนี้ ศิลปินอาวุโสยังได้ปรับเปลี่ยนเพลงพื้นเมืองของชนเผ่าโบ๊อีให้สอดคล้องกับดนตรีร่วมสมัยและความนิยมของเยาวชน ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ดีของการอนุรักษ์ดนตรีพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในเวียดนาม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด