เมืองท่าไฮฟองอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกการร้องเพลงดุ๊ม

(VOVWORLD) - การร้องเพลงพื้นเมืองดุ๊มคือการร้องโต้ตอบที่มักแสดงในโอกาสงานเทศกาลยามวสันต์ฤดู โดยการร้องเพลงดุ๊มมีจุดเริ่มต้นจากกระบวนการผลิต มีความผูกพันกับงานเทศกาลต่างๆและเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของประชาชนในเขตปากแม่น้ำ ซึ่งอำเภอถวีเงวียน เมืองท่าไฮฟองเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปะการร้องเพลงดุ๊ม เมื่อเร็วๆนี้ การร้องเพลงดุ๊มได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมแห่งชาติ
เมืองท่าไฮฟองอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกการร้องเพลงดุ๊ม - ảnh 1การร้องเพลงดุ๊มในงานเทศกาลยามวสันต์ฤดู 

ตามเอกสารโบราณ การร้องเพลงดุ๊มเกิดจากการร้องเพลงทำนองวี้ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดง ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 13 ในสมัยราชวงศ์เจิ่น จนถึงศตวรรษที่ 16 ในสมัยราชวงศ์หมาก ได้มีการแสดงร้องเพลงดุ๊มอย่างต่อเนื่องในอำเภอถวีเงวียนและท้องถิ่นต่างๆในเมืองท่าไฮฟอง เช่น โด่เซิน อานหายและเกี๊ยนถวี๊ ส่วนตามความเห็นของบรรดานักวิชาการ การร้องเพลงดุ๊มมีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับประเพณีการใช้ผ้าคลุมศีรษะและปิดหน้าของสตรีในหมู่บ้านฝุก อำเภอถวีเงวียนเพื่อปกป้องผิวหน้าจากแสงแดดและลมทะเล โดยสาวๆจะถอดผ้าคลุมศีรษะครั้งเดียวในรอบปีคือในเทศกาลยามวสันต์ฤดูของหมู่บ้านท่ามกลางบรรยากาศการร้องเพลงโต้ตอบหาคู่ระหว่างหนุ่มสาว 

การร้องเพลงดุ๊มในสมัยก่อนมี 2 รูปแบบคือการร้องคู่และการร้องเป็นกลุ่ม โดยการร้องคู่สามารถแสดงในทุกที่ทุกเวลา ส่วนการร้องเป็นกลุ่มมักจะแสดงในงานเทศกาลต่างๆ ที่ วัดและวิหารของหมู่บ้าน โดยชายหนุ่มถ้าอยากร้องเพลงดุ๊มกับสาวคนไหน ก็จะไปใกล้ๆสาวคนนั้นเพื่อเชิญร้องเพลง ซึ่งถ้าหากสาวคนนั้นยินยอมก็จะยอมให้ชายหนุ่มจับมือและร้องเพลงโต้ตอบกัน แต่การถอดผ้าคลุมศีรษะเพื่อให้ชายหนุ่มดูใบหน้านั้นจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อหญิงสาวมีความชอบใจกับชายหนุ่มจริงๆผ่านเสียงร้องเพลงดุ๊ม โดยหญิงสาวจะเชิญชายหนุ่มที่ตนชอบดื่มน้ำและมอบของที่ระลึกให้แก่เขา และเชิญมาทานข้าวที่บ้านของตนด้วย ปัจจุบัน การร้องเพลงดุ๊มมีแนวโน้มลดลงและมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่รูปแบบการร้องเพลงดุ๊มยังคงได้รับการอนุรักษ์เอาไว้ นาย ฝุ่งวันแหมง ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรมและการสื่อสารอำเภอถวีเงวียนได้เผยว่า“การร้องเพลงดุ๊มบรรยายถึงเนื้อหาต่างๆ เช่น การทักทาย การแสดงความยินดี การหาคู่ การตั้งเงื่อนไขให้ฝ่ายชายเตรียมสิ่งของเพื่อไปรับเจ้าสาว รวมทั้งการผลิต การร้องโต้ตอบเกี่ยวกับต้นไม้ในป่า ปลา ดาวดวงต่างๆและวรรณคดี ซึ่งแสดงให้เห็นว่า บรรดาศิลปินได้ทุ่มเทในการทำงาน รักธรรมชาติเป็นอย่างมากและเป็นคนที่ฉลาดมากจึงสามารถแต่งเพลงที่ไพเราะได้”

เมืองท่าไฮฟองอนุรักษ์และส่งเสริมมรดกการร้องเพลงดุ๊ม - ảnh 2มีประชาชนเข้าชมการแสดงร้องเพลงดุ๊มจำนวนมาก 

ก็เหมือนกับศิลปะพื้นเมืองแขนงอื่นๆ การร้องเพลงดุ๊มก็ต้องผ่านความผันผวนต่างๆของชีวิต โดยตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 20 การใช้ชีวิตในหมู่บ้านก็เริ่มคึกคักมากขึ้นเนื่องจากมีเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆที่ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งทำให้เยาวชนอยู่ห่างจากวัฒนธรรมพื้นบ้าน รวมทั้งการร้องเพลงดุ๊มที่มีลีลาช้าๆ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อหลายปีมานี้ ทางการอำเภอถวีเงวียนได้ผลักดันการฟื้นฟูการร้องเพลงดุ๊ม ซึ่งเพื่ออนุรักษ์และพัฒนามรดกวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ทางอำเภอฯได้ฟื้นฟูงานเทศกาลร้องเพลงดุ๊มยามวสันต์ฤดู รวม 7 รายการ โดยเฉพาะการจัดตั้งสโมสรเพื่อสอนการร้องเพลงดุ๊มให้แก่คนรุ่นใหม่ เด็กหญิงดิงถิเอี๊ยน นักเรียนชั้นม.2โรงเรียนมัธยมตอนต้นเหลิบเหล อำเภอถวีเงวียนที่เข้าร่วมสโมสรการร้องเพลงดุ๊มมากว่า 4 ปีได้เผยว่า“พ่อแม่ได้ส่งเสริมให้หนูเข้าร่วมสโมสรการร้องเพลงดุ๊มเพื่อสามารถอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของบ้านเกิดและเพื่อเชิดชูวัฒนธรรมของประชาชาติ ซึ่งในตอนเริ่มฝึกร้องหนูรู้สึกว่า ยากมากแต่จากการสอนของคุณตาคุณยายในสโมสรทำให้หนูสามารถร้องเพลงดุ๊มได้และรู้สึกว่า เพลงดุ๊มไพเราะมาก”

ส่วนนาย เหงวียนดึ๊กยาง นายกสมาคมศิลปะพื้นเมืองเมืองท่าไฮฟองได้เผยว่า จากความพยายามฟื้นฟูมรดกการร้องเพลงดุ๊มในท้องถิ่นต่างๆในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำห่ง หรือ แม่น้ำแดง เช่น เมืองโด่เซิน เกี๊ยนถวี่ ก๊าดหายและถวีเงวียนในเมืองท่าไฮฟอง เมืองกว๋างเอียนในจังหวัดกว๋างนิงและจังหวัดท้ายบิ่ง เป็นต้น ทำให้การร้องเพลงดุ๊มยังคงได้รับการแสดงในงานเทศกาลยามวสันต์ฤดู ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพลังชีวิตที่เข้มแข็งของการร้องเพลงดุ๊ม ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของอำเภอถวีเงวียน เมืองท่าไฮฟองและของประชาชาติ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด