ปัญหาความมั่นคงของโลกที่ร้อนระอุในการประชุมมิวนิคปี 2019

(VOVWORLD) - ในการประชุมความมั่นคงมิวนิคปี 2019 ซึ่งถือเป็นการประชุมที่มีชื่อเสียงมากที่สุดของโลก ที่มีขึ้น ณ เมืองนิวนิค ประเทศเยอรมนีเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการหารือถึงปัญหาความร่วมมือระหว่างประเทศที่สำคัญ โดยเฉพาะได้มีขึ้นในสภาวการณ์ที่ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับยุโรปมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นพร้อมกับปัญหาความมั่นคงต่างๆของโลกที่ยังไม่สามารถแสวงหามาตรการแก้ไขได้

ปัญหาความมั่นคงของโลกที่ร้อนระอุในการประชุมมิวนิคปี 2019 - ảnh 1ภาพการประชุม (Photo  securityconference.de.)

 

การประชุมความมั่นคงมิวนิคปี 2019 มีผู้นำประเทศ 35 ท่าน รัฐมนตรีต่างประเทศ 50 ท่าน รัฐมนตรีกลาโหม 30 ท่านและตัวแทนองค์การระหว่างประเทศต่างๆเข้าร่วมจำนวนมาก โดยมีการจัดการประชุมและการสนทนานับร้อยนัดเพื่อหารือถึงปัญหาที่ร้อนระอุต่างๆ ตั้งแต่การแข่งขันและความร่วมมือระหว่างประเทศมหาอำนาจ อนาคตของสหภาพยุโรป ความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก อนาคตของการควบคุมอาวุธ นโยบายด้านกลาโหม การผสานระหว่างการค้ากับความมั่นคงระหว่างประเทศ

ความตึงเครียดและความรอยร้าว

ปัญหาต่างๆ เช่น ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับยุโรป ความมั่นคงทางอินเตอร์เน็ตระหว่างสหรัฐกับจีน ความขัดแย้งเกี่ยวกับความมั่นคงในตะวันออกกลางและข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน เป็นต้น ได้ทำให้บรรยากาศการประชุมความมั่นคงมิวนิคครั้งนี้ก็ตึงเครียดตามไปด้วย โดยได้มีการโต้ตอบอย่างรุนแรงระหว่างบรรดาประเทศมหาอำนาจ เช่น ปัญหาของบริษัทHuaweiซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมที่ใหญ่ที่สุดของจีน และปัญหาทะเลตะวันออกคือประเด็นหลักในการโต้ตอบกันระหว่างตัวแทนของสหรัฐกับตัวแทนของจีน  โดยสหรัฐได้เรียกร้องให้คว่ำบาตรกลุ่มบริษัทHuawei เนื่องจากถือกลุ่มบริษัท Huawei และบริษัทโทรคมนาคมต่างๆของจีนเป็นภัยคุกคามที่ยิ่งใหญ่ต่อความมั่นคง ส่วนจีนได้ยืนยันว่า ไม่ต้องการที่จะเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยี พร้อมทั้งกล่าวตำหนิสหรัฐว่า ควรยุติอคติและความคิดที่ล้าสมัยเพื่อความร่วมมือและผลประโยชน์ร่วมกัน

การถกเถียงนี้ได้มีขึ้นเพียง 1 วันหลังจากที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งสองฝ่ายได้เสร็จสิ้นการเจรจาการค้าที่ใหญ่ที่สุด ณ กรุงปักกิ่ง และกำหนดว่า จะพบปะกันในการเจรจารอบต่อไป ณ กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้ ถึงแม้จีนมีความประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือกับสหรัฐแต่ก็ยังคงแสดงท่าทีประท้วงลัทธิคุ้มครองการค้าของสหรัฐและความไม่พอใจต่อการเดินเรืออย่างเสรีของสหรัฐในทะเลตะวันออก ส่วนสหรัฐได้ชื่นชมยุทธศาสตร์อินเดีย – แปซิฟิกของตนที่ได้รับการสนับสนุนจากออสเตรเลียและญี่ปุ่น

ในการประชุมครั้งนี้ สหรัฐและบรรดาประเทศยุโรปก็แสดงทัศนะที่แตกต่างกันเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงในตะวันออกกลางและการค้า ซึ่งปัญหานี้มีความรุนแรงมากขึ้นในยุคของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ โดยสามารถเห็นได้ชัดจากบทปราศรัยที่มีทัศนะที่ขัดกับรองประธานาธิบดีสหรัฐ ไมค์ เพนซ์และนาง อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีเกี่ยวกับปัญหาต่างๆของโลก เช่น ข้อตกลงนิวเคลียร์ของอิหร่าน สงครามในซีเรียและเยเมน การปฏิบัติคำมั่นเกี่ยวกับการปลดอาวุธและการควบคุมการแข่งขันด้านอาวุธ วิกฤติในเวเนซูเอลาและความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับฝ่ายตะวันตก เป็นต้น ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า ในการประชุมความมั่นคงมิวนิค 2019 ความสัมพันธ์พันธมิตรระหว่างสหรัฐกับยุโรปยังไม่สามารถฟื้นฟูได้ แถมยังมีความแตกแยกมากขึ้น

ภาพรวมความมั่นคงของโลกยังคงไร้เสถียรภาพ

การประชุมความมั่นคงมิวนิคได้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1963 โดยมีเป้าหมายเป็นเวทีประสานงานด้านนโยบายกลาโหมของบรรดาประเทศตะวันตก ปัจจุบันนี้ การประชุมมิวนิคได้กลายเป็นเวทีระดับโลกเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงของโลก โดยเคยมีการเข้าร่วมของผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ องค์การวิจัยยุทธศาสตร์และนักการเมืองเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาความมั่นคงโลก ถึงแม้จะไม่มีการประกาศนโยบายแต่นี่ถือเป็นเวทีที่สะท้อนโครงสร้างของโลกอย่างชัดเจนผ่านทัศนะของแต่ละประเทศ

สำหรับการประชุมในปีนี้ ตามความคิดเห็นของนักวิจัยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โลกกำลังอยู่ในช่วงที่ไร้เสถียรภาพ โดยปัจจัยใหม่ๆที่ปรากฎขึ้นได้ส่งผลให้ภาพรวมของความมั่นคงโลกมีความซับซ้อนมากขึ้น เกิดประเด็นการถกเถียงระหว่างประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่การแข่งขันระหว่างประเทศมหาอำนาจไปจนถึงความทะเยอทะยานในการรวมกำลังเพื่อสร้างโครงสร้างโลกใหม่ ควบคู่กันนั้น ยังมีความท้าทายด้านความมั่นคงที่เกิดใหม่ เช่น การก่อการร้ายและการแข่งขันทางอินเตอร์เน็ต ในสภาวการณ์ที่เต็มไปด้วยความผันผวนนี้ การสนทนาระหว่างบรรดาประเทศมีความสำคัญเป็นอย่างมากเพื่อหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าโดยตรงและการประชุมความมั่นคงมิวนิคมีหน้าที่ผลักดันกระบวนการแก้ไขการพิพาทผ่านเส้นทางที่สันติบนพื้นฐานของความร่วมมือและการสนทนาระหว่างประเทศ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด