ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่าโลโล

(VOVWORLD) - แม้จะอาศัยในเขตเขาสูงและชีวิตความเป็นอยู่ยังคงมีความลำบากในหลายด้านแต่ชุมชนเผ่าโลโลก็ยังคงสามารถอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมเฉพาะของตนได้อย่างหลากหลายและสมบูรณ์ โดยเฉพาะประเพณีการแต่งงานถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่สะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชาวโลโลอย่างเด่นชัดที่สุด
ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่าโลโล - ảnh 1 หนุ่มสาวโลโลได้คบหากันผ่านกิจกรรมการผลิตและงานชุมชนต่างๆ(photo internet)

ตามประเพณีของชาวโลโล ความสัมพันธ์ในชีวิตครอบครัวนั้นจะสามารถแต่งงานมีสามีหรือภรรยาเพียง1คนและต้องแต่งงานกับคนในวงตระกูลเท่านั้นเพื่อที่จะสามารถสร้างสรรค์ครอบครัวที่มั่นคงบนพื้นฐานของความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจกัน

สำหรับเงื่อนไขในการเลือกคู่ ผู้ใหญ่ในครอบครัวมักจะสอนให้ลูกหลานรู้จักมาตรฐานสำคัญในการเลือกคู่คือ ถ้าเป็นผู้ชายต้องแข็งแรง ขยัน ทำงานเก่งทั้งงานไร่สวน ล่าสัตว์หรืองานฝีมือต่างๆเช่นทำอุปกรณ์เครื่องใช้ด้านการเกษตรและสร้างบ้าน โดยเฉพาะต้องรู้จักกับขั้นตอนการบูชาเซ่นไหว้เป็นอย่างดี ส่วนสำหรับสตรีนั้นก็ต้องเป็นคนที่พูดจาอ่อนน้อม เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ มีมารยาทดี นอกจากนั้นจะต้องรู้จักการทำงานบ้าน ทอผ้าและเย็บปักถักร้อยหรือปลูกข้าวปลูกผัก เมื่อหนุ่มสาวโลโลที่ถึงวัยหาคู่ ก็มีโอกาสพบปะสังสรรค์ทำความรู้จักกันอย่างอิสระ แต่การตัดสินใจว่าจะแต่งงานกันหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับพ่อแม่ของทั้งสองฝ่าย

หนุ่มสาวโลโลได้คบหากันผ่านกิจกรรมการผลิตและงานชุมชนต่างๆพร้อมการร้องเพลงโต้ตอบ เมื่อสองคนมีใจให้กันแล้วก็จะบอกให้ครอบครัวสองฝ่ายรับทราบ ถ้าหากสองครอบครัวพูดคุยกันแล้วตกลงให้ลูกของสองฝ่ายแต่งงานกันถึงจะมีการเตรียมขั้นตอนต่อไปเช่นการเชิญหมอผีของหมู่บ้านมาคุยเพื่อเลือกวันเวลาที่เหมาะสมให้แก่ขั้นตอนต่างๆ นาย หล่อยีป๊าว จากต.หลุงกู้ อ.ด่งวัน จ.ห่ายาง เผยว่า“อาจจะมีบางครอบครัวที่ไม่เชิญหมอผีมาร่วมพิธีแต่งงานแต่ก็ต้องไปพูดคุยเพื่อขอคำปรึกษาเรื่องการเลือกฤกษ์งามยามดีและขั้นตอนการจัดงานแต่งงาน”

ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่าโลโล - ảnh 2 ว่าที่เจ้าสาวและพ่อแม่จะเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆเพื่อนำไปใช้ที่บ้านสามีในอนาคต(photo internet)

เมื่อสองฝ่ายตกลงกันเรื่องเวลาแล้วฝ่ายชายก็จะนำสิ่งของไปสู่ขอ เมื่อฝ่ายหญิงรับของหมั้นแล้วฝ่ายชายถึงจะจัดงานเลี้ยงและกำหนดวันรับตัวเจ้าสาว ส่วนสำหรับฝ่ายหญิงก็มีสิทธิ์เรียกสินสอดที่มักจะเป็นข้าวสาร ข้าวสารเหนียว เนื้อหมู เหล้า เสื้อผ้าและเครื่องประดับของเจ้าสาวด้วย ซึ่งเมื่อเตรียมสินสอดครบตามข้อเสนอของฝ่ายหญิง ฝ่ายชายจะนำสิ่งของเหล่านั้นไปให้พี่ของเจ้าสาวเพราะตามประเพณีถือเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญมากในการตัดสินใจเรื่องงานแต่งงานและเรื่องการแบ่งทรัพย์สินในครอบครัว เมื่อเสร็จทุกขั้นตอนของงานหมั้น งานแต่งจะมีขึ้นหลังจากนั้น3ปี โดยในตลอดเวลาก่อนแต่งงาน ว่าที่เจ้าสาวและพ่อแม่จะเตรียมสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆเพื่อนำไปใช้ที่บ้านสามีในอนาคต  ส่วนว่าที่เจ้าบ่าวก็ต้องปฏิบัติความกตัญญูต่อว่าที่พ่อตาแม่ยาย โดยเมื่อถึงวันตรุษเต๊ตจะต้องนำสิ่งของที่เป็นข้าว ปลา ไก่และอื่นๆมามอบเป็นของขวัญ

จนถึงวันแต่งงานตามกำหนดการ ขบวนรับเจ้าสาวจะนำข้าว เหล้า เนื้อหมู ชา พร้อมเงินสดจำนวนหนึ่งตามที่ตกลงกันแล้วไปให้ฝ่ายหญิงเพื่อเป็นการร่วมจัดงานเลี้ยงรับแขกของครอบครัวเจ้าสาว  เมื่อขบวนกลับถึงบ้านเจ้าบ่าวทั้งคู่ต้องทำพิธีรายงานหน้าหิ้งบูชาบรรพบุรุษ ถึงขณะนี้ก็ถือเป็นการเสร็จพิธีกรรมต่างๆและทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมงานเลี้ยงกับครอบครัวและเพื่อนฝูงที่มาร่วมแสดงความยินดีและอวยพรให้คู่บ่าวสาวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตลอดไป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด