ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่าไทดำในจังหวัดเซินลา

(VOVWORLD) -ชนกลุ่มน้อยเผ่าไทส่วนใหญ่อาศัยในเขตเขาตอนบนของเวียดนาม เป็นหนึ่งในกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีวัฒนธรรมพื้นเมืองหลากหลายและยังคงอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมต่างๆอย่างสมบูรณ์ โดยเฉพาะประเพณีการแต่งงาน ซึ่งเป็นภารกิจที่สำคัญในชีวิตและได้รับความสนใจจากทั้งครอบครัวและชุมชนท้องถิ่น
ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่าไทดำในจังหวัดเซินลา - ảnh 1พิธีเกล้ามวยผมสูงให้แก่เจ้าสาว(baomoi.com) 

หนุ่มสาวเผ่าไทดำในจังหวัดเซินลาเมื่อถึงวัยแต่งงานสามารถหาคู่กันเองโดยไม่ถูกพ่อแม่บังคับ โดยชาวบ้านมีความเข้าใจกันว่า ผู้ชายที่อยากมีแฟนมีครอบครัวก็ต้องขยันทำงานโดยเฉพาะต้องรู้จักงานจักสาน ส่วนสาวๆต้องรู้จักงานเย็บปักถักร้อยและทอผ้าพื้นเมือง เมื่อสองคนรักกันและอยากแต่งงานกัน ฝ่ายชายจะส่งแม่สื่อกับคนในครอบครัวพร้อมกล้วยและอ้อยไปทาบทามสู่ขอเพื่อขออนุญาตให้ลูกชายของตนได้ไปมาที่บ้านฝ่ายหญิงเพื่อทำความเข้าใจกันมากขึ้น นายเหลื่องวันมวน ชาวบ้าน เหล่า แขวงเจี่ยงเล นครเซินลาเผยว่า“ถ้าชอบสาวบ้านไหนฝ่ายชายจะต้องมาอยู่เป็นลูกเขยตั้งแต่2-3ปี แต่จะได้นอนในห้องเดี่ยวที่อยู่ส่วนระเบียงบ้านเพื่อทดสอบความแข็งแรง ความขยันและฝีมือการทำงาน ซึ่งถ้าหากฝ่ายหญิงชอบใจตกลงก็จะมีการจัดงานแต่งงานขึ้นอย่างเป็นทางการ”

ผ่านช่วงเวลาทดสอบ ถ้าฝ่ายหญิงตกลงก็จะส่งข่าวให้ฝ่ายชายรับทราบเพื่อเตรียมจัดงานแต่งงาน ซึ่งฝ่ายชายจะเลือกวันเวลาเพื่อส่งพ่อสื่อแม่สื่อพร้อมญาติมิตรกลุ่มเล็กไปขอหมั้นพร้อมสิ่งของที่จำเป็นตามประเพณีคือ หมู1ตัวขนาด20กิโลกรัม ไก่หนึ่งคู่ เหล้า10ลิตร ข้าวสารเหนียว10กิโลกรัม ซึ่งในงานหมั้นสองฝ่ายจะหารือเพื่อตกลงกันเรื่องวันแต่งงาน เมื่อถึงวันจัดงานตามกำหนด ฝ่ายชายจะต้องนำไก่1คู่ วิกผมแท้1คู่ กำไล1คู่ ผ้าทอพื้นเมือง4ผืน ปิ่นปักผม1อัน ซึ่งเป็นสิ่งของสำหรับงานแต่งและโดยผู้หญิงสองคนที่มีครอบครัวสุขสันต์สมบูรณ์เป็นผู้ถือไปให้ฝ่ายหญิงก่อนวันรับเจ้าสาวเพื่อทำพิธีเกล้าผมมวยสูงซึ่งเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกว่าหญิงคนนี้มีครอบครัวแล้ว ในวันต่อมาที่ฝ่ายชายจะมารับเจ้าสาว ในขบวนจะมีหมูอีก1ตัวขนาด80กิโลกรัม เหล้า70ลิตร ข้าวสาร70ตัน แล้วแต่จำนวนแขกที่ฝ่ายหญิงเชิญมางานเลี้ยงแต่งงาน นอกจากนั้นยังมีไก่2ตัวและชุด “แต๊งฮับฮ้อ” ที่ประกอบด้วยปลา2ตัว เกลือ ขิง หมากพลูและเส้นยาสูบอย่างละหนึ่งห่อโดยจำนวนชุด “แต๊งฮับฮ้อ” มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของฝ่ายหญิง พร้อมกับสิ่งของต่างๆฝ่ายชายยังต้องเตรียมเงินที่เป็นค่าเลี้ยงดูลูกสาวที่สองฝ่ายได้ตกลงกันแล้ว ซึ่งอาจจะเป็นเหรียญเงิน5เหรียญ สิ่งของทุกอย่างจะถูกวางที่หิ้งบูชาเพื่อรายงานต่อบรรพบุรุษ นายเหลื่องวันมวน ชาวบ้าน เหล่า แขวงเจี่ยงเล นครเซินลาเผยต่อไปว่าชุดสิ่งของ “แต๊งฮับฮ้อ” ฝ่ายชายต้องนำมาให้ครบเมื่อญาติพี่น้องของฝ่ายหญิงมาร่วมงานแต่งงานก็จะได้รับแจกตามลำดับวัยและบทบาทในครอบครัวเพื่อเป็นของที่ระลึก เช่นถ้าเป็นญาติผู้ใหญ่จะได้ไก่ครึ่งตัว ลำดับต่อมาก็ได้แจกเนื้อหมูหนึ่งชิ้น แต่เมื่อส่งเจ้าสาวไป ญาติๆก็จะเอาหม้อหรือกะละมังมาเป็นของขวัญแต่งงานให้เจ้าสาวนำไปใช้ที่บ้านของสามี

หลังวันแต่งงาน ลูกเขยจะอยู่ที่บ้านภริยาตามที่สองฝ่ายตกลงกันเมื่อครบกำหนดทางฝ่ายชายจะเอาสิ่งของต่างๆมารับทั้งสองคนกลับบ้าน ซึ่งตอนนั้นพ่อแม่ของฝ่ายหญิงต้องเตรียมข้าวของเครื่องใช้ต่างๆเช่น ฟูกหมอน ผ้าเปียว ถ้วยชามหม้อกะละมัง พันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ เป็นต้นเพื่อให้ลูกสาวนำไปใช้ที่บ้านสามี ส่วนฝ่ายชายก็จะจัดงานเลี้ยงเชิญญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรมาร่วมแสดงความยินดีและอวยพรให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวมีความสุข

ปัจจุบันนี้จากการปฏิบัติวิถีชีวิตวัฒนธรรมใหม่ ประเพณีการแต่งงานของชนเผ่าไทดำที่จังหวัดเซินลายังคงได้รับการปฏิบัติต่อไปแต่ได้มีการปรับปรุงลดขั้นตอนบางส่วนที่มีความล้าหลังและสร้างความสิ้นเปลืองเกินไปเช่น ไม่มีการเรียกค่าเลี้ยงดูหรือฝ่ายชายไม่ต้องมาอยู่บ้านฝ่ายหญิง เป็นต้น และทุกอย่างยังคงสะท้อนเอกลักษณ์วัฒนธรรมพื้นเมืองของชนเผ่าไทดำอย่างโดดเด่น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด