สถานีวิทยุเวียดนาม แหล่งบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยเสียง

(VOVWORLD) - วันที่ 7กันยายนปี 2020 ครบรอบ 75ปีที่สถานีวิทยุเวียดนามได้เดินพร้อมกับประชาชาติทั้งในช่วงสงครามที่เต็มไปด้วยความยากลำบากและบนเส้นทางแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ประเทศและในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น บรรดาผู้สื่อข่าว บรรณาธิการและช่างเทคนิคของสถานีวิทยุเวียดนามได้ทำหน้าที่ของผู้จดบันทึกประวัติศาสตร์ของชาติด้วยเสียง โดยจนถึงปัจจุบันนี้ ไฟล์เสียงของเหตุการณ์ที่สำคัญๆของประเทศตั้งแต่ปี 1945ก็ได้กลายเป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณค่าเป็นอย่างมาก

 

สถานีวิทยุเวียดนาม แหล่งบันทึกประวัติศาสตร์ด้วยเสียง - ảnh 1การบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆของสถานีวิทยุเวียดนาม

นับตั้งแต่ได้รับการก่อตั้งจนถึงช่วงปลายปี 1960 สถานีวิทยุเวียดนามคือกลไกการสื่อสารและการบันเทิงเพียงแห่งเดียวที่สามารถเข้าถึงประชาชนทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตทุรกันดารและเขตที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ภาพประชาชนหลายล้านคนได้รอฟังประธานโฮจิมินห์อ่านบทกวีอวยพรปีใหม่ประเพณีผ่านทางสถานีวิทยุเวียดนามในช่วงเวลาส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่หรือภาพชาวบ้านในชนบทที่พากันมานั่งล้อมรอบเครื่องวิทยุเพื่อรอฟังรายการที่เตือนให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังในเรื่องต่างๆหรือรายการเล่าเรื่องยามราตรีด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะจับใจของผู้ประกาศข่าวจากสถานีวิทยุเวียดนามล้วนเป็นภาพที่ตราตรึงในความทรงจำของคนหลายคน นายเลืองซวนบั่งจากอำเภอเกี๋ยนเซือง จังหวัดท้ายบิ่งได้กล่าวว่า มีช่วงหนึ่งในวัยเยาว์ของเขาที่ผูกพันกับรายการต่างๆของสถานีวิทยุเวียดนาม“ผมยังจำได้ว่า ตอนนั้น ถ้าใครพกเครื่องวิทยุเล็กๆติดตัวไปด้วย ก็จะดูเท่มากเหมือนตอนที่เวียดนามเริ่มมีโทรศัพท์มือถือใช้ พวกเรามักจะไปที่บ้านของลุงที่อยู่ใกล้ๆบ้านเราเพื่อขอฟังวิทยุ ต่อมาตอนที่มีเครื่องวิทยุแล้ว ก็เปิดฟังทุกที่ทุกเวลาจนสามารถจำชื่อรายการและผู้ประกาศข่าวทุกคนได้”

จนถึงปัจจุบัน ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่มีค่าและเพลงประจำรายการต่างๆของสถานีวิทยุเวียดนาม ซึ่งเป็นที่คุ้นเคยในความทรงจำของผู้ฟังหลายรุ่น รวมทั้งการออกอากาศรายการสดเหตุการณ์สำคัญๆของประเทศต่างได้รับการเก็บรักษาเป็นอย่างดีที่คลังเสียงของสถานีวิทยุเวียดนาม นาย หวูหายกวาง รองประธานสถานีวิทยุเวียดนามได้ยืนยันว่า หน้าที่อันสูงส่งของสถานีวิทยุเวียดนามคือพยายามเพิ่มความหลากหลายให้แก่แหล่งข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่กำลังได้รับการเก็บรักษาในคลังข้อมูลดิจิทัลของสถานีวิทยุเวียดนาม     “สถานีวิทยุเวียดนามคือหน่วยงานสื่อสารมวลชนที่ได้รับการจัดตั้งพร้อมกับการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามและเดินพร้อมกับประเทศเวียดนามในตลอด 75ปีที่ผ่านมา  โดยได้ผ่านทั้งสงครามต่อต้านนักล่าเมืองขึ้นฝรั่งเศสและจักรวรรดินิยมอเมริกาเพื่อกู้ชาติ ระยะแห่งการเปลี่ยนแปลงใหม่ประเทศและการสร้างสรรค์และพิทักษ์รักษาปิตุภูมิในปัจจุบัน ซึ่งในตลอดเส้นทางแห่งประวัติศาสตร์ที่รุ่งโรจน์นั้น เราได้เก็บรักษาข้อมูลอันล้ำค่าต่างๆ เช่น เสียงประธานโฮจิมินห์อ่านปฏิญญาเอกราช บทเพลงที่เป็นอมตะ รวมทั้งเสียงอ่านรายการของผู้ประกาศข่าวที่เป็นตำนาน เช่น ศิลปินยอดเยี่ยมกิมกุ๊กที่อ่านข่าวชัยชนะวันที่ 30เมษายนปี 1975  นาง จิ่งถิเหงาะ ผู้ประกาศข่าวภาคภาษาอังกฤษในรายการรณรงค์ให้ทหารสหรัฐเข้าใจในทาสแท้ของสงครามในเวียดนามในช่วงสงครามต่อต้านสหรัฐเพื่อกู้ชาติ”

ในช่วงสงคราม นอกจากปฏิบัติหน้าที่ธำรงการออกอากาศรายการต่างๆผ่านทางสถานีวิทยุท่ามกลางห่ากระสูนและระเบิดที่ดุเดือดของศัตรูแล้ว บรรดาช่างเทคนิคของสถานีวิทยุเวียดนามยังต้องพยายามแสวงหาเทคนิคเพื่อเก็บรักษาเทปบันทึกเสียงเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เปรียบเสมือนเป็นสมบัติอันล้ำค่าของประชาชาติ นาย เหงวียนวันตือ อดีตรองหัวหน้าแผนกเทคโนโลยีและการเก็บรักษาสังกัดศูนย์การผลิตและเก็บรักษารายการของสถานีวิทยุเวียดนามได้เผยว่า“ผมได้ฟังคนรุ่นก่อนๆเล่าว่า ในช่วงสงครามต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกาเพื่อกู้ชาติ สถานีวิทยุเวียดนามต้องย้ายไปยังเขตที่ปลอดภัยหลายครั้ง ซึ่งบรรดาช่างเทคนิคต้องหาทุกวิธีการเพื่อนำเทปบันทึกเสียงที่สำคัญไปเก็บรักษาอย่างดีที่สุด รวมทั้งได้ทำชุดสำเนาเพื่อเก็บรักษาไว้ที่กรุงฮานอยและนำเทปต้นฉบับไปเก็บในที่ที่ปลอดภัย”

เมื่อปี 2008 ภายใต้การสนับสนุนของสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างประเทศของเยอรมนี สถานีวิทยุเวียดนามได้เสร็จสิ้นการแปลงไฟล์เสียงจากอนาล็อกให้เป็นระบบดิจิทัล ความยาวกว่า 3 หมื่นชั่วโมง แต่ถึงกระนั้น ทางวีโอวีก็ยังคงพยายามเก็บรักษาเทปเสียงอนาล็อกเอาไว้เป็นอย่างดี ถ้าเทปเสียงเสื่อมสภาพ บรรดาช่างเทคนิคต้องใช้สารเคมีเพื่อซ่อมแซม ซึ่งส่งผลเสียเป็นอย่างมากต่อสุขภาพ นาง หวูถิฮวาและเพื่อนร่วมงานในแผนกเทคโนโลยีและเก็บรักษาได้พยายามแปลงเสียงจากเทปบันทึกเก่าให้เป็นไฟล์ดิจิทัลเพื่อเก็บรักษาไว้อย่างถาวร เธอได้เผยว่า“ในตอนแรก พนักงานทุกคนไม่ชอบงานนี้มากนักเพราะต้องทำงานเดิมซ้ำๆทุกวัน แต่การศึกษาวิธีการพัฒนาระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับอนาล็อกทำให้พวกเราได้รับรู้ถึงสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ส่วนสำหรับการเก็บรักษาเทปเสียงนั้นต้องเก็บรักษาที่อุณหภูมิ ประมาณ 25 องศาเซลเซียส”

ในการพัฒนาเป็นหน่วยงานสื่อสารมวลชนมัลติมีเดีย นอกจากการเก็บรักษาเทปเสียงแล้ว สถานีวิทยุเวียดนามกำลังผลักดันการเก็บรักษาไฟล์ภาพ คลิปวิดีโอและเอกสารต่างๆ นาย เหงวียนนังคาง รองผู้อำนวยการศูนย์การผลิตและเก็บรักษารายการของสถานีวิทยุเวียดนามได้เผยว่า“พวกเราต้องปฏิบัติ 2 หน้าที่พร้อมกันคือดูแลรักษาไฟล์เสียงอนาล็อกเพื่อสนับสนุนการผลิตรายการต่างๆและการเก็บรักษาเรื่องราวของประวัติศาสตร์ที่เป็นมรดกของชาติด้วยไฟล์เสียง ในสภาวการณ์ที่แนวโน้มการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลนับวันเพิ่มมากขึ้น พวกเราก้พัฒนาเพื่อสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งและเทคโนโลยีอื่นๆเพื่อเก็บรักษาข้อมูล เอกสาร ไฟล์เสียงและคลิปวิดีโอให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น”

เวลาได้ผ่านพ้นไป คลังข้อมูลแบบมัลติมีเดีย รวมทั้งไฟล์เสียงของสถานีวิทยุเวียดนามนับวันมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเสียงแห่งวิถีชีวิต เสียงจากเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารสำคัญๆของทุกวันนี้จะกลายเป็นข้อมูลอันล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ในอนาคต ด้วยหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ด้วยเสียง สถานีวิทยุเวียดนามกำลังร่วมอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมนามธรรมของประชาชาติเพื่อเผยแพร่ความรู้ให้แก่คนรุ่นต่อๆไป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

พิเชษฐ์ ทองพุ่ม

ภาคภูมิใจไปกับวิทยุเวียดนามมากที่ได้บันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์สำคัญของชาติเอาไว้ นับว่าเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์อันล้ำค่ายิ่งเพื่อให้ชนรุ่นหลังได้ทำการค้นคว้าศึกษาหาความรู้ เพื่อความถูกต้องและเกิดความภาคภูมิใจต่อบรรพบุรุษที่รักษาชาติบ้านเมืองเอาไว้ด้วยความเสียสละและกล้าหาญยิ่ง

สมควรที่ชนรุ่นหลังจะได้ช่วยกันรักษาชาติบ้านเมืองไว้ให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงต่อไป ขอแสดงความชื่นชมทุกท่านที่สถานีวิทยุเวียดนามทุกรุ่นที่ได้ทำหน้าที่อย่างสมเกียรติยิ่ง ขอบคุณมากครับ

ข่าวอื่นในหมวด