การเยือนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐ

(VOVWORLD) - เมื่อวันที่ 9 มิถุนายนตามเวลาสหรัฐ ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ได้เริ่มการเยือนต่างประเทศครั้งแรกนับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จุดหมายปลายทางของการเยือนครั้งนี้คือยุโรปซึ่งมีระเบียบวาระการประชุมที่สำคัญต่างๆ
การเยือนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐ - ảnh 1ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน เริ่มการเยือนอังฤษเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน (AFP)

ในกรอบการเยือน ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน จะเดินทางไปเยือนอังกฤษ เบลเยียมและสวิตเซอร์แลนด์ตามลำดับโดยมีเป้าหมายหลายประเด็น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเสริมสร้างความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกซึ่งอ่อนแอลงภายใต้สมัยของประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์  ทรัมป์และกำหนดความสัมพันธ์กับรัสเซีย

เสริมสร้างความสัมพันธ์ข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

ในการตอบคำถามของสื่อมวลชนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการเยือนครั้งนี้ ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ยืนยันว่า นี่เป็นโอกาสเพื่อแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของความสัมพันธ์พันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก

เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดนได้พบปะโดยตรงกับนายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน เป็นครั้งแรก ซึ่งถือเป็นโอกาสในการรื้อฟื้นความสัมพันธ์ "พิเศษ" ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐหลังจากที่อังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปหรืออียูอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 มกราคมปี 2021 ในการกล่าวปราศรัยก่อนการพบปะ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน ได้เปรียบเทียบการพบปะครั้งนี้กับการประชุมสุดยอดครั้งประวัติศาสตร์เมื่อ 80 ปีก่อนระหว่างนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เชอร์ชิลล์ กับประธานาธิบดีสหรัฐ รูสเวลต์ นาย บอริส จอห์นสันได้ย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์พันธมิตรระหว่างอังกฤษกับสหรัฐในการรับมือความท้าทายร่วมกันและอนาคตของความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลก นอกจากการประชุมสุดยอดครั้งนี้  ภารกิจในกรอบการเยือนอังกฤษเป็นเวลา 3 วันของประธานาธิบดีสหรัฐยังรวมถึงการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่มจี7 ในอังกฤษด้วย

ส่วนในการเยือนเบลเยียมซึ่งเป็นประเทศที่ 2 ในกรอบการเยือน คาดว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะพูดคุยกับผู้นำขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้เกี่ยวกับความท้าทายและการแบ่งปันค่าใช้จ่ายด้านกลาโหมของนาโต้ ต่อจากนั้นจะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดระหว่างสหรัฐกับสหภาพยุโรป ตามร่างแถลงการณ์ร่วมที่เตรียมไว้สำหรับการประชุมครั้งนี้ สหรัฐและสหภาพยุโรปให้คำมั่นที่จะกระชับความร่วมมือในด้านต่างๆทั้งการรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปจนถึงการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ตลอดจนการกำหนดด้านที่ทั้งสองฝ่ายจะส่งเสริมความร่วมมือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกในการจำกัดการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นอกจากนั้น ทั้งสองฝ่ายยังให้คำมั่นที่จะยกเลิกการเก็บภาษีเหล็กก่อนวันที่ 1 ธันวาคมปี 2021 และหลีกเลี่ยงการเพิ่มข้อพิพาททางการค้าข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเหมือนในระยะก่อน

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเห็นได้ว่า ในกรอบการเยือน 2 ประเทศในยุโรปดังกล่าวของประธานาธิบดีสหรัฐ เนื้อหาหลักในระเบียบวาระการประชุมคือการเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับพันธมิตรเก่าแก่ในยุโรปบนเจตนารมณ์ "อเมริกากลับมาแล้ว" ซึ่งตรงกันข้ามกับคำขวัญ "อเมริกาต้องมาก่อน" ในสมัยของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ในขณะเดียวกัน ในการเยือนสวิตเซอร์แลนด์ซึ่งเป็นประเทศสุดท้ายในกรอบการเยือน คาดว่า ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะมีการพบปะกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน เป็นครั้งแรกซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ได้รับการถือว่า จะช่วยกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจนี้ในอนาคต

การเยือนเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของประธานาธิบดีสหรัฐ - ảnh 2ประธานาธิบดี โจ ไบเดน พูดคุยกับทหารสหรัฐที่ประจำการ ณ ฐานทัพอากาศ RAF Mildenhall ประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน (AP)

กำหนดความสัมพันธ์กับรัสเซียอีกครั้ง

ตามกำหนดการ การประชุมสุดยอดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐจะมีขึ้นในวันที่ 16 มิถุนายนซึ่งถือเป็นภารกิจส่วนหนึ่งที่สำคัญในกรอบการเยือนของประธานาธิบดีสหรัฐ อีกทั้งเป็นโอกาสเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายหารือโดยตรงเกี่ยวกับปัญหาที่สร้างความตึงเครียดให้แก่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในเวลาที่ผ่านมา ในกระบวนการเตรียมการสำหรับการประชุม เจ้าหน้าที่ของสหรัฐได้ประกาศหลายครั้งว่า อยากสร้างความสัมพันธ์กับรัสเซียขึ้นใหม่ โดยในการให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ CNN เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา นาย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐได้เรียกร้องให้สร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและ"คาดเดาได้มากขึ้น"กับรัสเซีย ตามความเห็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ มีด้านความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อทั้งรัสเซียและสหรัฐ รวมทั้ง ปัญหาอัฟกานิสถาน การควบคุมอาวุธและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

บรรดาผู้สังเกตการณ์เห็นว่า ในเวลาที่ผ่านมา ทางการของประธานาธิบดี โจ ไบเดน ได้ประกาศหลายครั้งและมีการกระทำที่แข็งกร้าวต่อรัสเซียอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่มอสโคว์ก็ตอบโต้อย่างเข้มแข็ง ดังนั้น การประชุมสุดยอดรัสเซีย-สหรัฐครั้งนี้ยากที่จะสร้างก้าวกระโดดที่สำคัญๆ แต่ถึงกระนั้น หลายคนก็มองว่า นี่เป็นการประชุมที่สำคัญเพราะจะช่วยกำหนดแนวทางความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศมหาอำนาจในอนาคตโดยไม่ว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไรก็ตาม./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด