ซีพีทีพีพี-โอกาสและความท้าทายให้แก่การพัฒนาของเวียดนาม

(VOVWORLD) - เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ประธานประเทศ เหงียนฟู้จ่อง ได้ยื่นเสนอให้สภาแห่งชาติให้สัตยาบันข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกหรือซีพีทีพีพี ซึ่งเป็นขั้นตอนทางนิตินัยสุดท้ายเพื่อให้เวียดนามเข้าร่วมหนึ่งในข้อตกลงการค้าเสรีที่ก้าวหน้าและมีขอบเขตที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งในการประชุมสภาแห่งชาติเวียดนามครั้งที่ 6 ได้มีการสงวนเวลาส่วนใหญ่เพื่ออภิปรายก่อนให้สัตยาบันข้อตกลงฉบับนี้
ซีพีทีพีพี-โอกาสและความท้าทายให้แก่การพัฒนาของเวียดนาม - ảnh 1(vietnamplus) 

ซีพีทีพีพีมีการเข้าร่วมของ 11 ประเทศสมาชิก ประกอบด้วยออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์และเวียดนาม ซีพีทีพีพีได้รับการลงนามเมื่อวันที่ 9 มีนาคมปี 2018 ณ ประเทศชิลี ซึ่งเป็นข้อตกลงการค้าเสรีที่มีมาตรฐานเข้มงวด เพราะข้อตกลงฉบับนี้นอกจากกล่าวถึงรูปแบบข้อกำหนดเดิมต่างๆ เช่นการปรับลดภาษีต่อสินค้า เปิดตลาดบริการ ลิขสิทธิ์ทางปัญญาและการกีดกันทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องถึงการค้า ก็ยังมีข้อกำหนดใหม่ๆ เช่นแรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อภาครัฐ สถานประกอบการภาครัฐและการแก้ปัญหาความยากจน เป็นต้น ดังนั้น ซีพีทีพีพีจึงไม่เพียงแต่ส่งผลต่อเศรษฐกิจเท่านั้น หากยังรวมถึงด้านอื่นๆของเวียดนามอีกด้วย

ยืนยันถึงบทบาทและสถานะของเวียดนามบนเวทีโลก

สำหรับเวียดนาม การตัดสินใจเข้าร่วม เจรจาและลงนามข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือทีพีพี ซึ่งปัจจุบันคือซีพีทีพีพีคือกระบวนการที่ยาวนาน มีการเตรียมพร้อมอย่างเข้มแข็งในเชิงรุก โดยผลการเจรจาที่บรรลุได้ค้ำประกันผลประโยชน์หลักของเวียดนามได้รับสิทธิที่มีความคล่องตัวเพื่อปฏิบัติข้อตกลงอย่างมีประสิทธิภาพและนำผลประโยชน์มาสู่ประเทศ ในการรายงานเพื่อเสนอให้สภาแห่งชาติให้สัตยาบันข้อตกลงซีพีทีพีพี ประธานประเทศ เหงียนฟู้จ่อง ย้ำว่า “การเข้าร่วมและให้สัตยาบันข้อตกลงซีพีทีพีพีโดยเร็วจะช่วยแสดงให้เห็นถึงคำมั่นที่เข้มแข็งของเวียดนามต่อการเปลี่ยนแปลงใหม่และการผสมผสานเข้ากับกระแสโลกในรอบด้านและกว้างลึก ยืนยันถึงบทบาทและสถานะทางภูมิศาสตร์การเมืองที่สำคัญของเวียดนามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยกระดับสถานะของประเทศในกลุ่มอาเซียน ภูมิภาคและโลก การเข้าร่วมซีพีทีพีพีช่วยให้เวียดนามมีเงื่อนไขพัฒนาศักยภาพในการรับมือและเสริมสร้างสถานะเพื่อปฏิบัติแนวทางการต่างประเทศที่อิสระ พึ่งพาตนเอง มีความสัมพันธ์หลายรูปแบบหลายฝ่าย ควบคู่กับการเสริมสร้าง ผลักดันงานด้านกลาโหมและความมั่นคง เมื่อข้อตกลงซีพีทีพีพีได้รับการปฏิบัติจะมีส่วนร่วมผลักดันการผสานผลประโยชน์ ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเวียดนามกับประเทศสมาชิกซีพีทีพีพีมีความลึกซึ้งมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศสมาชิกที่มีความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์”

ตามข้อตกลงฉบับนี้ สินค้าทุกรายการจะได้รับการยกเว้นภาษีตามกระบวนการรวมระยะเวลา 7 ปี ส่วนสำหรับเวียดนามมีกระบวนการยกเว้นภาษีตั้งแต่ 7-10 ปี โดยสินค้าอุตสาหกรรมของเวียดนามส่วนใหญ่จะได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ฝ่ามบิ่งมิงห์ ได้ยืนยันว่า ซีพีทีพีพีจะช่วยปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน การประกอบธุรกิจและเพิ่มผลิตภาพแรงงานของเวียดนาม “ในด้านเศรษฐกิจ ตลาดของประเทศที่เข้าร่วมซีพีทีพีพีมีขอบเขตขนาดใหญ่ รวมทั้งญี่ปุ่นซึ่งเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับ 3 ของโลก โดยจีดีพีของกลุ่มคิดเป็นร้อยละ 13.5 ของจีดีพีโลก ดังนั้นการเข้าร่วมซีพีทีพีพีจะนำผลประโยชน์มาสู่เวียดนาม ซีพีทีพีพีสามารถช่วยให้จีดีพีและการส่งออกของเวียดนามเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.32 และอยู่ที่ 4.04 ในปี 2023 มูลค่าการนำเข้าอาจเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ซึ่งต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น จึงส่งผลในทางบวกต่อดุลการค้า นอกจากนั้น การลงนามข้อตกลงการค้าเสรีหรือเอฟทีเอกับประเทศซีพีทีพีพีจะช่วยให้เวียดนามมีโอกาสปรับปรุงโครงสร้างตลาดนำเข้าส่งออกตามแนวทางที่สมดุลมากขึ้น เพื่อช่วยให้ประเทศมีความเป็นอิสระและมีการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในมากขึ้น”

ฟันฝ่าความท้าทายเพื่อให้เวียดนามพัฒนา

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเวียดนามได้ลงนามเอฟทีเอกับ 7 ประเทศจาก 10 ประเทศสมาชิกข้อตกลงซีพีทีพีพี ดังนั้นแรงกดดันในการแข่งขันจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะต้องมีการเปิดตลาดแข่งขันกับแคนาดา เม็กซิโกและเปรูอีก แต่ในทางเป็นจริง ความสัมพันธ์ด้านการค้าทวิภาคีกับ 3 ประเทศเหล่านี้จะไม่รุนแรง เพราะโครงสร้างการนำเข้าส่งออกของประเทศเหล่านี้มีลักษณะในเชิงสนับสนุนมากกว่าการแข่งขันกับโครงสร้างนำเข้าส่งออกของเวียดนาม และขณะนี้ เวียดนามกำลังได้เปรียบดุลการส่งออกไปยังทั้ง 3 ประเทศนี้

ในด้านการเกษตร เวียดนามกำลังพยายามปรับปรุงโครงสร้างหน่วยงานการเกษตร ผลักดันการประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิตและคุณภาพผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อมีขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างเพียงพอในตลาดภายในประเทศและตลาดโลก รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศ ฝ่ามบิ่งมิงห์ เผยต่อไปว่า “หน่วยงานบริการต่างๆ เช่นโฆษณาและโลจิสติกส์ อาจต้องเผชิญกับความท้าทายเกี่ยวกับการแข่งขัน แต่นี่ก็คือโอกาสเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจและอำนวยความสะดวกให้แก่การดำเนินงานของสถานประกอบการภายในประเทศ เพื่อปฏิบัติคำมั่นในซีพีทีพีพี เวียดนามจะปรับปรุงและแก้ไขข้อกำหนดของกฎหมายเกี่ยวกับการค้า ศุลกากร ลิขสิทธิ์ทางปัญญาและแรงงาน แน่นอนว่าจะมีแรงกดดันจากการปรับปรุงระบบกฎหมายเพื่อปฏิบัติตามมาตรฐานใหม่ของข้อตกลง แต่ก็ไม่น่ากังวล ถึงแม้คำมั่นมีข้อใหม่หลายข้อ แต่ก็สอดคล้องกับแนวทาง นโยบายของพรรค ตลอดจนกฎหมายของรัฐ ดังนั้นแรงกดดันในการปรับปรุงระบบกฎหมายจึงไม่ใช่ปัญหาใหญ่ จากประสบการณ์ในการเข้าร่วม WTO คือต้องมีการเตรียมพร้อมที่จริงจังและมีความพยายามในระดับสูง เวียดนามสามารถประสบความสำเร็จในการปฏิบัติส่วนงานนี้ โดยเฉพาะเมื่อพวกเรามีสิทธิ์ปฏิบัติตามกระบวนการ”

ด้วยผลประโยชน์จากข้อตกลงซีพีทีพีพี สถานประกอบการเวียดนามและประเทศสมาชิกจะมีโอกาสมากมายเพื่อพัฒนาการผลิตและการประกอบธุรกิจในเวียดนาม ซีพีทีพีพีไม่เพียงแต่สร้างโอกาสด้านเศรษฐกิจ การเมืองและการต่างประเทศเท่านั้น หากยังเป็นโอกาสเพื่อให้เวียดนามปฏิรูปกลไก มุ่งสู่การปรับปรุงบรรยากาศการลงทุน ประกอบธุรกิจอย่างสมบูรณ์ ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และยืนยันถึงบทบาทและสถานะของเวียดนามบนเวทีโลก.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด