เวียดนามให้คำมั่นต่าง ๆ เพื่อเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน

(VOVWORLD) - การประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืนและการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เพิ่งจัดขึ้น ณ กรุงฮานอย โดยรัฐบาลเวียดนาม รัฐบาลนอร์เวย์และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ผลงานที่ได้บรรลุในการประชุมจะเป็นพื้นฐานเพื่อให้เวียดนามร่วมมือและปฏิบัติกิจกรรมเพื่อปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ อีกทั้งให้คำมั่นที่สำคัญๆเพื่อเป็นการยืนยันถึงความพยายามของประเทศสมาชิกที่มีส่วนร่วมในการแก้ไขความท้าทายระดับโลก
เวียดนามให้คำมั่นต่าง ๆ เพื่อเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน - ảnh 1การประชุมระหว่างประเทศเกี่ยวกับเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืนและการปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ (VGP)

ภายใต้หัวข้อ "มาตรการแก้ไขเพื่อเศรษฐกิจทางทะเลที่ยั่งยืนและมีความยืดหยุ่น" ที่ประชุมได้หารือถึงโอกาสสำคัญในการส่งเสริมและการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ตลอดจนความท้าทายหลักของวิกฤตโควิด-19 การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและปัญหามลภาวะ โดยเฉพาะ ปัญหาขยะพลาสติกในมหาสมุทร การระบุโอกาสในการส่งเสริมการดำเนินการเพื่อปกป้องระบบนิเวศทางทะเลโดยมีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจทางทะเลและพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับการปรับตัวของชุมชนและประเทศที่เปราะบาง

ประเทศต่างๆ ยังแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การปฏิบัติในทางเป็นจริงและผลการวิจัยเพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนความรู้และความสำเร็จเกี่ยวกับเศรษฐกิจทางทะเลที่ยั่งยืน ยุทธศาสตร์และปฏิบัติการเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สำหรับเวียดนาม การประชุมนี้เป็นเวทีเพื่อระดมความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลของเวียดนามอย่างยั่งยืน

การพัฒนาเศรษฐกิจมหาสมุทรอย่างยั่งยืน: กุญแจสู่ความมั่งคั่ง

ในฐานะเป็นประเทศที่ประสบภัยธรรมชาติมากที่สุดและความเสี่ยงจากภัยพิบัติที่นับวันเพิ่มมากขึ้นบวกกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เวียดนามตระหนักได้ดีถึงความท้าทายที่ต้องเผชิญอยู่เสมอและเป็นผู้เดินหน้าในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มีคำมั่นอย่างเข้มแข็งเพื่อร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจมหาสมุทรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและยั่งยืน

ดังนั้น ในการประชุมครั้งนี้ เวียดนามได้ร่วมมือกับประชาคมระหว่างประเทศให้คำมั่น  5 ข้อ นั่นคือการจัดทำนโยบายและสภาพแวดล้อมทางกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจทางทะเลที่ยั่งยืนและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะกับประเทศและกลุ่มคนเปราะบาง จัดตั้งระบบฐานข้อมูลที่ครอบคลุมโดยสหประชาชาติเป็นผู้บริหารเกี่ยวกับผลกระทบหลายมิติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ปัญหาน้ำทะเลหนุนและขยะพลาสติกเพื่อสนับสนุนการจัดทำนโยบายเกี่ยวกับการรับมือในระดับโลก แก้ไขความท้าทายและความเสี่ยงด้านความมั่นคงที่เกี่ยวข้องถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศผ่านการส่งเสริมและสร้างกลไกความร่วมมือด้านความมั่นคงระดับภูมิภาคและโลกอย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ ผลักดันความสามารถในการฟื้นฟูการพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลที่ยั่งยืนหลังวิกฤตโควิด-19 และความสามารถในการปรับตัวของประชาคม ประเทศและกลุ่มเปราะบาง ส่งเสริมการลงทุน การวิจัย การพัฒนา การถ่ายทอดเทคโนโลยีทางทะเล ยกระดับจิตสำนึกเกี่ยวกับเศรษฐกิจทางทะเลที่ยั่งยืน การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางของฝ่ายต่างๆ ในการตัดสินใจ และนโยบายเกี่ยวกับเศรษฐกิจทางทะเลที่ยั่งยืน ในการกล่าวปราศรัยต่อที่ประชุม รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เลวันแถ่ง ได้ยืนยันอีกครั้งถึงความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศในการรับมือความท้าทายทางทะเลว่า

“การบริหารทรัพยากรและกิจกรรมทางทะเลอย่างยั่งยืน เช่น การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมง การเดินเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล ชายฝั่งและการพัฒนาพลังงานจากมหาสมุทรจะต้องใช้เทคโนโลยีทางทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย โดยเฉพาะความร่วมมือและการสนับสนุนกันของประชาคมระหว่างประเทศ ประเทศพัฒนาต้องมีความรับผิดชอบในการสนับสนุนทางการเงิน ประสบการณ์การบริหารและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประเทศที่กำลังพัฒนาต้องมุ่งมั่นใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางทะเลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและเข้าถึงการบริหารและร่วมกันแก้ปัญหาทางทะเลและมหาสมุทรในระดับโลก

เวียดนามให้คำมั่นต่าง ๆ เพื่อเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน - ảnh 2รองนายกรัฐมนตรีเวียดนาม เลวันแถ่ง (qdnd.vn)

ยึดมั่นปฏิบัติเพื่อมหาสมุทรแห่งสีเขียว

ตามรายงานสถิติ เวียดนามมีประชากรกว่า 70 ล้านคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 72 ของประชากรทั้งหมดที่อยู่อาศัยใน 28 จังหวัดและนครชายฝั่งทะเล เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงและเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำแดง ผลผลิตข้าวร้อยละ  83 ของประเทศมาจากจังหวัดในเขตที่ราบลุ่มและชายฝั่ง นี่เป็นพื้นที่พัฒนาที่คล่องตัวของประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม เมืองและเขตที่ราบลุ่มชายฝั่งทะเลหลายแห่งกำลังถูกทรุดตัวในอัตราที่บางครั้งสูงกว่าระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากทสั้งจากสาเหตุทางธรรมชาติและฝีมือของมนุษย์ และโครงสร้างพื้นฐานในตัวเมืองกำลังได้รับแรงกดดันมหาศาล ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศก็เป็นข้อกังวลใหม่ที่สำคัญเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้เพิ่มความรุนแรงและก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทั่วโลก ในสภาวการณ์ดังกล่าว เวียดนามได้เลือกที่จะพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยมีการเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับประชาคมระหว่างประเทศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม เลมิงเหงิน เผยว่า

“เวียดนามแสดงความรับผิดชอบของสมาชิกที่กระตือรือร้นในประชาคมระหว่างประเทศมาโดยตลอด เวียดนามพร้อมร่วมมือกับประเทศและหุ้นส่วนต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประสบการณ์ แหล่งพลังและความคิดริเริ่มในการบริหารแบบบูรณาการเพื่อเศรษฐกิจทางทะเลแห่งสีเขียว ยั่งยืนและปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ”

เวียดนามตระหนักได้ดีถึงคุณค่าของการพัฒนาเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน มีความสามารถในการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเพื่อค้ำประกันสวัสดิการที่ดีขึ้นสำหรับประชาชนทุกคนและปฏิบัติตามพันธกรณีในการปกป้องทะเลและมหาสมุทรกับประชาคมระหว่างประเทศเพื่อคนรุ่นต่อ ๆ ไป เวียดนามมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกับประเทศอื่น ๆ ในการแก้ไขและรับมือความท้าทายระดับโลกเพื่อทะเลแห่งสีเขียวที่สะอาดและเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ผลงานที่สำคัญในการประชุมจะมีส่วนร่วมผลักดันการเชื่อมโยงและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาคต่างๆอย่างเข้มแข็งเพื่อร่วมกันปกป้องมหาสมุทรและอนาคตของมวลมนุษย์.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด