โอกาสเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก

(VOVWORLD) - ในเวลาที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตกมีความผันผวนที่น่าสนใจ โดยเฉพาะ ความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นซึ่งอาจส่งผลต่อโอกาสปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างสองฝ่ายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
โอกาสเพื่อปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตก - ảnh 1ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน กับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน (AFP)

 

หนึ่งในการเคลื่อนไหวที่น่าจับตามองล่าสุดคือเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ได้ประกาศว่า ต้องการจัดการประชุมผู้นำกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน ในกรอบการเยือนยุโรปในเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งเป็นการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของนาย โจ ไบเดน นับตั้งแต่ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อต้นปีนี้ ที่น่าสนใจคือ นี่เป็นครั้งที่สองติดต่อกันในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมาที่ประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน แสดงความปรารถนาที่จะจัดการประชุมกับประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นาย โจ ไบเดน ได้เสนอให้จัดการพบปะกับนาย ปูติน ณ ประเทศที่สามเพื่อหารือเกี่ยวกับความตึงเครียดที่เกี่ยวข้องกับรัสเซีย ถึงแม้การพบปะยังไม่ได้รับการยืนยัน แต่ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีรัสเซีย ยูรี อูชาคอฟ ได้ยืนยันว่า แผนการดังกล่าวกำลังได้รับการปฏิบัติ

ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ นี่เป็นสัญญาณที่น่ายินดีในสภาวการณ์ที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับประเทศสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้กำลังมีความตึงเครียดจากปัญหาต่างๆ

การทวีความตึงเครียด

ก่อนคำประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐเกี่ยวกับการพบปะกับประธานาธิบดีรัสเซียไม่กี่วัน ทั้งรัสเซียและสหภาพยุโรปหรืออียูซึ่งเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของสหรัฐได้ตอบโต้กันด้วยท่าทีที่แข็งกร้าวอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากรัสเซียประกาศห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรป 8 คน รวมถึงประธานรัฐสภายุโรป เดวิด ซาสโซลี และรองประธานคณะกรรมาธิการยุโรป Vera Jourova เข้าประเทศ สหภาพยุโรปได้เรียกเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำอียูเข้าพบเพื่อประท้วงต่อการกระทำดังกล่าว ในขณะเดียวกัน นาง Ursula von der Leyen ประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและนาย Charles Michel ประธานสภายุโรปได้ประณามการตัดสินใจของรัสเซีย และยืนยันว่า จะมีการตอบโต้ที่เหมาะสม

ส่วนทางการของรัสเซียได้ระบุอย่างชัดเจนว่า คำสั่งห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของสหภาพยุโรปเดินทางเข้ารัสเซียก็เพื่อตอบโต้คำสั่งห้ามเข้าประเทศและอายัดทรัพย์สินที่สภายุโรปหรืออีซีประกาศเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาต่อเจ้าหน้าที่รัสเซีย 4 คนที่เกี่ยวข้องกับการจับกุมผู้นำฝ่ายค้านรัสเซีย Alexei Navalny นอกจากมาตรการของอียู หลายประเทศสมาชิกอียู เช่น สาธารณรัฐเช็กก็ได้ใช้มาตรการที่เข้มงวดต่อรัสเซีย รวมถึงการเนรเทศนักการทูตหลายคนของรัสเซีย ซึ่งทำให้สถานการณ์มีความตึงเครียดมากจนนักวิเคราะห์หลายคนประเมินว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหภาพยุโรปกำลังตกต่ำที่สุดนับตั้งแต่ช่วงสงครามเย็น

ไม่เพียงแต่ต้องรับมือกับแรงกดดันจากสหภาพยุโรปเท่านั้น แต่รัสเซียยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากสหรัฐซึ่งเป็นพันธมิตรอันดับหนึ่งของยุโรปด้วย โดยเมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ทางการสหรัฐได้ประกาศมาตรการต่างๆ รวมถึงการเนรเทศนักการทูตรัสเซีย 10 คน การห้ามเดินทางเข้าสหรัฐและอายัดทรัพย์สินของบุคคลและนิติบุคคลของรัสเซีย ส่วนรัสเซียได้ตอบโต้ด้วยการเนรเทศนักการทูตสหรัฐ 10 คน

ความตึงเครียดต่างๆที่เกิดขึ้นทำให้บรรดานักวิเคราะห์แสดงความเห็นว่า โอกาสที่จะปรับปรุงความสัมพันธ์ทวิภาคีในระยะสั้นนั้นมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยมาก

โอกาสความร่วมมือและสนทนา

ต่อการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตกในช่วงนี้ ประชามติให้ความสนใจเป็นพิเศษถึงท่าทีของสหรัฐ ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ วอชิงตันกำลังส่งข้อความ 2 อย่างถึงมอสโคว์คือต้องการสนทนาในขณะเดียวกันก็พร้อมใช้ปฏิบัติการที่แข็งกร้าว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนแสดงความเห็นว่า ความสัมพันธ์กับรัสเซียในสมัยของประธานาธิบดีสหรัฐ โจ ไบเดน ถูกกำหนดอย่างชัดเจนและมีแนวทางที่แข็งกร้าวมากกว่าในสมัยของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แนวโน้มนี้ทำให้โอกาสปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐอย่างรวดเร็วนั้นยากที่จะปฏิบัติได้

แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งนี้ก็ไม่ได้หมายความว่า การปรับปรุงความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับฝ่ายตะวันตกจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้น  โดยสถานการณ์ที่เป็นจริงในหลายปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่า ฝ่ายตะวันตกต้องการให้รัสเซียมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาระหว่างประเทศที่กำลังเป็นประเด็นร้อน รวมถึงปัญหานิวเคลียร์ของอิหร่าน การรักษาเสถียรภาพในตะวันออกกลาง การแก้ไขความตึงเครียดในยูเครนและปัญหาอื่นๆที่เป็นผลจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต รวมถึงการที่รัสเซียได้แสดงความปรารถนาดีต่อความร่วมมือและการเจรจาที่ชัดเจนต่อวิกฤตความสัมพันธ์ปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่าทำไมในฝ่ายตะวันตกเองจึงมีความคิดเห็นที่สนับสนุนแนวโน้มของความร่วมมือกับรัสเซียอยู่เสมอแทนที่จะเผชิญหน้า    แต่ก่อนอื่น ในสภาวการณ์ที่สถานการณ์ทวีความตึงเครียดในปัจจุบัน การประกาศของประธานาธิบดีสหรัฐที่ต้องการให้มีการเจรจากับประธานาธิบดีรัสเซียนั้นก็เป็นสัญญาณในเชิงบวก เป็นโอกาสเพื่อปรับปรุงสถานการณ์ไม่ว่าเนื้อหาและผลการพบปะจะเป็นอย่างไรก็ตาม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด