บ้านหินยกพื้นของชนเผ่าไตในหมู่บ้านอวยกี จังหวัดกาวบั่ง

(VOVWORLD) -        ชุมชนเผ่าไตที่หมู่บ้านหินอวยกีตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างจุดท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อสองแห่งของจังหวัดกาวบั่งคือ น้ำตกบ๋านยกและถ้ำเหงื่อมงาว ใน ต.ด่ามถวี อ.จู่งแค้งห์ ซึ่งเป็นที่ดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวด้วยสถาปัตยกรรมบ้านยกพื้นที่ทำจากหินและมีประเพณีบูชาเทพหินที่เป็นเอกลักษณ์ในเขตชายแดนทางเหนือของเวียดนาม
บ้านหินยกพื้นของชนเผ่าไตในหมู่บ้านอวยกี จังหวัดกาวบั่ง - ảnh 1

สำหรับชุมชนเผ่าไตใน อ.จู่งแค้งห์ บ้านยกพื้น ถือเป็นสิ่งที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นแหล่งเก็บรักษาเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตทั้งด้านวัตถุและจิตใจของชนเผ่าที่สืบสานกันมารุ่นสู่รุ่น  โดยเฉพาะความเลื่อมใสในการบูชาเทพหิน  ซึ่งผ่านความผันผวนของกาลเวลามานับร้อยนับพันปี ในจิตสำนึกของชนเผ่าไตนั้น เทพหินก็ยังคงมีบทบาทในชีวิตจิตใจของชุมชน โดยหินถือเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตมนุษย์และเมื่อจากโลกนี้ไปมนุษย์ก็จะกลับมาเป็นหิน หินเสมือนเป็นเทพเจ้าที่คอยดูแลปกป้องให้มนุษย์คลาดแคล้วจากภัยร้ายต่างๆ ดังนั้น ในประเพณีที่สืบทอดกันมาแต่เดิมนานของชุมชนชนกลุ่มน้อยต่างๆในกาวบั่งต่างมีการกำหนดวันเซ่นไหว้ขอพรเทพหินและเทพป่า นายด่ามวันหวู รองประธานคณะกรรมการประชาชน อ.จู่งแค้งห์ จังหวัดกาวบั่งเผยว่า "บ้านยกพื้นของชุมชนเผ่าไตใน อ.จู่งแค้งห์ มีความพิเศษแตกต่างกับท้องถิ่นอื่นๆของเวียดนามเพราะเป็นบ้านยกพื้นที่ทำจากหิน ถูกออกแบบเป็นบ้านสองชั้นโดยชั้นล่างเป็นที่เลี้ยงสัตว์ ส่วนชั้นบนใช้สำหรับอยู่อาศัย เนื่องจากชาวบ้านได้อาศัยในสภาพแวดล้อมที่เป็นป่าและเขาหิน ดังนั้น หินจึงกลายเป็นวัสดุที่คุ้นเคยและผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น ครกหินตำข้าว รั้วบ้าน เก้าอี้ เครื่องบด เป็นต้น"

เมื่อเดินทางเข้าหมู่บ้าน อวยกี เราจะเห็นถึงความแตกต่างของชุมชนแห่งนี้เมื่อเทียบกับชุมชนอื่นๆอย่างเด่นชัด เพราะแทนที่จะปลูกต้นไม้หรือตัดท่อนไม้ทำเป็นรั้วบ้านแต่ชาวบ้านที่นี่จะใช้หินเป็นวัสดุหลักในการสร้างรั้วรอบบ้านที่มั่นคงที่เปรียบเสมือนเป็นกำแพงป้องกันบ้าน สำหรับเทคนิกการสร้างบ้านยกพื้นหินนั้นก็เป็นเรื่องที่ชาวบ้านภูมิใจเพราะถือเป็นภูมิปัญญาอันล้ำเลิศที่สั่งสมประสบการณ์มาเป็นร้อยๆปี  โดยตั้งแต่เริ่มวางแผนสร้างบ้านจะต้องมีการเตรียมแหล่งวัสดุและกว่าจะสร้างบ้านเสร็จก็ใช้เวลา2-3ปี ที่สำคัญในการสร้างบ้านแบบนี้คือต้องเลือกหินที่ดี มีเนื้อแข็งและสวย ตามความเชื่อของชาวบ้านต้องใช้ก้อนหินที่อยู่ลึกในใต้ดินเพราะได้ซึมซับพลังของฟ้าและดินมากที่สุด คุณเจี๋ยวถิเมอ ชาวบ้านอวยกีเผยว่า"บ้านหินของเรามีมานานแล้วตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ ซึ่งบ้านนี้อยู่สบายมากแต่กว่าจะสร้างได้1หลังก็ลำบากไม่น้อย เมื่อเราเกิดมาก็เห็นบ้านแบบนี้แล้ว"

บ้านหินยกพื้นของชนเผ่าไตในหมู่บ้านอวยกี จังหวัดกาวบั่ง - ảnh 2ปัจจุบันในหมู่บ้านมีบ้านหิน14หลังและเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์เอกลักษณ์สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นนี้  

การเลือกที่ตั้งบ้านก็เป็นเรื่องที่เจ้าของบ้านต้องคิดอย่างรอบคอบ รวมทั้งขนาดของบ้านจะต้องคำนวณให้เหมาะกับจำนวนสมาชิกของครอบครัว ที่ตั้งบ้านมักจะเป็นที่เนินสูงติดเชิงเขาหันหน้าไปที่โล่งและกว้าง มีธรรมชาติที่สวยงาม สะดวกแก่การใช้ชีวิต บ้านมักจะมีความสูง7-8เมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องลายหยินหยางที่ชาวบ้านทำเองซึ่งช่วยให้บ้านดูเก่าแก่มากขึ้น 

ทางการจังหวัดได้ปฏิบัติแผนการวางผังให้แก่หมู่บ้านโดยใช้เวลาเกือบ3ปีเพื่อจัดวางหินให้เป็นระเบียบ หมู่บ้านหินอวยกีได้รับการรับรองจากกระทรวงวัฒนธรรมกีฬาและท่องเที่ยวให้เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมพื้นเมืองดีเด่นของชนกลุ่มน้อยและได้มีการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมของชนเผ่าตน นาย นงอิ๊กดาต ชาวบ้านอวยกีเผยว่า "ตั้งแต่ปี2010-2016 ได้มีการพัฒนาชุมชนการท่องเที่ยวในหมู่บ้านของเรา ได้มีการลงทุนเตรียมซื้อสิ่งของต่างๆเช่น ผ้าห่ม มุ้ง หมอน ติดตั้งระบบไฟฟ้าและน้ำประปาเพื่อบริการนักท่องเที่ยวที่มาเยือนและพักที่หมู่บ้าน"

จนถึงปัจจุบันนี้ บ้านยกพื้นหินโบราณต่างๆยังคงความเก่าแก่ที่โดดเด่นท่ามกลางธรรมชาติอันกว้างใหญ่ของเขตเขาในเเนวชายแดนทางเหนือของประเทศ เป็นที่พึ่งและปกป้องชาวบ้าน นายเหงวียนแถ่งวิงห์ นักท่องเที่ยวที่มาเยือนหมู่บ้านอวยกีกล่าวว่า"ผมเห็นว่าหมู่บ้านชาวเขาที่นี่มีความเรียบง่ายและสงบสุขมาก ชาวบ้านเป็นมิตรและมีอัธยาศัยดี ชาวบ้านยังเชิญผมเข้าเยี่ยมบ้านและทานข้าวกับครอบครัวด้วย"

ตามข้อมูลจากคณะกรรมการดูแลสวนธรณีวิทยานอนเนือกกาวบั่ง ประเพณีการใช้หินสร้างบ้านของชนเผ่าไตในเขตนี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมากเมื่อมีการก่อสร้างกำแพงเพื่อเป็นแนวป้องกันปกป้องบ้านเมือง โดยบ้านยกพื้นหินเหล่านี้เปรียบเสมือนเป็นป้อมปราการที่มีอยู่ที่นี่เพียงแห่งเดียวในเวียดนาม.         

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด