ความปวดร้าวจากระเบิดที่หลงเหลือหลังสงคราม

(VOVWORLD) - ถึงแม้สงครามได้ผ่านพ้นไปนานหลายทศวรรษแล้ว แต่ในพื้นที่บางจังหวัดทางภาคเหนือของลาวอย่าง แขวงเชียงขวาง คำม่วน บอลิคำไซ สะหวันนะเขต และอัตตะปือ ความเจ็บปวดจากกับระเบิดและทุ่นระเบิดยังคงมีอยู่จนถึงทุกวันนี้ โดยมีครอบครัวและร้านค้าหลายแห่งในแขวงเชียงขวางใช้ปลอกกระสุนและปลอกระเบิดหลากหลายขนาดเพื่อทำเป็นรั้ว ซึ่งถือเป็นสิ่งเตือนใจถึงความปวดร้าวแห่งสงคราม โดยเฉพาะจากกับระเบิดและระเบิดที่หลงเหลือหลังสงครามทั้งที่เกิดขึ้นในอดีตและกับผู้คนอีกหลายๆ คนในปัจจุบัน
ในช่วงสงครามอินโดจีนระหว่างปี 1964 – 1973 กองทัพสหรัฐได้ทิ้งระเบิดและวางกับระเบิดรวมกว่า 2 ล้านตันในดินแดนสปป. ลาว ซึ่งปัจจุบันยังคงมีระเบิดตกค้างและไม่ทำงานจำนวนกว่า 80 ล้านลูก หรือคิดเป็นร้อยละ 30 ของจำนวนระเบิดทั้งหมดที่สหรัฐทิ้งในประเทศลาว ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้น แม้สงครามได้ผ่านพ้นไปนานหลายทศวรรษแล้ว แต่ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ยังคงมีผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกับระเบิดและระเบิดที่หลงเหลือจากสงครามกว่า 1,000 รายทั่วประเทศลาว ซึ่งในนั้นมีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 284 ราย โดยล่าสุด มีกลุ่มเด็กๆ 5 คนที่สิ้นลมหายใจจากวัตถุระเบิดที่หลงเหลือจากสงครามเมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2023 
ความปวดร้าวจากระเบิดที่หลงเหลือหลังสงคราม - ảnh 1ครอบครัวนาย Veuyang ชาวบ้านในแขวงเชียงขวาง (ภาพจากสถานีวิทยุแห่งชาติลาว)

นาย Veuyang ชาวบ้านในแขวงเชียงขวางที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์มลพิษจากกับระเบิดและระเบิดที่หลงเหลือหลังสงคราม ซึ่งก่อนหน้านี้ เขาเป็นเสาหลักของครอบครัวที่ประกอบอาชีพปลูกป่าด้วยความหวังที่อยากช่วยให้ครอบครัวของตนหลุดพ้นจากความยกจน แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้นเมื่อเขาเหยียบโดนกับระเบิดขณะที่กำลังทำงานในป่า ทำให้เขาตาบอดและสูญเสียสมรรถภาพการทำงาน ซึ่งแม้ได้รับบาดแผลมานานแล้วหลายปี แต่ความเจ็บปวดยังคงทรมานร่างกายเขาเป็นครั้งเป็นคราวและมากไปกว่านั้นก็คือความกังวลที่เขาเองไม่สามารถดูแลครอบครัวได้ดียิ่งทำให้เขารู้สึกทรมานใจ

“ผมรู้สึกได้เมื่อเห็นระเบิดพุ่งเข้าใส่ตัว แล้วรีบหยิบเสื้อมาพันรอบแผลทันที เลือดที่ไหลออกมาเยอะมาก ทำให้ผมเป็นลมโดยไม่รู้ตัว เลยก็ไม่รู้ว่า  ใครคือคนที่ช่วยพาผมไปยังโรงพยาบาล หลังจากได้รับการรักษาจนหายดี ก็เป็นช่วงเวลาที่เจ็บปวดที่สุดเพราะรู้ว่าตัวเองตาบอด ผมรู้สึกว่า ชีวิตมืดมนไปหมด รู้สึกเจ็บปวดเพราะยังมีชีวิตอยู่อีกยาวแต่กลับมาตาบอด ซึ่งเป็นข้อจำกัดในการทำมาหากินเลี้ยงชีพ”

ส่วนนาย Inthavongsa ชาวบ้านเชียงขวาง ได้เผยว่า มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นเหมือนกรณีของนาย Veuyang ในพื้นที่ที่เขาอาศัย โดยมีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุระเบิดในระหว่างการทำเกษตรในป่าจำนวนหลายสิบคน ซึ่งยังไม่มีมาตรการใดที่เหมาะสมในการเก็บกู้กับระเบิดและวัตถุระเบิดที่หลงเหลืออยู่ ดังนั้น ถึงแม้ยังมีชีวิตที่ยากลำบากในขณะที่พื้นที่ป่ายังมีอยู่อีกมาก แต่ชาวบ้านที่นี่หลายคนยังคงรู้สึกเกรงกลัวในการเข้าป่าเพื่อทำมาหากิน นอกจากนี้ ปัญหาดังกล่าวก็เกิดขึ้นกับสัตว์เลี้ยงอย่างควายและวัวเมื่อไถดินหรือเดินแทะเล็มหญ้า ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจของชาวบ้านในพื้นที่ นาย Inthavongsa เล่าให้ฟังว่า

“ตอนผมยังเป็นเด็ก ทุกครั้งที่มีเครื่องบินบินผ่าน คุณพ่อและคุณแม่ก็พาผมวิ่งเข้าป่าแล้วซ่อนตัวอยู่หลังลำธารเพื่อหลบระเบิด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ดุเดือดที่สุดคือช่วงปี 1969-1971 ระเบิดได้ทำลายบ้านของพวกเรา ไปไหนมาไหนก็เจอแต่กับระเบิดและระเบิดที่ยังคงตกค้างอยู่ ปัจจุบัน ในพื้นที่โดยรอบยังมีอยู่อีกมาก ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าเดินเข้าป่าเพราะกลัวเหยียบโดนกับระเบิด”

ความปวดร้าวจากระเบิดที่หลงเหลือหลังสงคราม - ảnh 2นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว

แม้สงครามได้ผ่านพ้นไป แต่การที่ยังมีระเบิดและวัตถุระเบิดนับหลายแสนตันที่หลงเหลือทั่วดินแดนสปป. ลาว ได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อประชาชน  ทำลายสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติสร้างอุปสรรคในการใช้ที่ดินเพื่อการเกษตร รวมถึงแผนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม นายสะเหลิมไซ กมมะสิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลาว เผยว่า นับตั้งแต่การได้เข้าร่วมอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวงหรือ CCM ทางการลาวได้มีการจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการป้องกันและแก้ปัญหากับระเบิดและระเบิดที่หลงเหลือหลังสงครามในหลายท้องที่ทั่วประเทศ และพร้อมให้การสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบราว 3,000 ราย

“การปฏิบัติงานของลาวในฐานะที่เป็นประเทศสมาชิกในช่วงเวลาที่ผ่านมาได้มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด แต่เนื่องด้วยการเก็บกู้ ประชาสัมพันธ์ และให้การสนับสนุนผู้ที่ได้รับผลกระทบหลายคน ต้องการความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการสนับสนุนทางการเงิน ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสนใจและสำคัญเป็นอันดับต้นๆ แต่ในภาคปฏิบัติยังมีความล่าช้า โดยยังมีหลายประเด็นที่ลาวยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องด้วยอุปสรรค์และความท้าทายหลายอย่าง โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดสรรเงินทุนและงบประมาณในกระบวนการเก็บกู้วัถุระเบิดที่ยังคงตกค้าง ซึ่งการเก็บกู้วัตถุระเบิดในพื้นที่เพียง 1 ตารางเมตร ก็ต้องใช้ทั้งเวลาและเงินทุนอย่างมาก พร้อมมีความเสี่ยงสูงอีกด้วย”

ทั้งนี้ รัฐบาลลาวได้แสดงความประสงค์ว่า องค์กรระหว่างประเทศและกลุ่มผู้สนับสนุนจะยังคงให้ความช่วยเหลือประเทศลาวอย่างต่อเนื่อง เพื่อสามารถเร่งกระบวนการฟื้นฟูพื้นที่จากผลกระทบอันรุนแรงของกับระเบิดและระเบิดที่หลงเหลือจากสงคราม โดยรัฐบาลลาวถือปัญหานี้เป็นภัยคุกคามต่อชีวิตประจำวันของประชาชน สร้างอุปสรรค์มากมายทั้งในด้านการผลิตและการดำรงชีวิต พร้อมทั้งขัดขวางการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ดังนั้น การฟื้นฟูพื้นที่จากผลกระทบของกับระเบิดและทุ่นระเบิดยังคงเป็นประเด็นที่ทางการลาวให้ความสนใจเป็นพิเศษ  โดยมีการดำเนินกิจกรรมรณรงค์และระดมเงินทุนจากองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ รวมถึงกลุ่มประเทศหุ้นส่วนและเพื่อนบ้านให้แก่ลาวได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด