โลกแสวงหามาตรการเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดในฉนวนกาซา

(VOVWORLD) - จากสถานการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ประชาคมระหว่างประเทศกำลังพยายามแสวงหามาตรการเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดเนื่องจากมีความวิตกกังวลว่า การปะทะจะลุกลามจนควบคุมไม่ได้ในภูมิภาคตะวันออกกลาง และประชาชนผู้บริสุทธิ์หลายล้านคนอาจตกเข้าสู่วิกฤตมนุษยธรรม
โลกแสวงหามาตรการเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดในฉนวนกาซา - ảnh 1การโจมตีทางอากาศของอิสราเอลในฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม (THX)

 

สถานการณ์ความรุนแรงในฉนวนกาซาเกิดขึ้นหลังจากที่กลุ่มฮามาสโจมตีอิสราเอลแบบสายฟ้าแลบเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ซึ่งส่งผลให้กองทัพอิสราเอลทำการโจมตีตอบโต้ครั้งใหญ่ที่สุดในหลายทศวรรษ จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม จำนวนผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝ่ายอยู่ที่กว่า 1,500 รายและได้รับบาดเจ็บหลายหมื่นราย และยังคงมีความเสี่ยงสูงมากที่การปะทะจะรุนแรงมากขึ้น

ปฏิกิริยาที่แตกต่างกันเกี่ยวกับการปะทะระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม กองทัพอิสราเอลได้ประกาศระดมกองกำลังสำรองถึง 300,000 นายเพื่อตอบโต้การโจมตีของกลุ่มฮามาสและปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ นาย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลยืนยันว่า การตอบโต้ของกองทัพอิสราเอลจะทำให้ระเบียบในตะวันออกกลางเปลี่ยนไปตลอดกาล

ประชาคมระหว่างประเทศมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันต่อการตอบโต้ของอิสราเอล โดยประเทศตะวันตกหลายประเทศได้แสดงการสนับสนุนอิสราเอล เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม สหรัฐ อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนีและอิตาลีได้ออกแถลงการณ์ร่วมยืนยันการสนับสนุนอิสราเอล ประณามกลุ่มฮามาส และเตือน มือที่ 3 ว่าอย่าฉกฉวยโอกาสจากสถานการณ์ไร้เสถียรภาพเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงในตะวันออกกลาง  ในขณะที่ประเทศตะวันตกอื่นๆ หลายประเทศ ได้แสดงการสนับสนุนอิสราเอล

แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะประณามการกระทำที่รุนแรงของกลุ่มฮามาส แต่ผู้นำของหลายประเทศและองค์กรระหว่างประเทศก็แสดงความเห็นว่า ประชาคมระหว่างประเทศไม่สามารถมีมุมมองด้านเดียวเกี่ยวกับการปะทะในฉนวนกาซาในปัจจุบันได้ โดยนาย Ahmed Aboul Gheit เลขาธิการสันนิบาตอาหรับได้วิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติของประเทศตะวันตกบางประเทศและเผยว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดในขณะนี้คือการคลี่คลายความตึงเครียดและบรรลุข้อตกลงหยุดยิงทันที ไม่ใช่การแข่งขันเพื่อแสดงการสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

“เราเห็นทัศนะของประเทศตะวันตกที่เน้นความสนใจแต่เรื่องการปะทะ แต่ไม่พูดถึงสาเหตุที่นำมาสู่สถานการณ์ปัจจุบันในปาเลสไตน์ สิ่งที่จำเป็นคือต้องกลับไปสู่กระบวนการสันติภาพอย่างแท้จริง เพื่อสามารถจัดตั้งสองรัฐอยู่ร่วมกันอย่างสันติ มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ”

ส่วนเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม นาย อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้นโดยแสดงความเห็นว่า ถึงแม้ว่าความวิตกกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงของอิสราเอลเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ความรุนแรงในปัจจุบันไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยบังเอิญ หากเป็นผลมาจากการเผชิญหน้าที่ยืดเยื้อมาเวลาหลายทศวรรษ

โลกแสวงหามาตรการเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดในฉนวนกาซา - ảnh 2นาย เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกี (AFP)

พยายามจัดการสนทนา

เนื่องจากมีความวิตกกังวลว่า การปะทะจะทวีความรุนแรงมากขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้าเมื่ออิสราเอลเพิ่มการโจมตีใส่ฉนวนกาซา ส่วนทางกลุ่มฮามาสก็ขู่ว่า จะสังหารตัวประกันชาวอิสราเอล ทำให้ประชาคมระหว่างประเทศกำลังเร่งจัดการสนทนาระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นาย อับเดล ฟัตตาห์ เอล-ซีซี ประธานาธิบดีอียิปต์ได้พูดคุยผ่านทางโทรศัพท์กับมกุฎราชกุมารโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน นายกรัฐมนตรีซาอุดิอาระเบีย และเชค โมฮัมเหม็ด บิน ซาเยด อัล นาห์ยานประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือ UAE เพื่อหารือเกี่ยวกับมาตรการเพื่อคลี่คลายความตึงเครียดในฉนวนกาซา อียิปต์ ซาอุดิอาระเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในโลกอาหรับและมีช่องทางในการสนทนากับรัฐบาลอิสราเอล โดย UAE ได้ปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติกับอิสราเอลเมื่อปีที่แล้ว และซาอุดิอาระเบียกำลังหารือเกี่ยวกับการปรับความสัมพันธ์ให้เป็นปกติกับอิสราเอลโดยสหรัฐเป็นคนกลาง ส่วนอิหร่านซึ่งเป็นประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคได้เรียกร้องให้องค์การความร่วมมืออิสลามหรือ OIC จัดการประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในฉนวนกาซา

ในขณะเดียวกัน ผู้นำของบางประเทศ เช่น จีนและเวเนซุเอลาได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิง นาย เรเซป ตอยยิบ เออร์โดกัน ประธานาธิบดีตุรกีเผยว่า ตุรกีพร้อมที่จะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยกับทุกฝ่าย ซึ่งอาจเริ่มต้นด้วยการแลกเปลี่ยนนักโทษ นาย อันโตนีโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติเผยว่า ทุกฝ่ายต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่อาจทำให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางไปสู่ทางตัน

“ในช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุด สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีวิสัยทัศน์ในระยะยาว หลีกเลี่ยงการกระทำที่ทำให้ไม่สามารถกลับเข้าสู่ความมีเสถียรภาพได้ ซึ่งจะทำให้กลุ่มหัวรุนแรงลงมืออีก และทำลายโอกาสที่จะมีสันติภาพที่ยั่งยืน”

ในขณะเดียวกัน ความกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาก็เพิ่มมากขึ้น ตามข้อมูลจากสำนักงานบรรเทาทุกข์และจัดหางานของสหประชาชาติสำหรับผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ในตะวันออกใกล้หรือ UNRWA จนถึงวันที่ 10 ตุลาคม ชาวปาเลสไตน์กว่า 187,000 คนในฉนวนกาซาต้องละทิ้งบ้านเรือนเนื่องจากการปะทะที่ขยายวงกว้าง สถานการณ์ในปัจจุบันยังทำให้บางประเทศ เช่น เม็กซิโก ชิลีและอินโดนีเซียต้องวางแผนอพยพพลเมืองออกจากฉนวนกาซาและท้องถิ่นบางแห่งของอิสราเอล

บรรดาผู้สังเกตการณ์แสดงความเห็นว่า ถ้าหากไม่มีการสนทนาอย่างเร่งด่วนระหว่างทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง  สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาจะแย่ลงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เนื่องจากการต่อสู้ทวีความรุนแรงมากขึ้น และฉนวนกาซาจะยังคงถูกปิดล้อมอย่างสมบูรณ์./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด