Schubert in a Mug สร้างสรรค์ระบบนิเวศดนตรีคลาสสิกในเวียดนาม

(VOVWORLD) - ในตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา ดนตรีคลาสสิกมักอยู่คู่กับภาพโรงละครขนาดใหญ่พร้อมโคมไฟระย้าและเก้าอี้กำมะหยี่สีแดงที่หรูหรา อย่างเช่น โรงละครแห่งรัฐเวียนนา รอยัล อัลเบิร์ต ฮอลล์ ในกรุงลอนดอน หรือโรงละครโอเปร่าฮานอย แต่เมื่อไม่นานมานี้ มีสถานที่แห่งหนึ่งในเวียดนามสำหรับกลุ่มผู้รักดนตรีที่สามารถนั่งจิบชาพร้อมดื่มด่ำดนตรีคลาสสิกที่เล่นกันสด ๆ
บทเพลง “Two Pieces for Violin and Piano” ประพันธ์โดยนักแต่งเพลงชาวฝรั่งเศส Lili Boulanger ได้เปิดงานดนตรีรอบล่าสุดของ Schubert in a Mug ซึ่งเป็นโครงการนำดนตรีคลาสสิกให้เข้าใกล้ผู้ฟังจำนวนมากในรูปแบบสุดพิเศษ นักเชลโล ฟานโด๋ฟุ้ก ผู้ก่อตั้งโครงการเผยว่า

“วัตถุประสงค์ของผมง่ายๆ ก็คือว่า ได้มีโอกาสเล่นดนตรีให้ใครสักคนฟัง ผมอยากเล่นดนตรีให้แก่กลุ่มประมาณ 5 คนแต่ทุกคนตั้งใจฟังกันหมด จะดีกว่าเล่นดนตรีต่อหน้าหลายร้อยคนในโรงละคร ในระหว่างการค้นหาเส้นทางดังกล่าว จู่ๆ ผมก็นึกถึงวัฒนธรรมกาแฟที่มีชีวิตชีวาในกรุงฮานอยขึ้นมา ซึ่งที่นี่ยังมีร้านกาแฟสวยๆ หลายร้าน ผมจึงคุยกับเพื่อนๆ ที่มีความสนใจอยากจะเล่นดนตรีในพื้นที่ที่ไม่ต้องใหญ่มากและเต็มไปด้วยความอบอุ่นและเป็นกันเอง ซึ่งนี่เป็นจุดกำเนิดของ Schubert in a Mug เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2020”

Schubert in a Mug สร้างสรรค์ระบบนิเวศดนตรีคลาสสิกในเวียดนาม  - ảnh 1Schubert in a Mug สร้างสรรค์ระบบนิเวศดนตรีคลาสสิกในเวียดนาม (ภาพจาก SchubertinaMug แฟนเพจ)

การตั้งชื่อโครงการของ ฟานโด๋ฟุก ได้รับแรงบันดาลใจจากนักแต่งเพลงชาวออสเตรียชื่อดัง Franz Peter Schubert โดยเขาเองยังคงมีความรู้สึกใกล้ชิดกับดนตรีของ Schubert รวมถึงความกลมกลืนระหว่างเป้าหมายหลักของโครงการกับสไตล์การแสดงของ Schubert  

“Schubert เป็นศิลปินที่ไม่ค่อยแสดงในคอนเสิร์ตฮอลล์ขนาดใหญ่ โดยเขาเองมักจะเชิญเพื่อนๆ มาที่บ้านแล้วเล่นดนตรีด้วยกัน หลังจากนั้นก็จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องดนตรี โดยเฉพาะเมื่อเขาได้ออกเพลงใหม่ๆ”

ง่ายๆ คือ Schubert เป็นตัวแทนของดนตรีคลาสสิก ส่วน Mug แปลว่าแก้วกาแฟ “Schubert in a Mug” หมายความว่า ดนตรีคลาสสิกในร้านกาแฟ ซึ่งโครงการประกอบด้วยชุดการแสดงคอนเสิร์ตพร้อมกับการพูดคุย ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อสร้างพื้นที่ที่อบอุ่นและใกล้ชิดระหว่างศิลปินกับผู้ฟังในการร่วมแบ่งปันความรักและความอยากรู้อยากเห็น รวมถึงเรื่องราวเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิกอย่างเป็นธรรมชาติและเรียบง่ายที่สุด กลุ่มศิลปินของ SiaM เป็นการรวมตัวของบรรดาศิลปินมากความสามารถด้านดนตรีคลาสสิก ได้แก่ นักเชลโล ฟานโด๋ฟุก นักเปียโน หว่างโห่ทู นักโอโบ หว่างแหม่งเลิม นักเปียโนจากไต้หวัน Liao Hsin-Chiao นักไวโอลิน หว่างโห่แค๊งเวิน นักคลาริเน็ต เจิ่นแค๊งกวาง

ศิลปินแต่งตัวเรียบง่าย เล่นเพลงคลาสสิกหลายเพลงจากกลุ่มนักประพันธ์เพลงทั่วโลก ในขณะที่กลุ่มผู้ฟังก็มีหลากหลายวัยและอาชีพ นางเจืองหนือหว่างยาง สมาชิกที่มาฟังดนตรีเป็นประจำทุกเดือนที่ SiaM เผยว่า “ฉันได้ฟังดนตรีคลาสสิกสมัยก่อน ซึ่งมักจะเป็นบทเพลงที่คุ้นเคยในเวียดนาม เช่น In the Persian Market หรือ Moonlight Sonata ตั้งแต่ได้รู้จัก SiaM สิ่งหนึ่งที่ฉันชอบคือจะมีการนำเสนอเกี่ยวกับผลงานดนตรีพร้อมการอธิบายที่ละเอียดเกี่ยวกับดนตรีคลาสสิก SiaM เปรียบเหมือนครูสอนดนตรีที่ค่อยๆ แนะนำผลงานใหม่ๆ ซึ่งทำให้ฉันอยากฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก เช่น เพลง Four Sketches ของ Gordon Jacob ที่ใช้เครื่องดนตรีสองชนิดคือเปียโนและบาสซูน”

Schubert in a Mug สร้างสรรค์ระบบนิเวศดนตรีคลาสสิกในเวียดนาม  - ảnh 2สมาชิกของ Schubert in a Mug (ภาพจาก Đỗ Thế Quang)

ตั้งแต่ที่ SiaM ได้ก่อตั้งขึ้นมา มีการจัดคอนเสิร์ตดนตรีสดหลากหลายขนาดและรูปแบบกว่า 30 งาน ทั้งในร้านกาแฟ ศูนย์ศิลปะร่วมสมัย Vincom หรือ VCCA สถาบันเกอเธ่ ศูนย์แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมย่านกรุงเก่าฮานอย รวมถึงโครงการเล่นดนตรีออนไลน์ฟรีในช่วงแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยหลังงานคอนเสิร์ตแต่ละรอบ จะมีการแจกแบบสอบถามความคิดเห็น รวมถึงคำถามต่างๆ ให้แก่ผู้ฟังที่อยากส่งถึงบรรดาศิลปิน  นาย Koos Neefjes จากประเทศเนเธอร์แลนด์ เผยว่า “ผมชอบวิธีนำเสนอผลงานของบรรดาศิลปิน ได้รู้สึกถึงความรักและความจริงใจของพวกเขาที่มีต่อดนตรีอย่างชัดเจน เช่นในวันนี้ ผมได้รับเนื้อเพลงของเพลงเพลงหนึ่ง แม้ไม่มีการขับร้องใดๆ แต่ผู้ฟังอย่างพวกเราสามารถเข้าใจความหมายของสิ่งที่กำลังจะได้รับฟัง มันแตกต่างกับการฟังเพลงคลาสสิกที่บ้าน ผ่านทางโทรศัพท์ หรือที่โรงละคร อย่างสิ้นเชิง”

ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการ SiaM ได้ย่างเข้าสู่ปีที่ 4 โดยกลุ่มศิลปินของ SiaM กำลังวางแผนเชิญศิลปินมืออาชีพจากต่างประเทศ เดินทางมาแสดงในเวียดนาม ซึ่งถ้าหากสามารถระดมเงินทุนได้เพียงพอ ก็จะมีการจัดงานฟรีคอนเสิร์ตในกรุงฮานอย โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ห่างไกลความเจริญ ด้วยความเชื่อมั่นว่า ศิลปะควรมีส่วนร่วมในการพัฒนาสังคม และมีการเผยแพร่ผลงานมากขึ้น./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด