การเผชิญหน้าที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงในเขตอ่าว

(VOVWORLD) -เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน อิหร่านได้ยิงเครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐตกใกล้ช่องแคบฮอร์มุซ ซึ่งส่งผลให้สหรัฐและอิหร่านเข้าใกล้ภาวะสงครามมากขึ้น แม้ยังไม่มีการโจมตีอิหร่านด้วยอาวุธแต่ได้มีการโจมตีเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเพื่อทำลายระบบควบคุมขีปนาวุธของอิหร่านและการเพิ่มคำสั่งคว่ำบาตร ขณะนี้ ความตึงเครียดระหว่างสองฝ่ายยังไม่มีท่าทีคลี่คลายลงและมาตรการทางการทูตก็ยังไม่เกิดประสิทธิผล
การเผชิญหน้าที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงในเขตอ่าว - ảnh 1(Photo VNplus)

นับตั้งแต่เดือนเมษายน ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเลวร้ายลง หลังจากที่วอชิงตันได้ฟื้นฟูคำสั่งคว่ำบาตรและสกัดกั้นการส่งออกน้ำมันของอิหร่าน  ส่วนเตหะรานขู่ว่า ถ้าหากอิหร่านไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ ก็จะห้ามการขนส่งน้ำมันผ่านช่องแคบฮอร์มุซและเหตุโจมตีเรือบรรทุกน้ำมันในอ่าวโอมานส่งผลให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่านเลวร้ายมากขึ้น โดยวอชิงตันกล่าวหาว่า อิหร่านเป็นผู้ก่อเหตุ ส่วนอิหร่านได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของสหรัฐและสถานการณ์ความตึงเครียดก็ยิ่งย่ำแย่มากขึ้นหลังจากที่กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลามยิงเครื่องบินสอดแนมไร้คนขับของสหรัฐตกบริเวณช่องแคบฮอร์มุซเมื่อวันที่ 20 ที่ผ่านมา ซึ่งประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ก็ได้เตรียมพร้อมเปิดการโจมตีเพื่อตอบโต้อิหร่านแต่ก็ได้เปลี่ยนใจในนาทีสุดท้ายโดยประกาศมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่ออิหร่านนับตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายนแทน

จะเกิดการเผชิญหน้าทางทหารขนาดใหญ่หรือไม่

แม้ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ยืนยันว่า ไม่ต้องการทำสงครามกับอิหร่าน ส่วนอิหร่านก็แสดงจุดยืนที่ไม่อยากเห็นสงครามเกิดขึ้น แต่คำประกาศที่แข็งกร้าวของทั้งสองประเทศ รวมทั้งคำสั่งคว่ำบาตรใหม่ได้แสดงให้เห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่อาจเกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐได้ประกาศภาวะฉุกเฉินโดยห้ามสายการบินของสหรัฐบินผ่านน่านฟ้าของอิหร่านบริเวณช่องแคบฮอร์มุซและอ่าวโอมาน ในขณะเดียวกัน อิหร่านได้เตือนสหรัฐว่า ทุกการกระทำที่ก้าวร้าวของสหรัฐจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐในตะวันออกกลาง มิหนำซ้ำ นายพล อาบอลฟาซล์ เซการ์ชี โฆษกเสนาธิการกองกำลังติดอาวุธอิหร่านยังได้ประกาศว่า จะทำลายทั้งภูมิภาคถ้าหากสหรัฐและพันธมิตรมีปฏิบัติการทางทหาร

ในสภาวการณ์ดังกล่าว ประชาคมระหว่างประเทศได้พยายามแสวงหามาตรการคลี่คลายความตึงเครียดระหว่างสองประเทศ โดยเมื่อวันที่ 24 ที่ผ่านมา คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ยืนยันว่า ทุกฝ่ายต้อง “ถอนตัว” จากการเผชิญหน้าทางทหาร พร้อมทั้งเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและบรรดาประเทศในภูมิภาคนี้มีความอดกลั้นเต็มที่ ปฏิบัติมาตรการต่างๆเพื่อลดความตึงเครียดที่นับวันรุนแรงมากขึ้น พร้อมทั้งแก้ไขความขัดแย้งด้วยสันติวิธีและการสนทนา

ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน นาย อันดรู มูรีสัน รัฐมนตรีดูแลปัญหาตะวันออกกลางของกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษได้เดินทางถึงอิหร่านเพื่อหารือกับรัฐบาลอิหร่านแต่ความพยายามทางการทูตนี้ของอังกฤษไม่เกิดประโยชน์เพราะอิหร่านได้ประกาศว่า นี่ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อสนทนากับสหรัฐ ประเทศที่กำลังข่มขู่อิหร่าน

ความเสี่ยงของนโยบาย “ยืนอยู่ปากเหวสงคราม”

จากสถานการณ์ดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญได้ให้ข้อสังเกตว่า แม้สถานการณ์จะตึงเครียดแต่การกระทำที่แข็งกร้าวของทั้งสหรัฐและอิหร่านเมื่อเร็วๆนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็นการป้องปรามสร้างแรงกดดันต่อกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเท่านั้น แน่นอนว่า ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ทรัมป์ ไม่อยากทำสงครามกับอิหร่านในขณะที่การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐวาระที่ 2 กำลังใกล้เข้ามา เพราะการโจมตีอิหร่านอาจนำไปสู่ภัยคุกคามต่างๆ เช่น การตอบโต้ของอิหร่าน ความเสี่ยงที่สงครามอาจบานปลายไปทั่วตะวันออกกลางจนส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐและพันธมิตรในภูมิภาคนี้ ยิ่งไปกว่านั้น วอชิงตันอาจติดหล่มในสงครามตะวันออกกลางครั้งใหม่ ส่วนเมื่อตะวันออกกลางตกอยู่ในภาวะวิกฤต ราคาน้ำมันดิบก็จะถีบตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบในทางลบต่อเศรษฐกิจโลกและอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจของสหรัฐจะลดลงตามไปด้วย ซึ่งนี่คือปัจจัยชี้ขาดต่อการตัดสินใจของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งสหรัฐในการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐปี 2020

ส่วนอิหร่านก็แสดงท่าทีไม่ยอมรับการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ฉบับใหม่ตามเงื่อนไขของสหรัฐ โดยการยิงเครื่องบินไร้คนขับของสหรัฐตกนั้นก็ถือเป็น “การต่อรอง” ของอิหร่านก่อนที่จะตัดสินใจเข้าร่วมเจรจากัน

การที่ทั้งสองประเทศต่างมีก้าวเดินที่แข็งกร้าวและไม่ยอมผ่อนปรนกันจนทำให้เกิดการตอบโต้กันไปมาและอาจถลำลึกในการเผชิญหน้าทางทหารโดยตรงถ้าหากมีแผนการที่ผิดพลาด ซึ่งผลพวงจากสงครามจะทำให้ภูมิภาคตะวันออกกลางไร้เสถียรภาพต่อไปแล้วเปิดโอกาสให้กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ ได้เติบโตและเกิดการแข่งขันด้านอาวุธในภูมิภาคนี้.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด