สหประชาชาติเตือนสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายทั่วโลก

(VOVWORLD) - ในรายงานที่เผยแพร่โดยสหประชาชาติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม ระบุว่า สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมทั่วโลกในเวลาที่จะถึงจะยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญต่อไปเนื่องจากการปะทะและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งกำลังทำให้หลายพื้นที่ตกเข้าสู่สถานการณ์ที่เปราะบางในขณะที่หน่วยงานต่างๆของสหประชาชาติขาดงบประมาณดำเนินงาน
สหประชาชาติเตือนสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายทั่วโลก - ảnh 1ประชาชนปาเลสไตน์ออกจากบ้านในฉนวนกาซาเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลเมื่อวันที่ 9 ตุลาคมปี 2023 (AFP)

รายงานแนวโน้มด้านมนุษยธรรมโลกหรือ “The Global Humanitarian Outlook” ปี 2024 ซึ่งเผยแพร่โดยสหประชาชาติเมื่อวันที่ 11 ธันวาคมได้ประเมินว่า การปะทะและสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสภาพภูมิอากาศ และการล่มสลายของหลายทางเศรษฐกิจกำลังส่งผลกระทบอย่างหนักต่อกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในทุกทวีป จนนำไปสู่ปัญหาความอดอยากที่รุนแรง การอพยพครั้งใหญ่และโรคระบาด

การปะทะก่อให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรม

ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ได้ก่อให้เกิดการปะทะในภูมิภาคหลายแห่งของโลกในปีนี้ ตามข้อมูลของสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติหรือ OCHA ปัจจุบัน เด็ก 1 ใน 5 ในโลกต้องอยู่อาศัยในพื้นที่ที่เกิดการปะทะหรือต้องอพยพออกจากพื้นที่เหล่านี้ ประชากรประมาณ 258 ล้านคนทั่วโลกกำลังอยู่ในภาวะอดอยากที่ต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉิน ซึ่งหมายความว่า คนกลุ่มนี้อาจเสียชีวิตได้ทุกเวลาถ้าหากไม่สามารถเข้าถึงการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ นอกจากนี้ ประชากร 1ใน73 คนทั่วโลกต้องละทิ้งบ้านเรือนเนื่องจากการปะทะ ภัยพิบัติทางธรรมชาติหรือวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน

ปัจจุบัน การปะทะในฉนวนกาซากำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในทั่วโลกเนื่องจากสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ตามรายงานสถิติที่เผยแพร่โดยสหประชาชาติเมื่อต้นสัปดาห์นี้ ประชากรในฉนวนกาซาร้อยละ 85 คิดเป็นประมาณ 1.6 ล้านคน ต้องทิ้งบ้านเรือนเพราะการปะทะระหว่างกลุ่มฮามาสกับกองทัพอิสราเอล ประชาชนกว่า 18,000 คน รวมทั้งเด็กจำนวนมากเสียชีวิตและบาดเจ็บประมาณ 50,000 คน ส่วนตามรายงานของโครงการอาหารแห่งสหประชาชาติหรือ WFP ครึ่งหนึ่งของประชากรในฉนวนกาซาหรือเกือบ 1 ล้านคนกำลังตกเข้าสู่ภาวะอดอยาก ในการกล่าวปราศรัย ณ เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคมเนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ 75 ปีปฏิญญาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นาย โวลเกอร์ เติร์ก ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้แสดงความเห็นว่า สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซากำลังใกล้ถึงการล่มสลาย

แต่อย่างไรก็ตาม นาย มาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการสหประชาชาติที่ดูแลด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาเหตุฉุกเฉินเผยว่า โลกไม่ควรเน้นให้ความสนใจแต่ฉนวนกาซาเพียงอย่างเดียวเนื่องจากภูมิภาคตะวันออกกลาง ซูดาน อัฟกานิสถานและแอฟริกาตะวันออกก็เป็นจุดร้อนที่ต้องได้รับการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในวงกว้าง เช่นเดียวกับความเห็นนี้ นาย เปตร็อค วิลตัน ผู้แทนของโครงการอาหารแห่งสหประชาชาติหรือ WFP ในโซมาเลียได้เรียกร้องให้ประชาคมระหว่างประเทศแบ่งปันการช่วยเหลืออย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น

“เราเพิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายครั้ง ที่โซมาเลีย สถานการณ์ความอดอยากกำลังมีความรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี เนื่องจากอุทกภัยครั้งใหญ่ทำให้ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหารมานานหลายปี และกำลังพยายามฟื้นฟูภายหลังภัยแล้งที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้”

สหประชาชาติเตือนสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายทั่วโลก - ảnh 2นาย มาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการสหประชาชาติ (AFP)

ความยากลำบากเกี่ยวกับแหล่งพลังด้านการเงิน

เพื่อรับมือความท้าทายด้านมนุษยธรรมที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก สหประชาชาติต้องการการสนับสนุนทางการเงินจำนวนมาก นาย มาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการสหประชาชาติเผยว่า การสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศในปัจจุบันไม่เพียงพอเพื่อตอบสนองความต้องการ โดยเฉพาะ ในปีนี้ โครงการด้านมนุษยธรรมสามารถระดมเงินทุนได้เพียงร้อยละ 35 จากจำนวนเงินทุนทั้งหมด 5 หมื่น 6 พัน 7 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐที่ต้องการ ซึ่งถือเป็นปีขาดแคลนเงินทุนหนักที่สุด ซึ่งงบประมาณที่มีในปัจจุบันสามารถให้ความช่วยเหลือประชากรได้เพียง 128 ล้านคนเท่านั้น

จากสถานการณ์ดังกล่าว นาย มาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการสหประชาชาติได้ระบุว่า ถ้าหากไม่ปรับลดเป้าหมายด้านงบประมาณก็ยากที่จะบรรลุเป้าหมายในสภาวการณ์ที่ประเทศผู้บริจาคก็ประสบอุปสรรคเช่นกันเนื่องจากวิกฤตค่าครองชีพ ดังนั้น สหประชาชาติจึงลดการระดมเงินทุนลงเหลือ 4 หมื่น 6 พัน 4 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า และจะเน้นให้การช่วยเหลือแก่กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดจากทั้งหมดประมาณ 300 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม นาย มาร์ติน กริฟฟิธส์ รองเลขาธิการสหประชาชาติเผยว่า

“เราเน้นถึงความต้องการที่เป็นรูปธรรมของประชากร 181 ล้านคนจากจำนวนทั้งหมด 300 ล้านคนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ความแตกต่างระหว่างตัวเลขดังกล่าวไม่ใช่เรื่องของความต้องการความช่วยเหลือเท่านั้น หากเนื่องจากมีองค์กรอื่นๆ เช่น สภากาชาด และองค์การแพทย์ไร้พรมแดนหรือ MSF จะออกมาเรียกร้องให้มีการสนับสนุนและมีแผนปฏิบัติการเฉพาะของพวกเขา”

สหประชาชาติเผยว่า เงินที่สามารถระดมให้แก่ปีหน้าจะถูกนำไปใช้เพื่อช่วยเหลือ 72 ประเทศ รวมถึง 26 ประเทศที่กำลังตกเข้าสู่ภาวะวิกฤติและ 46 ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตของประเทศเหล่านี้ กลุ่ม 5 ประเทศที่ต้องการการสนับสนุนมากที่สุด ได้แก่ ซีเรีย  4.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยูเครน  3.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัฟกานิสถาน  3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เอธิโอเปีย  2.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเยเมน  2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีหน้า ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเป็นภูมิภาคที่ต้องการเงินช่วยเหลือมากที่สุดคือ 1 หมื่น 3 พัน 9 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ

สหประชาชาติประมาณการว่า จำนวนประชากร 300 ล้านคนทั่วโลกที่ต้องการความช่วยเหลือในปีหน้านั้นน้อยกว่าปีนี้ประมาณ 60 ล้านคน แต่อย่างไรก็ตาม สหประชาชาติยังระบุว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจค่อยๆ เข้ามาแทนปัญหาการปะทะ ซึ่งจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขประชากรที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมมากเพิ่มขึ้นมากที่สุด และจะทำให้องค์การด้านมนุษยธรรมของสหประชาชาติทำการวางแผนรับมือได้ยากขึ้น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด