วิธีเรียนภาษาเวียดนามอย่างมีประสิทธิภาพของนักเรียนลาวในโรงเรียนมิตรภาพ T78
(VOVWORLD) -โรงเรียนมิตรภาพ T78 ได้รับการก่อตั้งเมื่อปี 1958 และได้รับมอบหมายหน้าที่สอนภาษาเวียดนามเป็นเวลา 1 ปีให้แก่นักเรียนลาวก่อนที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยต่างๆที่ประเทศเวียดนาม ถึงขณะนี้ ทางโรงเรียนฯได้สอนภาษาเวียดนามให้แก่นักเรียนลาวเกือบ 22,000 คน รวม 48 รุ่น
การทัศนศึกษาฟาร์มเกษตรของนักเรียนลาว
|
นับตั้งแต่ปี 2014 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเรียนภาษาเวียดนามให้แก่นักเรียนลาว ทางโรงเรียนฯได้เปิดโครงการโฮมสเตย์เพื่อให้นักเรียนลาวได้เรียนภาษาและวัฒนธรรมจากครอบครัวชาวเวียดนาม โดยเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางโรงเรียนได้ส่งนักเรียนลาวเข้าร่วมโครงการโฮสเตย์ในหมู่บ้าน โอทน ตำบลเถาะหลก อำเภอเมืองเซินเตย กรุงฮานอย ไปทัศนศึกษารูปแบบการทำเกษตรและเลี้ยงปศุสัตว์ของประชาชนในหมู่บ้านแห่งนี้
เวลา 14.00 น. แม้สภาพอากาศจะร้อนอบอ้าวแต่นักเรียลาวรวม 32 คนก็มารวมตัวกันที่หอวัฒนธรรมของหมู่บ้านโอทนเพื่อไปศึกษารูปแบบการทำเกษตรและเลี้ยงปศุสัตว์หรือวีเอซีในหมู่บ้านพร้อมกับครูอาจารย์ 3 คนและผู้ใหญ่บ้าน นักเรียนทุกคนต้องใช้ยานพาหนะของตนเองในการเดินทาง ซึ่งส่วนใหญ่ใช้จักรยาน แม้ระยะทางจะไกลแต่ทุกคนต่างก็รู้สึกตื่นเต้นที่ได้ไปทัศนศึกษาในครั้งนี้ หลังปั่นจักรยานประมาณ 10 นาที ทุกคนก็มาถึงฟาร์มเกษตร ครูเหงียนถิเหี่ยน ที่รับผิดชอบดูแลนักเรียนลาวเผยว่า “การพานักเรียนลาวไปทัศนศึกษาที่ฟาร์มเกษตรและสวนปลูกดอกไม้แห่งนี้ถือว่ามีความหมายมาก เพราะช่วยให้พวกเขาได้ศึกษารูปแบบการทำเกษตรและการเลี้ยงปศุสัตว์แบบวีเอซีของเวียดนาม เช่น การเลี้ยงสุกรพร้อมกับการปลูกผักโดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยต่างๆ พร้อมทั้งช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้คำศัพท์และฝึกการฟังการพูดมากขึ้น ตลอดจนสามารถประยุกต์ใช้รูปแบบการเพาะปลูกนี้ในประเทศลาวได้ด้วย”
สถานที่แห่งแรกในการทัศนศึกษาฟาร์มเกษตรคือสวนปลูกผัก โดยนักเรียนลาวได้มีโอกาสเรียนชื่อผักต่างๆ เป็นภาษาเวียดนาม
|
ครู: นี่คือ “อาวก๊า” หรือบ่อเลี้ยงปลา ต้น “แองด่าว” หรือซากุระ “เราก๋าย” หรือผักกาดและ “เราส่าแล๊ก” หรือผักกาดหอม
นักเรียน: นี่คือ “เราแห่ง” ใช่ไหมคะครู
ครู: ใช่ค่ะ แต่เราไม่เรียก “เราแห่ง” เราเรียก “แห่ง” เฉยๆค่ะ
เมื่อได้ฟังชื่อผักชนิดใหม่ นักเรียนทุกคนต่างก็จดบันทึกเอาไว้ในสมุด
สถานที่ต่อไปคือบ่อเลี้ยงปลาและสวนปลูกดอกไม้ ที่นี่มีบ่อเลี้ยงปลาทั้งหมด 2 บ่อ โดยปลาทั้งหมดในบ่อแรกถูกจับไปแล้วและเจ้าของบ่อกำลังเตรียมให้แก่ฤดูกาลเลี้ยงปลาใหม่ นักเรียนทุกคนยืนดูวิธีการทำความสะอาดบ่อเลี้ยงปลา ในบ่อยังมีปลาเหลืออยู่ใต้โคลน คุณ วิลัยพร กาวคำพู ในชุดผ้าซิ่นได้ลงไปในบ่อเพื่อจับปลา ซึ่งได้รับเสียงปรบมือและเสียงเชียร์จากเพื่อนๆ
แม้ตัวจะเปื้อนโคลนแต่คุณ วิลัยพร กาวคำพู ก็รู้สึกสนุกมาก โดยสามารถจับปลาที่เหลือในบ่อทั้งหมดประมาณ 4-5 ตัว
|
ห่างจากบ่อปลาประมาณ 15 เมตรคือเล้าไก่ที่กำลังเลี้ยงไก่กว่า 100 ตัว นักเรียนได้ฟังการแนะนำวิธีการเลี้ยงและดูแลไก่ คุณไพวัน แสงปัญญาและคุณ สายคำ รักปะสิด แสดงความคิดเห็นว่า
“นี่เป็นครั้งแรกที่หนูได้มาศึกษารูปแบบการเพาะเลี้ยงปลา ไก่และดอกไม้ที่นี่ หนูรู้สึกยินดีมาก ครอบครัวของหนูก็เลี้ยงไก่แต่เลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่ใช่แบบอุตสาหกรรมเหมือนที่นี่”
“ลงพื้นที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการเกษตรและประกอบธุรกิจ ผมเห็นว่า คนเวียดนามขยันมาก การเพาะปลูกแบบนี้ในประเทศลาวมีไม่มากนัก โดยส่วนใหญ่เป็นการเลี้ยงแบบครัวเรือนเท่านั้น ส่วนที่เวียดนาม มีการเพาะเลี้ยงแบบครบวงจร ผมจะศึกษาวิธีการเลี้ยงไก่แบบนี้เพื่อนำไปประยุกใช้ในประเทศลาว”
เวลา 16.30 น. กิจกรรมทัศนศึกษาได้เสร็จสิ้นลง ทุกคนเตรียมกลับโรงเรียน เมื่อผ่านสวน นักเรียนก็อ่านชื่อผักและดอกไม้ที่เพิ่งเรียนอีกครั้งแม้บางคำยังจำไม่ได้หรืออ่านไม่ถูกแต่กิจกรรมวันนี้ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำสำหรับนักศึกษาลาวทุกคน.