(VOVWORLD) - ชาวอินโดนีเซียมีความภาคภูมิใจในผ้าบาติกที่มีความละเอียดปราณีตสวยงามและมีวิธีการทำที่เป็นเอกลักษณ์ โดยช่างศิลป์ต้องใช้เวลาในการปฏิบัติขั้นตอนต่างๆ รวมถึงการวาดลายด้วยน้ำเทียนขี้ผึ้งผสมพาราฟินร้อน ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ต้องใช้ความพิถีพิถันและใส่ใจ
คุณ Hanny Luvytasari ในกิจกรรมแนะนำผ้าบาติก |
ผ้าบาติกมี 2 รูปแบบคือ บาติกลายเขียนและบาติกลายพิมพ์ สำหรับบาติกลายเขียนจะต้องเขียนเทียนด้วยปากกาเขียนเทียน หรือ จันติ้ง (Canting) การเขียนเทียนนั้นต้องเขียนในขณะที่เทียนกำลังร้อนเพื่อให้น้ำเทียนซึมเข้าในเนื้อผ้า และไหลซึมผ่านเส้นใยของผ้าลงไปด้านหลังทำให้สามารถกันสีที่ระบาย หรือ ย้อมได้ คุณ Hanny Luvytasari ช่างศิลป์ได้กล่าวถึงขั้นตอนการวาดลายบนผ้าบาติกว่า“ต้องเตรียมอุปกรณ์ดังนี้ ผ้า 1 ผืน ดินสอ จันติ้ง เทียนขี้ผึ้งและหม้อต้มเทียน ส่วนสำหรับวิธีการวาดให้ใช้ดินสอวาดลายลงบนพื้นผ้า หลังจากนั้น ต้มเทียนให้เหลวด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสมแล้วใช้จันติ้งตักน้ำเทียนวาดตามลวดลายที่เขียนไว้ จันติ้งมีความสำคัญในการเขียนเทียนลงบนผ้า ซึ่งมีหลายขนาดสำหรับวาดลายต่างๆ”
การวาดลวดลายบนผ้าบาติกอาจใช้เวลาหลายเดือนโดยขึ้นอยู่กับขนาดและความยากของลวดลาย การผลิตผ้าบาติกต้องมีความใส่ใจและมีสมาธิเพื่อสามารถทำลวดลายบนผ้าได้เหมือนกันทุกฝืน คุณ Hanny Luvytasari เผยต่อไปว่า“สิ่งที่ยากที่สุดในการวาดลายบนผ้าบาติกคือการใช้จันติ้งตักน้ำเทียนวาดตามลวดลายที่เขียนไว้อย่างพิถีพิถัน ตามความเชื่อของชาวอินโดนีเซีย ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและต้องใช้ความอดทน ซึ่งการวาดลายบนผ้าบาติกถือเป็นการทดสอบความอดทน”
คุณ Hanny Luvytasari เกิดและเติบโตที่เมืองยกยาการ์ตา ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของผ้าบาติกในอินโดนีเซีย ถึงแม้จะทำงานเป็นครูสอนภาษาอินโดนีเซีย แต่เธอก็มีความหลงใหลในศิลปะการวาดลายบนผ้าบาติกจนได้เข้าร่วมคอร์สเรียนและสโมสรคนรักผ้าบาติก อีกทั้งเข้าร่วมการสาธิตทำผ้าบาติกในโอกาสวันบาติก 2ตุลาคมที่มีการเข้าร่วมของนาย โจโก วีโดโดประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ในปี2020 คุณ Hanny ได้เดินทางไปสอนภาษาอินโดนีเซียที่เวียดนามและได้แนะนำผ้าบาติกให้แก่ชาวกรุงฮานอย
ในกิจกรรมแนะนำการวาดลายบนผ้าบาติกของคุณ Hanny ผู้เข้าร่วมที่เป็นคนรุ่นใหม่ชาวเวียดนามกำลังลองใช้จันติ้งตักน้ำเทียนวาดตามลวดลายที่เขียนไว้บนผ้าบาติก นอกจากลายที่เป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของอินโดนีเซียแล้ว ผู้เข้าร่วมหลายคนได้วาดลายที่มีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างสองประเทศ คุณมิงเฮือง นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ฮานอยและคุณเลกวนจากนครดานังได้เผยว่า
“นี่คือครั้งที่ 2ที่ดิฉันเข้าร่วมกิจกรรมทำผ้าบาติก โดยได้เข้าร่วมกิจรรมนี้ครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเซีย สิ่งที่ยากที่สุดในการวาดลายคือการใช้จันติ้งตักน้ำเทียนเททิ้งเพื่อปรับอุณหภูมิของจันติ้งและเพื่อให้เส้นเทียนได้ขนาดตามที่ต้องการ”
“การวาดลายบนผ้าบาติกเป็นสิ่งที่ทำได้ยากเพราะต้องเขียนเทียนด้วยจันติ้ง ซึ่งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนต่างๆภายใต้การแนะนำของครู อีกทั้งต้องทำอย่างพิถีพิถันเพื่อไม่ให้เส้นเทียนขาดตอน เวลาที่ลงสีสีจะไหลเข้าหากัน ทำให้ดูไม่สวย”
ลวดลายในผ้าบาติก |
นี่เป็นครั้งแรกที่คุณ Hanny Luvytasari แนะนำศิลปะการวาดลายบนผ้าบาติกให้แก่ประชาชนเวียดนาม โดยความชื่นชอบผ้าบาติกของคนรุ่นใหม่เวียดนามทำให้เธอรู้สึกประทับใจเป็นอย่างมาก“ดิฉันรู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่งเพราะถึงแม้การวาดลายบนผ้าบาติกจะเป็นสิ่งที่ยากมาก แต่คนรุ่นใหม่เวียดนามที่เข้าร่วมกิจกรรมก็ลองทำอย่างกระตือรือร้น”
หลังจากเสร็จสิ้นการวาดลายบนผ้าบาติกแล้ว ช่างศิลป์จะทำการย้อมสีและต้มน้ำผสมผงซักฟอกให้เดือดแล้วใส่ผ้าลงไปเพื่อให้เทียนหลุดออก ถ้าอยากวาดลายเพิ่มเติม ก็ต้องทำทุกขั้นตอนตั้งแต่ต้นอีกครั้ง ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือนในการทำผ้าบาติก ความพิถีพิถันในการทำผ้าบาติกถือเป็นจุดเด่นของผ้าชนิดนี้ ซึ่งเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมที่ได้รับการรับรองจากยูเนสโกเมื่อวันที่ 2 ตุลาคมปี 2009.