เผยแพร่ศิลปะอินโดนีเซียในหมู่เยาวชนเวียดนาม

(VOVWORLD) - ในไม่กี่ปีมานี้ วัฒนธรรมอินโดนีเซียได้รับการเผยแพร่อย่างกว้างขวางในหมู่เยาวชนเวียดนาม เมื่อก่อนนี้ ภาษา bahasa ของอินโดนีเซีย และศิลปะพื้นบ้านต่างๆ เช่น การวาดลายบนผ้าบาติกและการฟ้อนรำพื้นเมืองของอินโดนีเซีย ล้วนเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนเวียดนาม แต่ปัจจุบันนี้ จากการขยายความร่วมมือในด้านต่างๆระหว่างเวียดนามกับอินโดนีเซีย ความร่วมมือทางวัฒนธรรมก็นับวันได้รับการกระชับมากขึ้น

ในตลอด 12 ปีที่ผ่านมา ห้องเอนกประสงค์ของสถานกงสุลใหญ่อินโดนีเซีย ณ นครโฮจิมินห์ได้กลายเป็นสถานที่คุ้นเคยของนักศึกษาที่รักภาษาและวัฒนธรรมอินโดนีเซีย ทุกๆวันอังคารและวันพฤหัสบดี บรรดานักศึกษาที่มาจากคณะอินโดนีเซียศึกษา มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นครโฮจิมินห์จะพากันมาที่นี่เพื่อเรียนการฟ้อนรำพื้นเมืองของอินโดนีเซีย นักศึกษา 8 คนที่หน้าตาร่าเริงในชุดบาติกสีชมพูและสีเหลืองแบบดั้งเดิมของจังหวัดอาเจะฮ์ สวมหมวกสีดำเหมือนนกตัวเล็กๆที่น่ารักๆ กำลังฝึกรำชุด Tari Selang Gilir ด้วยแววตาที่แสดงออกถึงความตั้งใจและลีลาท่าทางที่ไม่แพ้สาวๆชวา“ ถึงขณะนี้ พวกหนูเป็นกลุ่มฟ้อนรำที่มาฝึกที่สถานกงสุลใหญ่ฯ นานที่สุดและตอนนี้ก็สามารถรำพื้นบ้านของอินโดนีเซียได้อย่างอ่อนช้อย 8 ท่าแล้ว และกำลังฝึก 3 ท่าเพื่อแสดงในงานพบปะแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมของอินโดนีเซียที่เมืองหวุงเต่า แม้ว่าพวกหนูจะรำเป็นแล้ว แต่ก็ต้องมาที่นี่ซ้อมอีกเพื่อให้พี่ Ghata ช่วยปรับท่ารำให้ดูสวยงามขึ้น นอกจากนี้พวกหนูยังได้รับการสนับสนุนจากสถานกงสุลใหญ่ฯ ไม่ว่าชุดเครื่องสำอาง ชุดแสดงและจัดรถรับส่ง ตลอดจนได้มีโอกาสฝึกภาษาอินโดนีเซียด้วย”

เผยแพร่ศิลปะอินโดนีเซียในหมู่เยาวชนเวียดนาม - ảnh 1

หน้าตาเหมือนสาวชวา

นางสาวหวิ่งหมีโฟ๊ย นักศึกษาปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ นครโฮจิมินห์ หัวหน้ากลุ่มฯ พร้อมเพื่อนๆในชั้นเรียนได้เข้าร่วมห้องฝึกรำนี้เป็นเวลา 4 ปี โดยนอกจากได้เรียนรู้และฝึกท่ารำให้ถูกต้องแล้ว เธอยังช่วยสถานกงสุลใหญ่ฯ ฝึกนักศึกษาใหม่รำพื้นเมืองต่างๆ คุณ Ghata เจ้าหน้าที่ของสถานกงสุลใหญ่ฯ ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลการฝึกรำเผยว่า:

“ฉันมีหน้าที่รฝึกการรำให้แก่นักศึกษามานานแล้ว ปัจจุบันนี้ มีนักศึกษา 29 คนเข้าร่วมหลักสูตรการฟ้อนรำนี้ ซึ่งแบ่งเป็นสองชั้น: นักศึกษาใหม่และนักศึกษาเก่า โดยนักศึกษาใหม่จะได้เรียนท่ารำโบราณ ส่วนนักศึกษาเก่าเรียนท่ารำร่วมสมัย ตอนนี้นักศึกษาใหม่กำลังเรียนการรำ Mamri และนักศึกษาเก่าเรียนรำ Selanggilir และ Tari Warak เป็นต้น ท่ารำ Saman ยากที่สุดเพราะต้องรำไปและร้องไปพร้อมกัน ดังนั้น ช่วงแรกๆ การฝึกจำเนื้อร้องเป็นสิ่งที่ยากมาก”

ท่ารำ Saman ที่คุณ Ghata กล่าวถึงเป็นท่ารำที่ชนกลุ่มน้อยเผ่า Gayo ในจังหวัดอาเจะฮ์ มักจะใช้แสดงในงานสำคัญๆ รวมทั้งพิธีฉลองวันประสูติของศาสดา Nabi Muhammad นี่คือท่ารำที่แทบจะไม่ใช้ดนตรี นักแสดงจะคุกเข่าลงบนพื้นพร้อมร่ายรำด้วยจังหวะที่พร้อมกัน ผสานกับการร้องเพลง การเคลื่อนไหวของมือจะค่อยๆเร็วขึ้นๆ และต้องพร้อมกัน ซึ่งต้องฝึกให้ชำนาญ นางสาวเหงียนเฟืองจิง นักศึกษาปีที่สองสาขาวิชาอินโดนีเซียศึกษา มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์นครโฮจิมินห์กล่าวว่า:“ท่ารำ Saman นี้ค่อนข้างยาก ดิฉันฝึกมาประมาณ 3 เดือนแล้ว เรื่องแรกคือต้องจำเนื้อร้องในเพลง ซึ่งเป็นภาษา Gayo หลังจากนั้นก็ต้องฝึกท่ารำต่างๆ ท่ารำนี้ยกย่องความสามัคคีและความร่วมมือ ดังนั้นต้องฝึกรำให้พร้อมกันเพราะถ้าหากใครรำผิดก็จะทำให้เสียจังหวะ พี่ Ghata มีความอดทนและกระตือรือร้นมากในการสอนให้พวกดิฉันออกเสียงให้ถูกต้องและตรงตามจังหวะ"

เผยแพร่ศิลปะอินโดนีเซียในหมู่เยาวชนเวียดนาม - ảnh 2

ฝึกรำในห้อง

ไม่เพียงแต่มีการสอนการฟ้อนรำพื้นเมืองเท่านั้น แต่ที่นี่ยังเป็นสถานที่ฝึกภาษาอินโดนีเซียให้แก่นักศึกษาเวียดนามที่เรียนภาษาอินโดนีเซียอีกด้วย พร้อมทั้งเป็นโอกาสให้พวกเขาเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆทางวัฒนธรรมของอินโดนีเซียในนครโฮจิมินห์และจังหวัดต่างๆทางภาคใต้ของเวียดนาม อาจกล่าวได้ว่า ความพยายามเผยแพร่วัฒนธรรมและภาษาอินโดนีเซียให้แก่คนรุ่นใหม่เวียดนามได้ประสบผลที่น่ายินดีต่างๆ เพราะพวกเขาจะกลายเป็นผู้เผยแพร่วัฒนธรรมอินโดนีเซียให้แก่คนเวียดนาม โดยเฉพาะคนเวียดนามรุ่นใหม่ต่อไป.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด