(VOVWORLD) - การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ G7 เพิ่งเสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน ณ กรุงโตเกียว โดยที่ประชุมได้อนุมัติแถลงการณ์ร่วมที่กล่าวถึงปัญหาที่ร้อนระอุต่างๆ ของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึง “จุดยืนที่เป็นเอกภาพ” ของกลุ่ม G7 เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เช่น การปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครน และการปะทะในฉนวนกาซา ตลอดจนการเคลื่อนไหวในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
บรรดาผู้แทนเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศกลุ่ม G7 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายนปี 2023 (AFP) |
กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ G7 ประกอบด้วย อังกฤษ สหรัฐ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส แคนาดาและอิตาลีมีบทบาทที่สำคัญในการกำหนดและเสริมสร้างโครงสร้างและธรรมาภิบาลโลก อีกทั้งยังเป็นศูนย์รวมเสียงพูดที่สะท้อนทัศนะที่คล้ายคลึงกันและผลประโยชน์ของประเทศที่พัฒนาในการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงระหว่างประเทศ และส่งเสริมการหารือแนวทางเพื่อแก้ไขความท้าทายระดับโลก
บรรลุจุดยืนร่วมกันในการแก้ไขการปะทะในตะวันออกกลาง
หนึ่งในผลสำเร็จของการประชุมครั้งนี้คือทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้แสดงให้เห็นถึง “จุดยืนที่เป็นเอกภาพ” ของกลุ่ม G7 เกี่ยวกับการปะทะในตะวันออกกลาง นี่เป็นแถลงการณ์ฉบับที่สองของกลุ่ม G7 เกี่ยวกับปัญหานี้นับตั้งแต่เกิดการปะทะระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม นอกจากการประณามการโจมตีและเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทันทีแล้ว กลุ่ม G7 ยังย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิบัติการที่เร่งด่วนเพื่อแก้ไขวิกฤติด้านมนุษยธรรม โดยเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอนุญาตให้ปฏิบัติกิจกรรมช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ปกป้องประชาชนและปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ
บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 ยังย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศในการแก้ไขการปะทะที่กำลังเกิดขึ้นในตะวันออกกลาง อีกทั้งให้คำมั่นที่จะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมมาตรการแก้ไขในระยะยาวและยั่งยืนให้แก่ฉนวนกาซา โดยย้ำถึงความสำคัญของมาตรการสองรัฐอยู่ร่วมกันอย่างสันติโดยประชาชนปาเลสไตน์และอิสราเอลมีความปลอดภัยและมีการรับรองระหว่างกัน ซึ่งเป็นมาตรการเดียวเพื่อบรรลุสันติภาพที่ยั่งยืนและยาวนาน
การที่รัฐมนตรีต่างประเทศของ G7 บรรลุจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับการปะทะในตะวันออกกลางถือเป็นความสำเร็จที่โดดเด่นในการประชุมครั้งนี้ เนื่องจากจนถึงขณะนี้ สหรัฐยังคงคัดค้านคำเรียกร้องให้หยุดยิง แต่สนับสนุน “การพักรบชั่วคราวเพื่อมนุษยธรรม” เท่านั้น เพราะเห็นว่า อิสราเอลมีสิทธิ์ในการปกป้องตนเอง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในกลุ่ม G7 มีจุดยืนตรงกันข้าม ส่วนญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศเจ้าภาพการประชุม G7 และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐได้ยืนหยัดนโยบายต่างประเทศที่สมดุลกับประเทศในตะวันออกกลาง
ก่อนหน้านั้น เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ในการลงคะแนนในการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ใน 7 ประเทศสมาชิกของกลุ่ม G7 มีเพียงสหรัฐที่ลงคะแนนคัดค้าน ส่วนฝรั่งเศสลงคะแนนสนับสนุนการเรียกร้องให้ปฏิบัติคำสั่งหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมทันที ในขณะที่ญี่ปุ่น อังกฤษ อิตาลี เยอรมนีและแคนาดางดออกเสียง ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จุดยืนของกลุ่ม G7 เกี่ยวกับการปะทะในฉนวนกาซามีความแตกต่างกันมาก ดังนั้น การที่ประเทศสมาชิกของกลุ่ม G7 มีทัศนะร่วมกันอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสถานการณ์ในฉนวนกาซาในปัจจุบันในการประชุมครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นถึงความเข้าใจในแนวทางเดียวกันของกลุ่ม G7 ในการแก้ไขความท้าทายต่างๆ
บรรดาผู้แทนถ่ายรูปหมู่ (Kyodo) |
ยืนยันถึงความร่วมมือในการแก้ไขความท้าทายต่างๆ
นอกจากปัญหาการปะทะระหว่างกลุ่มฮามาสกับอิสราเอลแล้ว รัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 ยังเห็นพ้องเกี่ยวกับความสำคัญของการธำรงและเสริมสร้างความเป็นระเบียบระหว่างประเทศที่เสรีและเปิดกว้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกบนพื้นฐานของกฎหมาย อีกทั้งย้ำว่า ความพยายามแต่เพียงฝ่ายเดียวเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพเดิมทุกแห่งในโลกจะไม่ได้รับการยอมรับ
กลุ่ม G7 สนับสนุนสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียนที่เป็นศูนย์กลางและเป็นเอกภาพ ส่งเสริมความร่วมมือที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์อาเซียนเกี่ยวกับอินโดแปซิฟิก อีกทั้ง เห็นพ้องถึงความสำคัญของการสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและสร้างสรรค์กับจีน ยืนยันอีกครั้งถึงบทบาทที่สำคัญของอนุสัญญาของสหประชาชาติเกี่ยวกับกฎหมายทางทะเลหรือ UNCLOS ปี 1982 ในการสร้างกรอบทางนิตินัยที่ควบคุมทุกกิจกรรมในทะเลและมหาสมุทร
สำหรับการปะทะระหว่างรัสเซียกับยูเครน กลุ่ม G7 ยืนยันอีกครั้งถึงจุดยืนที่เป็นเอกภาพในการใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย ร่วมมือกับหุ้นส่วนระหว่างประเทศเพื่อส่งเสริมความพยายามในการฟื้นฟูสันติภาพในยูเครน อีกทั้ง ยืนยันอีกครั้งถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศในเอเชียกลางเพื่อรับมือความท้าทายในระดับภูมิภาค ส่งเสริมความเชื่อมโยงทางการค้า พลังงานและการคมนาคมที่ยั่งยืน ให้คำมั่นที่จะสร้างความสามัคคีระหว่างประเทศนอกกลุ่ม G7 เพื่อแก้ไขความท้าทายระดับโลกที่กว้างขวางมากขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปลดอาวุธนิวเคลียร์และความเสมอภาคทางเพศ รวมถึงระเบียบวาระการประชุมเกี่ยวกับสตรี สันติภาพและความมั่นคง
การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของกลุ่ม G7 ที่ญี่ปุ่นเมื่อเร็วๆ นี้ได้ประสบความสำเร็จในการลดช่องว่างระหว่างประเทศสมาชิกในการแก้ไขปัญหาร้อนระอุระดับโลก ด้วยคำมั่นดังกล่าว ประชาคมระหว่างประเทศตั้งความหวังว่า กลุ่ม G7 จะมีปฏิบัติการที่เป็นรูปธรรมเพื่อปฏิบัติตามคำมั่นเหล่านี้ โดยเฉพาะประเทศที่เกี่ยวข้องกับการปะทะโดยตรง ความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมีบทบาทที่สำคัญในความพยายามของกลุ่ม G7 เพื่อแสวงหามาตรการที่สันติอย่างรวดเร็ว ตลอดจนแก้ไขปัญหาความท้าทายระดับโลก.