การประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ต่อแอฟริกาและปฏิบัติการที่เร่งด่วน
Quang Dung -  
(VOVWORLD) - ในระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน ณ เมือง Borgo Egnazia เขต Puglia ในภาคใต้ของอิตาลี ได้มีการจัดการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ G7 การประชุมมีขึ้นในสภาวการณ์ที่ประเทศตะวันตกต้องแก้ไขความท้าทายที่ยิ่งใหญ่จากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลก และผู้นำของประเทศกลุ่ม G7 บางประเทศก็ประสบอุปสรรคมากมายในการรับมือปัญหาด้านการเมืองภายในประเทศ
การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกหรือ G7 มีขึ้น ณ เมือง Borgo Egnazia เขต Puglia ในภาคใต้ของอิตาลีในระหว่างวันที่ 13-15 มิถุนายน (DPA) |
ในฐานะประธานหมุนเวียนของกลุ่ม G7 รัฐบาลอิตาลีได้เชิญพระสันตะปาปา ฟรานซิส และผู้นำของหลายประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ เช่น บราซิล อาร์เจนตินา อินเดีย สหประชาชาติ ธนาคารโลกหรือ WB และธนาคารเพื่อการลงทุนแห่งแอฟริกาเข้าร่วมการประชุม
เนื้อหาที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ ต่อแอฟริกา
การประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ปีนี้มีขึ้นในสภาวการณ์ที่สถานการณ์ในโลกมีความผันผวนที่ซับซ้อนมากขึ้นเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของความขัดแย้งทางอาวุธ การเผชิญหน้าทางภูมิศาสตร์การเมือง การแข่งขันทางเศรษฐกิจ และความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ดังนั้น การประชุมฯจึงมีหน้าที่ที่หนักหน่วงในการเผยแพร่ข้อความปฏิบัติการที่ชัดเจนและมีวิสัยทัศน์ของตะวันตก ในฐานะประเทศที่ตั้งอยู่กึ่งกลางระหว่างยุโรปกับแอฟริกา ประเทศเจ้าภาพอิตาลีได้กำหนดแอฟริกาเป็นเนื้อหาหลักในการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ปีนี้ ในการกล่าวปราศรัยเปิดการประชุมเมื่อบ่ายวันที่ 13 มิถุนายน นาง จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลีได้ยืนยันว่า การที่อิตาลีเลือกจัดการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ณ เมืองทางตอนใต้ของอิตาลีเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการเจรจากับซีกโลกใต้ โดยเฉพาะแอฟริกา
“ในฐานะประธานกลุ่ม G7 อิตาลีมีความประสงค์ที่จะสร้างเวทีที่กว้างใหญ่มากขึ้นให้แก่ทวีปอื่นๆ ที่มีบทบาทสำคัญต่ออนาคตของพวกเรา และนั่นคือแอฟริกา ด้วยความยากลำบากและโอกาสของทวีปนี้ เราต้องมีวิธีการเข้าถึงที่แตกต่างกับการเข้าถึงในอดีต”
บรรรดาผู้นำของประเทศต่างๆที่เข้าร่วมการประชุมกลุ่ม G7 (AFP) |
เพื่อแปรเนื้อหาที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆให้แก่แอฟริกาอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ต้นปีนี้ รัฐบาลอิตาลีได้เสนอ “แผนการ Mattei” ด้วยวงเงินเริ่มต้นกว่า 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อส่งเสริมรูปแบบความร่วมมือที่ยั่งยืนในด้านพลังงาน การศึกษา สาธารณสุข การเกษตรและสิ่งแวดล้อมในประเทศแอฟริกา ซึ่งความคิดริเริ่มนี้ของอิตาลีได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ตามความเห็นของนาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ การให้ความสนใจนี้ต่อแอฟริกามีความหมายที่สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะทวีปนี้มีทรัพยากรแร่ธาตุมหาศาล ซึ่งมีบทบาทที่สำคัญต่อกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก แต่ปัจจุบันในแอฟริกามีการใช้พลังงานหมุนเวียนไม่ถึงร้อยละ 1 ของปริมาณทั่วโลก ดังนั้น กลุ่ม G7 ต้องเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินและเทคโนโลยีให้แก่แอฟริกา ตลอดจนประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“เราต้องมีคำมั่นที่ชัดเจนจากกลุ่ม G7 เกี่ยวกับการเพิ่มเงินทุนเป็น 2 เท่าให้แก่ภารกิจการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปีหน้าและการลดช่องว่างทางการเงินในด้านนี้”
นอกจากการอภิปรายเกี่ยวกับการพัฒนาในแอฟริกาแล้ว ในระเบียบวาระการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ในปีนี้ยังหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สถานการณ์ในตะวันออกกลาง การปะทะในยูเครน การอพยพย้ายถิ่นฐาน ภูมิภาคอินโดแปซิฟิกและการประชุมนัดพิเศษโดยเน้นถึงปัญญาประดิษฐ์และพลังงาน ที่น่าสนใจคือ ในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ครั้งแรก พระสันตะปาปา ฟรานซิส ได้ทรงกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับความคาดหวังและความเสี่ยงจาก AI
นาย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ (THX) |
ปฏิบัติการที่เร่งด่วน
การประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ปีนี้มีขึ้นในสภาวการณ์ที่แตกต่างกับปีก่อนๆ เมื่อปัญหาภายในประเทศของประเทศสมาชิกบางประเทศกำลังสร้างภัยคุกคามต่อหัวข้อสำคัญๆ ในการประชุม นาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ นาย จัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา และนาย ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นต่างได้รับความไว้วางใจในระดับต่ำภายในประเทศ โดยนาย โจ ไบเดน เผชิญกับแรงกดดันมากขึ้นจากการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีและคดีของลูกชายของเขาคือนาย ฮันเตอร์ ไบเดน ในศาล โดยเฉพาะ ในยุโรป นาย เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสและนาย โอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนีประสบความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ในการเลือกตั้งรัฐสภายุโรป ซึ่งส่งผลให้ชื่อเสียงทางการเมืองของพวกเขาเสื่อมถอย ประธานาธิบดีฝรั่งเศส มาครง และนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ริชิ ซูนัก ก็กำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้งที่มีความเสี่ยงสูงในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า นั่นคือการเลือกตั้งทั่วไปในอังกฤษในวันที่ 4 กรกฎาคม และการเลือกตั้งรัฐสภาในฝรั่งเศสในวันที่ 30 มิถุนายน และวันที่ 7 กรกฎาคม ดังนั้น ตามความเห็นของนาย Raffaele Marchetti ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของมหาวิทยาลัย Luiss ประเทศอิตาลี การประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 ในปีนี้จึงมีความเร่งด่วนมากกว่าการประชุมครั้งก่อนๆ และผู้นำของกลุ่ม G7 ต่างก็เร่งดำเนินการตามแผนการที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในยูเครนและฉนวนกาซา การแข่งขันทางเศรษฐกิจ การบริหารจัดการ AI และความสัมพันธ์กับจีนก่อนมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านการเมืองภายในประเทศ ศาสตราจารย์ Marchetti แสดงความคิดเห็นว่า
“นี่คือการประชุมสุดยอดกลุ่ม G7 พิเศษ เนื่องจากผู้นำกลุ่ม G7 บางคนอาจไม่ได้ดำรงตำแหน่งอีกต่อไปในปีหน้า และมีความเป็นไปได้สูงที่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ G7 จะมีการเปลี่ยนแปลงในปีหน้า ดังนั้น ผู้นำกลุ่ม G7 ต้องตัดสินใจและเพิ่มความสามัคคีเนื่องจากในปีหน้า มีความเป็นไปได้สูงว่า ปัญหาต่างๆ จะได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการที่แตกต่างออกไป”
นาย Riccardo Alcaro นักวิจัยจากสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของอิตาลีได้แสดงความเห็นว่า อิทธิพลของกลุ่ม G7 กำลังต้องเผชิญกับความท้าทายมากมายเมื่อกลุ่มนี้ไม่ได้ครองตำแหน่งที่โดดเด่นในการกำหนดระเบียบวาระการประชุมระดับโลกอีกต่อไป ดังนั้น บรรดาผู้นำกลุ่ม G7 ต้องแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะมีปฏิบัติการที่เข้มแข็งและรวดเร็วมากขึ้นในสภาวการณ์ปัจจุบัน.
Quang Dung