โรงเรียนสำหรับเด็กพิการในนครโฮจิมินห์
My Dung-Vinh Phong -  
( VOVworld )- สำหรับเด็กพิการ การได้เรียนในโรงเรียนพิเศษจะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะในการเข้าสังคมและมั่นใจในตัวเองเพื่อสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมในภายภาคหน้าได้ โรงเรียนพิเศษเหล่านี้แม้จะไม่ใหญ่โตและสวยหรูแต่ก็มีความอบอุ่นเสมือนบ้านแห่งที่สองของเด็กเหล่านี้ ในโอกาสวันโลกป้องกันและดูแลคนพิการ ๑๘ เมษายน ขอเชิญท่านแวะเยือนโรงเรียนรูปแบบนี้บางแห่งในนครโฮจิมินห์
( VOVworld )-
สำหรับเด็กพิการ การได้เรียนในโรงเรียนพิเศษจะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้ทักษะในการเข้าสังคมและมั่นใจในตัวเองเพื่อสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมในภายภาคหน้าได้ โรงเรียนพิเศษเหล่านี้แม้จะไม่ใหญ่โตและสวยหรูแต่ก็มีความอบอุ่นเสมือนบ้านแห่งที่สองของเด็กเหล่านี้ ในโอกาสวันโลกป้องกันและดูแลคนพิการ ๑๘ เมษายน ขอเชิญท่านแวะเยือนโรงเรียนรูปแบบนี้บางแห่งในนครโฮจิมินห์
ชั้นเรียนสำหรับเด็กออทิสติกโรงเรียน เตือง ลาย
โรงเรียนพิเศษเตืองลาย ตั้งอยู่ในซอยแห่งหนึ่งบนถนนนาม กี่ เข่ย เงียะ เขต ๓ นครโฮจิมินห์ ปัจจุบันมีเด็กพิการ ๔๐ คนที่เป็นเด็กออทิสติก เด็กสมาธิสั้น เด็กกลุ่มอาการดาวน์และสมองอัมพาต พวกเขามีอายุตั้งแต่ ๖ – ๑๖ ขวบ ที่อาการพิการแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารได้ ครูหญิง โด่ ถิ่ เฟือง งา ครูใหญ่โรงเรียนพิเศษ เตือง ลายเปิดเผยว่า “ เด็กที่มาที่นี่มีอาการหนัก ประสบความลำบากในการสื่อสารและขาดทักษะในการเข้าสังคม ดังนั้น ทางโรงเรียนได้เน้นในการฝึกภาษาและทักษะในการเข้าสังคมให้แก่เด็กเหล่านี้ ”
นอกจากสอนทักษะในการเข้าสังคมให้แก่เด็กพิการเหล่านี้แล้ว ทางโรงเรียนยังเน้นการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น คุณครูฟาน ถิ่น ทู เฮือง ที่เป็นหนึ่งในครูที่ผูกพันกับโรงเรียนมานานพอสมควรเปิดเผยว่า “ พวกเขาเป็นเด็กโชคร้าย ดิฉันพบปะและสอนพวกเด็กๆจากหัวใจและใช้หลักสูตรที่เหมาะกับความสามารถของพวกเขา สำหรับเด็กพิการประเภทนี้การสอนพวกเขายากมากและต้องการความร่วมมือของครอบครัวพวกเขาด้วย โดยเมื่อสอนเด็กเสร็จ เราก็ขอให้ผู้ปกครองสอนซ้ำที่บ้าน และจะมีการพูดคุยกับผู้ปกครองเกี่ยวกับการพัฒนาของเด็กในวันถัดมา ”
สอนเด็กพิการทางการฟังในโรงเรียน ฮี หว่อง หมายเลข ๑
โรงเรียนเด็กพิการทางการฟังฮี หว่อง หมายเลข ๑ สอนหนังสือและทักษะในการเข้าสังคม สอนทางศิลปะและแนะแนวอาชีพเช่น วาดภาพ ปักผ้า คอมพิวเตอร์และศิลปะหัตถกรรมเพื่อให้เมื่อเรียนจบเด็กสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและสามารถมีงานทำเลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของพ่อแม่ แม้ยังขาดแคลนสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ แต่ครูอาจารย์ของโรงเรียนก็พยายามสร้างบรรยากาศการศึกษาที่ดีให้แก่เด็กๆและเลือกครูที่ดี คุณครูเจิ่น ถิ่ เหง่ย อาจารย์ใหญ่โรงเรียน ฮี หว่อง หมายเลข ๑ เปิดเผยว่า “ ครูที่มาทำงานในโรงเรียนจะได้ร่วมการฝึกอบรมเกี่ยวกับทักษะในการเข้าถึงคนพิการทางการฟัง ต่อจากนั้นจะได้สอนในชั้นเรียนและเตรียมโครงการสอนอย่างดี ”
คุณครูเจิ่น ถิ่ เหง่ย อาจารย์ใหญ่โรงเรียน ฮี หว่อง หมายเลข ๑
สถานรับเลี้ยงดูเด็กพิการทางสายตาบึ่ง ซ้าง ตั้งอยู่ในซอยแห่งหนึ่งบนถนนเหงวียน จี เฟือง เขต ๑๐ นครโฮจิมินห์เปิดรับเลี้ยงดูเด็กพิการทางสายตามา ๒๙ ปี โดยในจำนวนเด็ก ๓๐ คนนั้น มีเด็กหลายคนที่สภาพครอบครัวยากจน ตอนเช้า แม่ชีของที่นี่ ส่งเด็กไปโรงเรียนพิเศษ เหงวียน ดิ่นห์ เจี่ยวหรือโรงเรียนสำหรับเด็กพิการทางสายตาเพื่อเรียนหนังสือ และรับกลับตอนบ่ายแล้วหุงหาอาหารให้ทานและสอนเด็กต่อไป ตอนเด็กไปโรงเรียน แม่ชีเหล่านี้จะทำอาชีพเสริมคือ ร้อยลูกปัดและทำเครื่องศิลปะหัตถกรรมเพื่อหารายได้เสริมให้แก่มื้ออาหารของเด็ก แม้จะไม่พิการทางสายตาแต่แม่ชีทุกท่านก็เรียนอักษรเบรลล์และศึกษาการดำรงชีวิตของคนตาบอดเพื่อที่จะได้ใกล้ชิดและเข้าใจพวกเด็กมากขึ้น แม่ชีเหงวียน ถิ่ หว่าง หัวหน้าสถานรับเลี้ยงดูเด็กพิการทางสายตาบึ่ง ซ้าง เปิดเผยว่า “ เมื่อสามารถสื่อสารกับเด็กด้วยอักษรเบรลล์ได้ พวกเราก็เข้าใจว่า เด็กต้องการอะไรและวิธีการเรียนการสอน อีกทั้งใกล้ชิดกับเด็กๆมากขึ้น เด็กๆกับบรรดาแม่ชีใกล้ชิดกันและเข้าใจกันดี ทั้งนี้ทำให้การเรียนของเด็กง่ายขึ้น ”
แม่ชีเหงวียน ถิ่ หว่าง
บรรดาแม่ชีของสถานรับเลี้ยงดูเด็กพิการทางสายตาได้ช่วยสานฝันของเด็กด้อยโอกาสเหล่านี้ด้วยการสอนหนังสือให้กลายเป็นความจริง อีกทั้งยังเปิดสอนเด็กที่มีเชาว์ความสามารถเพื่อให้พวกเขาพัฒนาอย่างสมบูรณ์เช่น ชั้นเรียนคอมพิวเตอร์และเล่นออร์แกน ส่วนครูของชั้นเรียนเหล่านี้ล้วนเป็นคนพิการทางสายตา พวกเขามาที่นี่เพื่อสอนทักษะให้แก่เด็กๆและส่งเสริมให้กำลังใจ แบ่งเบาความปวดร้าวให้เด็กๆที่อยู่ในสภาพเดียวกัน
สอนอักษรเบรลล์ให้เด็ก
บรรดาโรงเรียนพิเศษสำหรับเด็กพิการในนครโฮจิมินห์เป็นที่พึ่งทางใจ สอนทักษะในการเข้าสังคมและสอนหนังสือจะช่วยให้เด็กๆด้อยโอกาสเหล่านี้เมื่อเรียนจบจะสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมและมั่นใจในตัวเองในการกำหนดอนาคตของตน ./.
My Dung-Vinh Phong