(VOVworld) – ในตลอด 28 ปีที่รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศไทยและในช่วงหนึ่งของชีวิต ท่านปัญญารักษ์ พูลทรัพย์ ได้เป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะที่ดูแลงานอาเซียน ท่านได้มีส่วนร่วมต่อการที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อปี 1995 และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในฐานะเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนามใน 3 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ท่านจะกลับประเทศเพื่อรับตำแหน่งใหม่ ผู้สื่อข่าวภาคภาษาไทยสถานีวิทยุเวียดนามได้สัมภาษณ์ท่านเนื่องในโอกาสการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปลายปี 2015
(VOVworld) – ในตลอด 28 ปีที่รับราชการในกระทรวงการต่างประเทศไทยและในช่วงหนึ่งของชีวิต ท่านปัญญารักษ์ พูลทรัพย์ ได้เป็นเจ้าหน้าที่โต๊ะที่ดูแลงานอาเซียน ท่านได้มีส่วนร่วมต่อการที่เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกอาเซียนเมื่อปี 1995 และการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในฐานะเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนามใน 3 ปีที่ผ่านมา ก่อนที่ท่านจะกลับประเทศเพื่อรับตำแหน่งใหม่ ผู้สื่อข่าวภาคภาษาไทยสถานีวิทยุเวียดนามได้สัมภาษณ์ท่านเนื่องในโอกาสการจัดตั้งประชาคมอาเซียนในปลายปี 2015
นักข่าว: เรียนท่านเอกอัครราชทูตไทยประจำเวียดนาม การจัดตั้งประชาคมอาเซียนจะเอื้อประโยชน์และสร้างความท้าทายอย่างไรต่อประเทศไทยและเวียดนาม
ท่านทูต: การจัดตั้งประชาคมอาเซียนในวันที่ 31 ธันวาคม เป็นการจัดตั้งประชาคม ซึ่งประกอบด้วยเสาหลัก 3 ประการ ประชาคมการเมืองความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political – Security Community – APSC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) และประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio – Cultural Community – ASCC) จะเป็นการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ของผู้นำอาเซียน ซึ่งจะเป็นการนำประชาคมอาเซียนให้เข้าถึงประชาชนอาเซียนมากยิ่งขึ้น
อีกทั้งตามคำขวัญอาเซียนที่ว่า “หนึ่งวิสัยทัศน์ หนึ่งอัตลักษณ์ หนึ่งประชาคม” ก็จะทำให้ประชาคมอาเซียนเป็นประชาคมของประชาชน ซึ่งมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเป็นประชาคมที่มีความสอดคล้องทางการเมือง มีเศรษฐกิจที่รวมตัวกันมากขึ้นและมีความรับผิดชอบทางสังคม เพื่อยังประโยชน์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนพร้อมที่จะรับมือกับความท้าทายต่างๆในภูมิภาคและระหว่างประเทศ
ความท้าทายของเวียดนามและไทย ตลอดจนประเทศสมาชิกอาเซียนในห้วงต่อไปก็ได้แก่การดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 (แทนวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนเดิม) ในห้วงสิบปีข้างหน้า (2016-2025) ซึ่งเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 27 เมื่อวันที่ 21-22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ตลอดจนการดำเนินการตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน (Master Plan on ASEAN Connectivity) ซึ่งประกอบด้วยด้านปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน กฎระเบียบและการติดต่อไปมาหาสู่ระหว่างประชาชนกับประชาชน
นอกจากนั้น ประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของอาเซียนจะต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับประชาคม รวมทั้งการมีส่วนร่วมของอาเซียนในฐานะองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อภูมิภาคและเวทีระหว่างประเทศ
นักข่าว: ในปี 2016 นี้ ไทยจะให้ความสนใจในอันดับต้นๆต่อด้านไหนเพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาประชาคมอาเซียนให้มีการปฏิบัติอย่างจริงจังและเข้าสู่ส่วนลึกมากขึ้น
ท่านทูต: นอกจากการดำเนินการตามวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนค.ศ. 2025 การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างกันและการมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศแล้ว ในส่วนของไทยเองก็ได้ให้ความสำคัญกับประเด็นต่างๆ ได้แก่ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดนและการส่งเสริมการลงทุนในรูปแบบ 1+1 (การลงทุนในไทย + การลงทุนในประเทศอาเซียนอื่น) ตลอดจนการส่งเสริมประชาชนและชุมชนเข้มแข็งและการพัฒนาห่วงโซ่มูลค่าของภูมิภาค ตลอดจนการลดช่องว่างการพัฒนา การส่งเสริมการท่องเที่ยวในอาเซียนในลักษณะ package ของอาเซียนทั้งทางบกและทางทะเลตามแผนแม่บทว่าด้วยความเชื่อมโยงในอาเซียน
ไทยเห็นว่า อาเซียนจะต้องเป็นประชาคมที่มองออกไปข้างนอกและมีบทบาทสร้างสรรค์ในเวทีโลก อาเซียนจะต้องมีความเป็นเอกภาพเพื่อรักษาความเป็นแกนกลางในการดำเนินความสัมพันธ์กับประเทศมหาอำนาจ ตลอดจนสร้างความเข้มแข็งแก่กลไกที่อาเซียนมีบทบาทนำ
อาเซียนจะต้องมีท่าทีและเสียงเดียวกันในเวทีสหประชาชาติและองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ และมีบทบาทสร้างสรรค์และแข็งขันในประเด็นระดับโลก เช่น ในเรื่องการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ การรับรองผู้สมัครของอาเซียนและการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้ เป็นต้น
นักข่าว: ในการก่อตั้งประชาคมอาเซียนจะมีความท้าทายต่างๆ แต่อาเซียนจะรับมือกับความท้าทายนั้นเช่นไร
ท่านทูต: ก็คือเมื่อมาอยู่ประชาคมเดียวกันแล้ว ท่าทีระหว่างประเทศบางประการที่เราเคยมีความแตกต่างกันเราก็ต้องนั่งคุยกัน ประณีประนอมกันบ้างเพื่อให้มีท่าทีที่เป็นเอกภาพร่วมกัน ซึ่งอาเซียนเองก็มีการยึดหลักฉันทามติอยู่แล้วคือ ถ้าเกิดมีประเทศใดประเทศหนึ่งคัดค้าน ท่าทีหรือการแสดงจุดยืนนั้นก็จะไม่ผ่าน เราก็จะต้องมีการพูดคุยกันมากขึ้น ประณีประนอมกันมากขึ้นเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการเป็นประชาคมอาเซียนที่จะเป็นองค์กรที่มีเสียงเดียว ยกตัวอย่างคือการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติที่มีประชาชนประสบปัญหาเศรษฐกิจในบางประเทศโยกย้ายถิ่นฐานโดยออกมาทางเรือ อาเซียนก็ได้ประชุมร่วมกันที่จะร่วมมือกันแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นเอกภาพ ซึ่งมหาอำนาจและสหประชาชาติก็ให้คำชื่นชมในการออกมาจัดประชุมเพื่อแก้ไขปัญหานี้.
นักข่าว: ขอให้ท่านประเมินบทบาทและสถานะของประชาคมอาเซียนเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ ประชาคมอาเซียนมีจุดแข็งและจุดออ่นอย่างไรบ้าง
ท่านทูต: อาเซียนเป็นองค์กรในระดับภูมิภาคที่มีบทบาทสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเป็นองค์กรที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ เพื่อผลประโยชน์และการพัฒนาในภูมิภาค อย่างไรก็ดี อาเซียนไม่ได้มุ่งหวังที่จะพัฒนาไปสู่การรวมตัวอย่างเช่นของสหภาพยุโรป โดยอาเซียนยังคงยึดหลักฉันทามติและการไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ดี อาเซียนให้ความสำคัญต่อค่านิยมที่สำคัญต่างๆ เช่น ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ธรรมาภิบาล เป็นต้น
อาเซียนจะยังคงเป็นองค์กรที่รวมประเทศสมาชิกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยคำนึงถึงความพร้อมและความสบายใจของประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาภูมิภาคร่วมกันต่อไป.
ขอขอบคุณท่านมาก.