ความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เวียดนาม-สิงคโปร์นับวันพัฒนาอย่างรอบด้าน
Ngọc Diệp-Đặng Tuyên/VOV Bangkok -  
(VOVWORLD) - ความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เวียดนาม-สิงคโปร์นับวันมีการพัฒนาอย่างรอบด้านและมุ่งสู่ขั้นสูงใหม่เพื่อประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสองประเทศและภูมิภาค
นี่คือความเห็นของดอกเตอร์ Vannarith Chheang ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและปัญหาระดับโลกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง และประธานสถาบันวิสัยทัศน์เอเชียหรือ Asia Vision Institute ในการให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุเวียดนามก่อนการเดินทางไปเยือนสิงคโปร์และบรูไนอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่ามมิงห์ชิ้ง ในระหว่างวันที่ 8-12 กุมภาพันธ์
นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ฝ่ามมิงห์ชิ้ง และนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ลี เซียนลุง |
ดอกเตอร์ Vannarith Chheang ได้ประเมินความสำคัญของความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์เวียดนาม-สิงคโปร์ว่า เวียดนามได้มีการกำหนดนโยบายการต่างประเทศในเชิงรุก โดยเฉพาะการส่งเสริมความสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจะมีการฉลองครบรอบ 10 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์หุ้นส่วนยุทธศาสตร์และ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตเวียดนาม-สิงคโปร์ ในปี 2023 ซึ่งการเดินทางมาเยือนในครั้งนี้ของนายกรัฐมนตรี ฝ่ามมิงห์ชิ้ง ถือเป็นหมุดหมายที่สำคัญในการส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีให้มีการพัฒนาสู่ขั้นสูงใหม่
“ปัจจุบัน สิงคโปร์เป็นคู่ค้าและนักลงทุนรายใหญ่อันดับต้นๆ ของเวียดนาม ดังนั้น การเดินทางมาเยือนสิงคโปร์ครั้งนี้จะมีส่วนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านการค้าและการลงทุนระหว่างสองประเทศ รวมถึงภาคการท่องเที่ยว โดยพวกเราสามารถเห็นได้ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวสิงคโปร์ที่เดินทางไปยังเวียดนามและนักท่องเที่ยวเวียดนามที่มาสิงคโปร์นับวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านการศึกษาและวัฒนธรรมระหว่างเวียดนามกับสิงคโปร์ ด้วยบทบาทเชิงยุทธศาสตร์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามยังคงเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างมากของสิงคโปร์”
นอกจากนี้ ดอกเตอร์ Vannarith Chheang เผยว่า ด้วยบทบาทและสถานะทางภูมิศาสตร์เศรษฐกิจของเวียดนามนั้น ทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศอำนาจปานกลางที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจถึงแม้เวียดนามไม่ได้ประกาศฐานะแบบนี้มาก่อน ส่วนสิงคโปร์ได้มีการกำหนดนโยบายการต่างประเทศในเชิงบวกสำหรับการส่งเสริมความมั่นคงระหว่างประเทศตามหลักกฎหมายสากล โดยเวียดนามก็มีจุดยืนร่วมกันเกี่ยวกับวิธีการส่งเสริมความมั่นคงระหว่างประเทศตามหลักกฎหมายสากล รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายสากลในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง
“ในสภาวการณ์ที่เอเชีย-แปซิฟิกเป็นจุดศูนย์กลางที่ได้รับความสนใจเป็นอันดับต้นๆ จากทุกประเทศมหาอำนาจ ไม่มีประเทศใดในภูมิภาคอยากให้เกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ส่วนสิงคโปร์และเวียดนามต่างมีจุดยืนร่วมกันที่จะไม่เอ็นเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อีกทั้งหวังว่าสหรัฐและจีนจะเป็นคู่แข่งที่ลงรอยกัน ซึ่งในการพบปะกันครั้งนี้ ผู้นำทั้งสองประเทศจะหารือและเสนอวิธีแก้ไขต่างๆ เพื่อการประสานงานร่วมกันในกรอบกลไกความร่วมมือต่างๆ ที่นำโดยอาเซียนหรือสหประชาชาติ เพื่อรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคและโลก”
ดอกเตอร์ Vannarith Chheang ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะและปัญหาระดับโลกของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางและประธานสถาบันวิสัยทัศน์เอเชียหรือ Asia Vision Institute |
สำหรับโอกาสความร่วมมือทวิภาคีในทุกด้านในเวลาข้างหน้า ดอกเตอร์ Vannarith Chheang ได้ให้ข้อสังเกตว่า ภาคเศรษฐกิจจะได้รับแรงผลักดันใหม่ เนื่องจากบทบาทและสถานะทางภูมิศาสตร์กเศรษฐกิจของเวียดนามด้วยการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรีสหภาพยุโรป-เวียดนาม ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่รอบด้านระดับภูมิภาค หรือ RCEP และข้อตกลงหุ้นส่วนในทุกด้านและก้าวหน้าข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก หรือ CPTPP ซึ่งสร้างความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดระหว่างเวียดนามกับภูมิภาคและโลก โดยผลประโยชน์ที่สิงคโปร์ได้รับจากการลงทุนในเวียดนามคือ อัตราค่าจ้างแรงงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ แรงงานมีทักษะความสามารถสูง รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงตลาดเวียดนาม ภูมิภาค และโลก ผ่านข้อตกลงการค้าเสรีหลายฉบับที่เวียดนามได้ลงนามไว้ ส่วนโอกาสความร่วมมือใหม่ๆ ในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวระหว่างเวียดนามกับสิงคโปร์ ดอกเตอร์ Vannarith Chheang ได้เผยว่า
“อีกด้านหนึ่งที่ทั้งสองประเทศต้องส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันคือความมั่นคงทางทะเลบนพื้นฐานกฎหมายสากล โดยสิงคโปร์ได้ทำการวิจัยต่างๆ และมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในด้านนี้ ส่วนในด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียว เมื่อปี 2018 สิงคโปร์ในฐานะประธานอาเซียน ได้ผลักดันการจัดตั้งเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน ควบคู่กับการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เศรษฐกิจดิจิทัล เศรษฐกิจสีเขียว และความมั่นคงทางไซเบอร์ที่ทันสมัย ในขณะที่เวียดนามก็เป็นหนึ่งในเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีการเติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น ผมคิดว่าโอกาสความร่วมมือในด้านต่างๆ ดังกล่าวยังมีอีกมาก”
นอกจากนี้ เวียดนามยังมีจุดแข็งต่างๆ มากมาย เช่น ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถนน โลจิสติกส์ ท่าเรือ รวมถึงต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ นอกจากนั้น เวียดนามและสิงคโปร์ยังมีจุดยืนและผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ร่วมกันในประเด็นต่างๆ ระดับโลก อีกทั้งมีความพร้อมที่จะส่งเสริมการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและการศึกษาในระดับประชาชน โดยสิงคโปร์เป็นจุดหมายปลายทางในการศึกษาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของเวียดนามหลายคน.
Ngọc Diệp-Đặng Tuyên/VOV Bangkok