อาเซียนเห็นพ้องกันในการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า – โอกาสและความท้าทาย

(VOVWORLD) - การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ที่มีขึ้น ณ เมืองลาบวนบาโจ ประเทศอินโดนีเซีย ได้เสร็จสิ้นลงด้วยการเห็นชอบแถลงการณ์ร่วมของบรรดาผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค โดยคาดว่า จะช่วยสร้างพลังขับเคลื่อนในการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียวทั่วทั้งภูมิภาค ซึ่งนาย Arsjad Rasjid ประธานหอการค้าและอุตสาหกรรมอินโดนีเซียและประธานสภาที่ปรึกษาธุรกิจอาเซียนหรือ ASEAN-BAC ปี 2023 ได้มีการวิเคราะห์โอกาสและความท้าทายของอาเซียนในการส่งเสริมแผนการดังกล่าว

ด้วยจำนวนสถานีชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้ารวม 108 แห่งสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า 375 คันที่ใช้ในการรับส่งคณะผู้แทนและการเดินทางของกลุ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 ได้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน รวมถึงประเทศเจ้าภาพอินโดนีเซีย ในการส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค
อาเซียนเห็นพ้องกันในการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า – โอกาสและความท้าทาย - ảnh 1การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 42 (ภาพจาก CNA)

อาเซียนมีศักยภาพมากมายในการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า

นาย Arsjad Rasjid เผยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นปัญหาที่เร่งด่วนที่สุดที่อาเซียนกำลังต้องเผชิญ ดังนั้น บรรดาประเทศสมาชิกอาเซียนกำลังพยายามร่วมมือกันในการแสวงหาวิธีการเชิงสร้างสรรค์ต่างๆ เพื่อผลักดันกระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของภูมิภาค พร้อมทั้งค้ำประกันการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ยั่งยืน และครอบคลุม ด้วยเป้าหมายสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 อาเซียนกำลังส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ พร้อมจัดทำแผนการเพื่อช่วยให้เขตเมืองสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ พร้อมการปรับปรุงโครงสร้างห่วงโซ่คุณค่าโลกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามแนวโน้มการใช้พลังงานสะอาด การลดผลกระทบต่อสุขภาพจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ นโยบายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และเศรษฐกิจสีเขียว การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า โดยประเมินว่า

“ยังมีศักยภาพอีกมากในการสร้างห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาค โดยเวียดนามเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้มีการส่งออกไปยังสหรัฐ ในขณะที่ประเทศอื่นๆ อย่างอินโดนีเซียหรือมาเลเซียก็เป็นตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีศักยภาพ ส่วนอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์มีปริมาณสำรองแร่นิกเกิลมากถึงร้อยละ 33-40 ของโลก ซึ่งช่วยสร้างพื้นฐานที่มั่นคงให้แก่ความร่วมมือระหว่างกันเพื่อเป็นผู้นำในการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ทั้งในภูมิภาคอาเซียนและทั่วโลก”

ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเติบโตที่ดี โดยยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจนถึงปี 2022 อยู่ที่กว่า 270,000 คันและคาดว่า จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในปีถัดๆ ไป ซึ่งไทยได้ตั้งเป้ายอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่าภายในปี 2035 ส่วนของสิงคโปร์คือปี 2040 ขณะที่ของอินโดนีเซียคือปี 2050 อย่างไรก็ดี ถึงแม้เป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพและมีแหล่งทรัพยากรสำหรับการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าและเศรษฐกิจสีเขียว แต่อาเซียนยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายอย่าง

“อย่างแรกคือปัญหาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะในอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค อีกอย่างก็คือ ผมคิดว่า อาเซียนจำเป็นต้องมีความเห็นพ้องกันในเรื่องมาตรฐานแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อมีส่วนช่วยดำเนินแผนการต่างๆ ได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายที่กลุ่มประเทศอาเซียนต้องให้ความร่วมมือกันเพื่อค้ำประกันความเชื่อมโยงในการก่อสร้างระบบโครงสร้างพื้นฐาน”

อาเซียนเห็นพ้องกันในการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า – โอกาสและความท้าทาย - ảnh 2ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มเติบโตที่ดี (ภาพจาก Reuters)

นอกจากนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานของอาเซียนยังมีข้อเสนอเพิ่มเติมว่า นอกเหนือจากด้านโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ก็มีความจำเป็นที่ต้องปรับปรุงระบบไฟฟ้าครัวเรือน ด้วยการเพิ่มกำลังไฟฟ้าสำหรับใช้ในครัวเรือนให้สูงขึ้น พร้อมสนับสนุนการพัฒนาสถานีชาร์จไฟฟ้าสาธารณะ ติดตั้งสถานีชาร์จในพื้นที่ย่านธุรกิจและสถานที่สาธารณะต่างๆ เช่น สวนสาธารณะ โรงพยาบาล และโรงเรียน เพื่อส่งเสริมการชาร์จแบตฯ ในช่วงกลางวัน ซึ่งวิธีการใช้สาธารณูปโภคในพื้นที่อาศัยของชุมชนนั้นสามารถช่วยเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จและส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้น

อาเซียนมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมยานยนต์สีเขียว

ในแถลงการณ์ร่วมที่บรรดาผู้นนำอาเซียนให้ความเห็นชอบในการประชุมเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม ได้ย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของแต่ละประเทศและในภูมิภาค อีกทั้งผลักดันให้มาตรฐานระดับภูมิภาคต่างๆ มีความสอดคล้องกับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนการฝึกอบรมและการรับรองตามมาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่มูลค่ารถยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค พร้อมอำนวยความสะดวกทางการค้า และเพิ่มขีดความสามารถในการประสานงานร่วมและเดินทางข้ามพรมแดนได้อย่างคล่องตัว

อาเซียนเห็นพ้องกันในการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า – โอกาสและความท้าทาย - ảnh 3การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและเศรษฐกิจสีเขียว เป็นหัวข้อที่อินโดนีเซียให้ความสำคัญในการส่งเสริมในวาระที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน 2023 (ภาพจาก Reuters)

นอกจากนี้ บรรดาผู้นำอาเซียนยังได้เห็นพ้องที่จะแสวงหาความร่วมมือและความเชื่อมโยงในการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า สร้างสภาพแวดล้อมการประกอบธุรกิจที่เอื้ออำนวยเพื่อดึงดูดการลงทุน เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพร้อมการใช้วัสดุและทรัพยากรที่ยั่งยืน อีกทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับพันธมิตรนอกภูมิภาคผ่านกลไกต่างๆ นำโดยอาเซียน รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ และการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและประชาชน เพื่อส่งเสริมระบบนิเวศดังกล่าว

ทั้งนี้ การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน การพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าและเศรษฐกิจสีเขียว เป็นหัวข้อที่อินโดนีเซียให้ความสำคัญในการส่งเสริมในวาระที่ดำรงตำแหน่งประธานอาเซียน 2023 โดยทุกประเทศในอาเซียนต่างให้การสนับสนุนนโยบายเหล่านี้ ถึงแม้ยังมีความท้าทายมากมาย แต่นาย Arsjad Rasjid ได้แสดงความเห็นว่า การที่อาเซียนได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้านั้นจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจ พร้อมทั้งเปิดโอกาสใหม่ ๆ ในการประกอบธุรกิจและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีให้มากขึ้น.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด