(VOVWORLD) - การประชุมสุดยอดในโอกาสครบรอบ 75 ปีการจัดตั้งองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือ NATO ที่มีขึ้นในระหว่างวันที่ 9-10 กรกฎาคมตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงวอชิงตัน ประเทศสหรัฐ ได้อนุมัติการตัดสินใจและแนวทางการปฏิบัติที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดของกลุ่มในรอบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
บรรดาผู้นำของประเทศสมาชิกนาโต้ (NATO) |
การประชุมสุดยอด NATO ที่มีขึ้นเป็นเวลา 2 วัน ณ กรุงวอชิงตันโดยผู้นำจาก 32 ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมประชุมได้อนุมัติแถลงการณ์ร่วมโดยกำหนดเนื้อหาเชิงยุทธศาสตร์ที่ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆของกลุ่มฯ เกี่ยวกับการเพิ่มความสามารถในการผลิตด้านกลาโหมและธำรงการช่วยเหลือในระยะยาวให้แก่ยูเครน อีกทั้งส่งเสริมความสัมพันธ์หุ้นส่วนด้านความมั่นคงนอกพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดิมของ NATO
เพิ่มความสามารถด้านกลาโหม
ในแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอด NATO ณ กรุงวอชิงตัน ซึ่งมีข้อกำหนด 38 ข้อ ผู้นำประเทศสมาชิก NATO ได้ยืนยันอีกครั้งถึงความสำคัญของ NATO ในการธำรงบรรยากาศความมั่นคงและเสถียรภาพในภูมิภาคยุโรป-แอตแลนติก แถลงการณ์ดังกล่าวยังย้ำว่า ประเทศสมาชิก NATO ส่วนใหญ่ปฏิบัติตามคำมั่นที่จะจัดงบอย่างน้อยร้อยละ 2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศหรือ GDP ให้แก่ค่าใช้จ่ายด้านกลาโหม โดยปัจจุบัน มีประเทศสมาชิก NATO 23 ประเทศจากจำนวนทั้งหมด 32 ประเทศที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดนี้ ซึ่งเพิ่มขึ้น 7 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2014 เมื่อ NATO ประกาศใช้ข้อกำหนดการจัดงบด้านกลาโหมคิดเป็นร้อยละ 2 ของ GDP อย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ NATO ยังได้ปฏิรูปโครงสร้างการบังคับบัญชาแบบบูรณาการ เพิ่มความสามารถในการป้องกันภัยทางอากาศ และกำหนดแผนการเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตด้านกลาโหมผ่านกระบวนการวางแผนการป้องกันด้านกลาโหมของ NATO หรือ NDPP นี่เป็นเนื้อหาที่น่าสังเกตมาก เพราะในเวลาที่ผ่านมา จากแรงกดดันของการปะทะในยูเครนและฉนวนกาซา ประเทศสมาชิก NATO หลายประเทศได้ตกเข้าสู่ภาวะขาดแคลนอาวุธสำรอง และกำลังต้องเผชิญกับความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ครั้งใหญ่ในสภาวการณ์ที่การปะทะบานปลาย นาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐได้ประกาศว่า
“นี่คือก้าวเดินที่สำคัญเพื่อค้ำประกันความมั่นคงให้แก่ NATO นี่เป็นครั้งแรกที่ทุกประเทศสมาชิก NATO มุ่งมั่นที่จะส่งเสริมแผนการผลิตด้านกลาโหมภายในประเทศ ซึ่งหมายความว่า NATO สามารถผลิตยุทโธปกรณ์ที่จำเป็นได้มากขึ้นและรวดเร็วมากขึ้น”
ในสภาวการณ์ที่การปะทะในยูเครนยังคงตึงเครียดอย่างต่อเนื่อง การประชุมสุดยอด NATO ในกรุงวอชิงตันยังสงวนเวลาส่วนใหญ่เพื่อหารือเกี่ยวกับยูเครน นอกจากได้ออกแถลงการณ์ NATO ยังได้ออกคำมั่นเฉพาะเกี่ยวกับการให้การช่วยเหลือในระยะยาวแก่ยูเครน รวมทั้ง การจัดสรรเงินอย่างน้อย 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปีหน้า จัดตั้งศูนย์สนับสนุนด้านความมั่นคงและการฝึกอบรมของ NATO ให้แก่ยูเครนหรือ NSATU โดยให้คำมั่นที่จะลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลเรือนและกลาโหมของยูเครน สำหรับการรับยูเครนเข้าเป็นสมาชิก NATO ไม่ระบุแผนการและกรอบเวลาที่ชัดเจน นาย จิม ทาวน์เซนด์ ผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์รักษาความปลอดภัยใหม่อเมริกันหรือ CNAS ได้เผยว่า สิ่งนี้สอดคล้องกับเนื้อหาที่ให้ความสนใจเป็นอันดับต้นๆของ NATO ในปัจจุบันคือหลีกเลี่ยงคำมั่นที่มีรายละเอียดเกินไป
“NATO กำหนดกรอบเวลาที่ค่อนข้างเปิดกว้างเกี่ยวกับการรับยูเครนเป็นสมาชิก เช่น เมื่อการปะทะยุติลง แต่ตอนนี้ ผมคิดว่า เนื้อหาหลักของการประชุมสุดยอดคือการช่วยเหลือด้านการทหารให้แก่ยูเครน ส่วนการกำหนดกรอบเวลาว่าเมื่อไหร่ที่จะเริ่มการสนทนาหรือเชิญยูเครนเข้าเป็นสมาชิกนั้นเป็นเรื่องในอนาคต”
นาย โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ (Reuters) |
ความไม่มั่นคงทางการเมืองในสหรัฐ
สถานการณ์ทางการเมืองของสหรัฐ ซึ่งเป็นผู้นำของ NATO ก็ส่งผลกระทบต่อการประชุมสุดยอด NATO สำหรับความคิดเห็นว่า NATO กำลังเร่งปฏิบัตินโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายเกี่ยวกับยูเครนก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปลายปีนี้ นาย เจนส์ สโตลเตนเบิร์ก (Jens Stoltenberg) เลขาธิการ NATO ได้แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้ได้ถูกกล่าวเกินความจริงไปมาก
แต่อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมสุดยอด NATO ในสหรัฐ นาง อันนาเลนา แบร์บ็อค (Annalena Baerbock) รัฐมนตรีต่างประเทศเยอรมนีได้แสดงความเห็นว่า ในระยะยาว ยุโรปต้องมีบทบาทมากขึ้นใน NATO เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ได้รับผลกระทบจากความผันผวนทางการเมืองในสหรัฐ
“ไม่มีใครรู้ว่า สัปดาห์และเดือนหน้าจะเกิดอะไรขึ้น แต่สิ่งที่เรารู้แน่นอนก็คือ ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเป็นอย่างไร แต่ NATO ต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศยุโรปมากขึ้นเพื่อเป็นพันธมิตรข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกต่อไป”
อีกประเด็นหนึ่งที่สร้างการโต้เถียงในการประชุมสุดยอด NATO ครั้งนี้คือแนวโน้มที่กลุ่มนี้ขยายอิทธิพลไปไกลกว่าพื้นที่ทางภูมิศาสตร์เดิมของ NATO ในยุโรปและอเมริกาเหนือ นอกจากคำประกาศที่แข็งกร้าวในการวิพากษ์วิจารณ์บางประเทศในแถลงการณ์แล้ว NATO ยังเชิญผู้นำของญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน การที่ NATO เพิ่มการแทรกแซงในภูมิภาคอินโดแปซิฟิกได้สร้างความวิตกกังวลต่อบางประเทศเกี่ยวกับความเสี่ยงของการทวีความตึงเครียดและการแบ่งแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคที่มีความอ่อนไหวนี้.