การเปลี่ยนโฉมใหม่ให้แก่ชนบทเวียดนาม
ในการประชุมสรุปการปฏิบัติโครงการพัฒนาชนบทใหม่แห่งชาติ ณ กรุงฮานอยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม ผู้แทนทุกคนต่างเห็นพ้องกันว่า เพื่อให้โครงการนี้ได้พัฒนาต่อไป จำเป็นที่จะต้องใช้มาตรการแก้ไขอย่างพร้อมเพรียง เด็ดขาด และมีความเห็นพ้องกันด้านจิตสำนึกระหว่างทส่วนกลางและท้องถิ่น
โครงการพัฒนาชนบทใหม่แห่งชาติช่วงปี 2011-2020 ถือเป็นการปฏิบัติตามมติของการประชุมครั้งที่ 7 คณะกรรมการกลางพรรคสมัยที่ 10ว่าด้วยการเกษตร เกษตรกรและชนบทเพื่อตอบสนองความปรารถนาของเกษตรกร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมในชนบทให้ทันสมัย มีรูปแบบการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของท้องถิ่น พัฒนาการเกษตรให้ควบคู่ไปกับการพัฒนาอุตสาหกรรม การบริการและตัวเมืองตามแผนที่วางไว้ ตลอดจนยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น ซึ่งภายหลังการปฏิบัติมาเป็นเวลา 3 ปี 11 ตำบลนำร่องที่ปฏิบัติโครงการนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งนอกจากการเกษตร การบริการและงานหัตถกรรมจะได้รับการพัฒนาแล้ว รายได้ของเกษตรกรก็ยังเพิ่มขึ้นอีกด้วย อีกทั้งยังยกระดับความร่วมมือระหว่างรัฐกับประชาชนในการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคต่างๆ นาย Tran Van Hau ชาวบ้านตำบล Tan Lap อำเภอ Dong Phu จ.Binh Phuoc แสดงความคิดเห็นว่า
“ ผมเห็นว่า รัฐและทางการปกครองท้องถิ่นได้ปฏิบัติโครงการพัฒนาชนบทใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยท้องถิ่นของเราได้มีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งอำนวยความสะดวกให้แก่การใช้ชีวิตของประชาชนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการเดินทางไปโรงเรียนของเด็กๆ”
จากผลสำเร็จใน 11 ตำบลนำร่อง โครงการนี้ก็ได้รับการขยายการปฏิบัติไปทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าไว้ว่า จนถึงปี 2015 มีตำบลร้อยละ20 บรรลุ 19 มาตรฐานของชนบทใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขข้อจำกัดต่างๆ เช่น การดูแลเอาใจใส่และการแนะนำอย่างทันการณ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การระดมเงินทุนของท้องถิ่นและการขานรับของประชาชน นาย Le Huy Ngo อดีดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนามกล่าวว่า
“ เราสามารถบรรลุมาตรฐานบางประการเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทใหม่ในระดับเบื้องต้น เช่น การก่อสร้างโรงเรียน หอวัฒนธรรมและถนนลาดยาง เป็นต้น ดังนั้นเราต้องการการช่วยเหลือจากรัฐและประชาชนในด้านกำลังทรัพย์ แรงงานและที่ดินเพื่อปฏิบัติขั้นตอนต่อไป”
ในทางเป็นจริง การปฏิบัติโครงการดังกล่าวใน 11 ตำบลนำร่องได้แสดงให้เห็นว่า ถ้าหากท้องถิ่นใดสามารถระดมพลังทั้งจากระบบการเมือง หน่วยงาน องค์กร สถานประกอบการและประชาชนทุกระดับให้เข้าร่วมได้ก็จะสร้างโฉมใหม่ให้แก่เขตชนบทได้อย่างรวดเร็ว นาย Dang Ngoc Son ผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการเกษตรและพัฒนาชนบทจ. Ha Tinh ได้เสนอว่า
“ พรรคสาขา องค์กรและทางการปกครองท้องถิ่นต้องทำการรณรงค์เพื่อให้ประชาชนตระหนักได้ว่า ตนเองเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาชนบทใหม่ ส่วนเจ้าหน้าที่ในตำบลต้องเป็นแบบอย่างคุณธรรมเพื่อให้ประชาชนปฏิบัติตามและสมัครใจเข้าร่วม”
ในปี 2012 กระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทได้ตั้งเป้าไว้ว่า ตำบลร้อยละกว่า 90 จะมีแผนการพัฒนาชนบทใหม่ ส่วนตำบลที่มีแผนการแล้วร้อยละ 90 ก็จะได้รับการอนุมัติ เจ้าหน้าที่ในเขตชนบทประมาณร้อยละ 50 จะได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาชนบทใหม่ พร้อมทั้งผลักดันการผลิตตามแนวทางเพิ่มผลผลิตและรายได้ พัฒนาการศึกษา สาธารณสุข การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและพยายามแก้ปัญหาบ้านเรือนของประชาชนที่ชำรุดทรุดโทรมและให้การช่วยเหลือพิเศษต่อตำบลร้อยละ 20 ที่ได้จดทะเบียนบรรลุมาตรฐานเขตชนบทใหม่ในปี 2015 จนถึงปี 2020 ตำบลทั่วประเทศเกือบ 1 หมื่นแห่งจะร่วมกันพัฒนาชนบทในยุคใหม่ จากผลสำเร็จในเบื้องต้นใน 11 ตำบลนำร่อง การรณรงค์และขบวนการแข่งขัน “ทั้งประเทศร่วมมือพัฒนาชนบทใหม่” จะเป็นพลังขับเคลื่อนในการสร้างโฉมใหม่ให้แก่เขตชนบทของเวียดนาม./.
Anh Huyen-VOV5