(VOVWORLD) -เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ความหวังเกี่ยวกับข้อตกลงหยุดยิงระยะยาวระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสได้เลือนลางหายไปหลังจากที่ความพยายามทางการทูตตกเข้าสู่ภาวะชะงักงัน ควบคู่กันนั้น ความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤตด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เกิดการปะทะในฉนวนกาซานับวันเพิ่มมากขึ้นหลังจากที่กองทัพอิสราเอลประกาศแผนการโจมตีเมืองราฟาห์
การปะทะในฉนวนกาซาสร้างความเสียหายอย่างหนักทั้งด้านชีวิตและทรัพย์สิน (Photo: AFP) |
ภายหลังกว่า 4 เดือนที่เกิดการปะทะระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ความหวังเกี่ยวกับการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงระยะยาวนับวันอยู่ไกลเอื้อมหลังจากที่การเจรจาต่างๆ เสร็จสิ้นลงเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ณ กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ โดยไม่สามารถบรรลุผลงานใดๆ
ความพยายามทางการทูตตกเข้าสู่ภาวะชะงักงัน
เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ในโอกาสเข้าร่วมการประชุมความมั่นคงมิวนิก ณ ประเทศเยอรมนี เชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน อาล ษานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์ได้ยอมรับว่า ความพยายามทางการทูตเพื่อบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในระยะยาวระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสกำลังตกเข้าสู่ภาวะชะงักงันภายหลังการเจรจามาเป็นเวลาเกือบ 3 สัปดาห์ นอกจากสหรัฐและอียิปต์ กาตาร์เป็นหนึ่งในประเทศอุปถัมภ์และส่งเสริมข้อตกลงเกี่ยวกับการปล่อยตัวประกันระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส โดยกลุ่มฮามาสจะปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอลเพื่อแลกกับนักโทษชาวปาเลสไตน์และข้อตกลงหยุดยิงในระยะยาว
ความคาดหวังเกี่ยวกับการบรรลุข้อตกลงมีขึ้นหลังจากที่ตัวแทนของฝ่ายต่างๆที่เข้าร่วมการปะทะและเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านความมั่นคงของสหรัฐ กาตาร์และบางประเทศตะวันออกกลางได้เดินทางถึงกรุงไคโร ประเทศอียิปต์เพื่อเข้าร่วมการเจรจาเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่จนถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ การเจรจาได้เสร็จสิ้นลงโดยไม่สามารถบรรลุความคืบหน้าใดๆ เชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน อาล ษานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์เผยว่า
“พวกเราได้บรรลุความคืบหน้าในการเจรจาต่างๆเมื่อหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและพยายามบรรลุข้อตกลงระหว่างสองฝ่ายแต่ในหลายวันที่ผ่านมา ยังไม่สามารถบรรลุความคืบหน้าตามความคาดหวังผมคิดว่า ยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันระหว่างฝ่ายต่างๆ”
การเจรจาเมื่อเร็วๆนี้เน้นถึงสองประเด็นหลักได้แก่ การเปิดระเบียงเพื่อภารกิจด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาและจำนวนนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่จะได้รับการปล่อยตัวเพื่อแลกกับตัวประกันที่กลุ่มฮามาสกำลังจับตัวไว้ การเจรจาเกี่ยวกับปัญหาด้านมนุษยธรรมบรรลุความคืบหน้าแต่อิสราเอลและกลุ่มฮามาสมีความขัดแย้งเกี่ยวกับจำนวนนักโทษชาวปาเลสไตน์และตัวประกันชาวอิสราเอล โดยเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ นาย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ประกาศว่า จะไม่ทำการเจรจาอีกถ้าหากกลุ่มฮามาสไม่ละทิ้งข้อเรียกร้องที่ไร้สาระ
“ต้องมีจุดยืนที่แข็งกร้าวในการเจรจา จนถึงขณะนี้ ข้อเรียกร้องของกลุ่มฮามาสเป็นเรื่อง"เพ้อเจ้อ" กลุ่มฮามาสอยากทำลายอิสราเอล ซึ่งพวกเรายอมรับไม่ได้ จนกว่ากลุ่มฮามาสจะยกเลิกข้อเรียกร้องเหล่านั้น พวกเราจะทำการเจรจาต่อไป”
นอกจากการประกาศไม่ผ่อนปรนในการเจรจา รัฐบาลอิสราเอลยังคงธำรงจุดยืนที่แข็งกร้าวต่างๆ เช่น ปฏิเสธการรับรองรัฐปาเลสไตน์ที่อิสระและคำเรียกร้องให้ยกเลิกแผนการโจมตีใส่เมืองราฟาห์ในทิศใต้ของฉนวนกาซา ควบคู่กันนั้น ทางการสหรัฐได้คัดค้านร่างมติที่เรียกร้องให้บรรลุข้อตกลงพักรบเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาที่แอลจีเรียยื่นเสนอต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ซึ่งทำให้ความพยายามทางการทูตประสบอุปสรรคมากมาย
เชค มุฮัมมัด บิน อับดุรเราะฮ์มาน อาล ษานี นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต่างประเทศกาตาร์เข้าร่วมการประชุมความมั่นคงมิวนิก |
ความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมเพิ่มขึ้น
ความพยายามทางการทูตตกเข้าสู่ภาวะชะงักงันทำให้ประชาคมโลกมีความวิตกกังวลต่อความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาในอีกหลายสัปดาห์ข้างหน้า โดยเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ทางการอิสราเอลเผยว่า จะทำการโจมตีเมืองราฟาห์ในต้นเดือนมีนาคมถ้าหากกลุ่มฮามาสไม่ปล่อยตัวประกันทั้งหมด
เมืองราฟาห์อยู่ในทิศใต้ของฉนวนกาซา ถือเป็นสถานที่หลบภัยแห่งสุดท้ายของชาวปาเลสไตน์ ตามข้อมูลของสหประชาชาติ ปัจจุบัน มีประชาชนผู้บริสุทธิ์ประมาณ 1.3 -1.4 ล้านคนที่กำลังอาศัยอยู่ในเมืองราฟาห์ ซึ่งทำให้เมืองราฟาห์เป็นเมืองที่มีประชากรหนาแน่นที่สุดในโลก ดังนั้น ทุกปฏิบัติการทางทหารใส่เมืองราฟาห์อาจสร้างความสูญเสียด้านชีวิตเป็นจำนวนมาก การปะทะที่เกิดขึ้นนับตั้งเดือนตุลาคมปีที่แล้วได้ทำให้ชาวปาเลสไตน์เกือบ 3 หมื่นคนเสียชีวิต ประชาชน 1.7 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 85 ของประชากรฉนวนกาซา ต้องทิ้งบ้านเรือนเพื่ออพยพและประชาชนกว่า 5 แสนคนขาดแคลนอาหาร ในการกล่าวปราศรัยหลังการพบปะกับกับกษัตริย์จอร์แดนเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ ณ กรุงปารีส นาย เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสได้เตือนว่า การโจมตีใส่เมืองราฟาห์อาจสร้างวิกฤตด้านมนุษยธรรมที่เลวร้ายที่สุด
นอกจากความเสี่ยงด้านมนุษยธรรม การโจมตีครั้งใหญ่ของกองทัพอิสราเอลใส่เมืองราฟาห์อาจทำให้ชาวปาเลสไตน์นับแสนคนต้องอพยพไปยังคาบสมุทรไซนายของอียิปต์และสร้างปัญหาให้แก่อียิปต์ เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ นาย ซามิห์ ชุกรี รัฐมนตรีต่างประเทศอียิปต์ได้เตือนว่านี่อาจทำลายความสัมพันธ์ระหว่างอียิปต์กับอิสราเอลและการปะทะจะบานปลายไปทั่วภูมิภาค.