สหประชาชาติประเมินอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
Quang Dung -  
(VOVWORLD) - ในรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม สหประชาชาติได้ระบุว่า การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีปัจจัยเชิงบวกหลายปัจจัย แต่อย่างไรก็ตาม ความท้าทายต่อเศรษฐกิจกำลังพัฒนากำลังเพิ่มขึ้น
สหประชาชาติประะเมินในเชิงบวกเกียวกับการเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้ (VNA) |
รายงานของสหประชาชาติที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคมคือฉบับอัพเดทจนถึงกลางปีของรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่เผยแพร่เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
พลังขับเคลื่อนจากเศรษฐกิจใหญ่ๆ
ในรายงานล่าสุด สหประชาชาติระบุว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้น ดังนั้น คาดว่า การเติบโตทางเศรษฐกิจโลกในปีนี้จึงเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 2.7 ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์เมื่อเดือนมกราคมร้อยละ 0.3 ในขณะที่การเติบโตในปีหน้าได้รับการคาดการณ์ว่า จะอยู่ที่ร้อยละ 2.8 สูงกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านั้นร้อยละ 0.1 นาย Shantanu Mukherjee ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและนโยบายสังกัดกรมเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติหรือ DESA ได้อธิบายถึงการประเมินในแง่ดีนี้ว่า เศรษฐกิจใหญ่ๆและเศรษฐกิจเพิ่งเกิดใหม่บางเศรษฐกิจมีการเติบโตที่ดีกว่าที่คาดไว้ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และสร้างพลังขับเคลื่อนทำให้เศรษฐกิจโลกหลุดพ้นจากภาวะถดถอย นอกจากนี้ การที่เศรษฐกิจใหญ่ๆยังคงธำรงอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงต่อไปเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อโดยไม่ทำให้อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น มีส่วนร่วมเพิ่มความเชื่อมั่นต่อการเติบโตในเวลาที่จะถึง
สำหรับเศรษฐกิจใหญ่ๆของโลก เช่น สหรัฐ สหประชาชาติคาดการณ์ว่า จะเติบโตร้อยละ 2.3 ในปีนี้ และจีนซึ่งเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่อับดับ 2 ของโลกก็ได้รับการคาดการณ์ว่า จะเติบโตร้อยละ 4.8 ในปีนี้ ซึ่งสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนเมื่อต้นปีร้อยละ 0.1 ส่วนเศรษฐกิจเพิ่งเกิดใหม่ที่สำคัญอื่นๆ เช่น บราซิล อินเดียและรัสเซียก็ได้รับการประเมินในเชิงบวกเกี่ยวกับแนวโน้มการเติบโตเช่นกัน ในจำนวนเศรษฐกิจใหญ่ๆ มีเพียงยุโรปเท่านั้นที่ได้รับการประเมินในเชิงบวกน้อยลง เมื่อสหประชาชาติลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปหรือ EU จากร้อยละ 1.2 เหลือร้อยละ 1 ส่วนสำหรับเศรษฐกิจกำลังพัฒนา สหประชาชาติได้มีการประเมินในทางลบต่อแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจเหล่านี้ โดยเฉพาะในแอฟริกา สหประชาชาติประเมินว่า มีเกือบ 20 ประเทศที่กำลังตกเข้าสู่ปัญหาหนี้ ในขณะที่เศรษฐกิจใหญ่ๆของทวีปแอฟริกา เช่น อียิปต์ ไนจีเรียและแอฟริกาใต้ มีการเติบโตในระดับต่ำ นาย Shantanu Mukherjee แสดงความเห็นว่า
“ศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศไม่ได้เป็นไปในแง่ดี เราเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตของประเทศเหล่านี้เป็นประมาณร้อยละ 3.3 ในปีนี้และปีหน้า แต่ตัวเลขนี้ยังคงต่ำกว่าก่อนช่วงวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น การลดลงจึงไม่ได้รับการชดเชย ที่น่าสนใจคือ การคาดการณ์การเติบโตของแอฟริกาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดในปีนี้ลดลงเหลือร้อยละ 3.3”
ตามรายงานของสหประชาชาติ ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบในทางลบต่อศักยภาพของประเทศกำลังพัฒนาคือแนวโน้มลดลงที่ยืดเยื้อตั้งแต่ปี 2021 จนถึงปัจจุบันในด้านการลงทุนและการค้าทั่วโลก ซึ่งเป็น 2 ด้านที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาต้องพึ่งพาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะ การเติบโตของการลงทุนทั่วโลกในปีนี้ได้รับการคาดการณ์ว่า จะอยู่ที่เพียงร้อยละ 2.8 ซึ่งลดลงเป็นอย่างมากจากร้อยละ 3.7 เมื่อปีที่แล้วและร้อยละ 5.1 เมื่อปี 2022 ส่วนการเติบโตของการค้าทั่วโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำ มูลค่าการค้าลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2022 และลดลงร้อยละ 5 เมื่อปีที่แล้ว การที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นยังกลายเป็นภาระที่หนักหน่วงต่อกิจกรรมการนำเข้า โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และในทางเป็นจริง การแลกเปลี่ยนการค้าในกลุ่มใต้-ใต้ลดลงถึงร้อยละ 7 เมื่อปีที่แล้ว สำหรับประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตเป็นหลัก นี่คืออุปสรรคที่ยิ่งใหญ่ต่อการเติบโต
นาย Shantanu Mukherjee ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและนโยบายสังกัดกรมเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (un.org) |
ความเสี่ยงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
ในภาพรวม ถึงแม้จะเพิ่มการคาดการณ์การเติบโตทั่วโลก แต่สหประชาชาติยังได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับความเสี่ยงมากมาย โดยระบุว่า อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานในเศรษฐกิจใหญ่ๆ ปัญหาหนี้เสียและความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อต่อไปจะยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างภัยคุกคามต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและเสถียรภาพของหลายประเทศ โดยเฉพาะ สหประชาชาติประเมินว่า ผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างความท้าทายทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง สร้างภัยคุกคามต่อความสำเร็จในการพัฒนาเป็นเวลาหลายปีของหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดหรือ LDCs และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นหมู่เกาะขนาดเล็กหรือ SIDS ดังนั้น ตามความเห็นของนาย Shantanu Mukherjee ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและนโยบายของ DESA ในระยะยาว ประชาคมระหว่างประเทศต้องส่งเสริมกระบวนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมทั่วโลก อีกทั้ง จัดทำกลไกที่ช่วยให้ประเทศด้อยพัฒนาแต่มีทรัพยากรสำคัญที่อุดมสมบูรณ์สำหรับการเปลี่ยนแปลงพลังงานซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในแอฟริกาและอเมริกาใต้จะได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้นจากแหล่งทรัพยากรเหล่านี้
“ในรายงาน เราเห็นว่า มีปัญหาสำคัญ 2 เรื่องที่เกี่ยวข้องกัน 1 คือ การส่งเสริมการผลิตและแหล่งจัดสรรที่อุดมสมบูรณ์ของแร่ธาตุที่จำเป็นด้วยขอบเขตและอัตราที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงาน 2 คือวิธีการเพื่อให้ประเทศต่างๆ ที่มีความอุดมสมบูรณ์เกี่ยวกับทรัพยากรนี้สามารถเปลี่ยนให้เป็นความได้เปรียบในระยะยาวเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้”
การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สหประชาชาติระบุว่าสามารถส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในเวลาที่จะถึง โดย จะนำโอกาสมากมายมาสู่ประเทศต่างๆ แต่ก็สร้างความเสี่ยงเกี่ยวกับการเพิ่มช่องว่างทางเทคโนโลยีระหว่างเศรษฐกิจพัฒนากับเศรษฐกิจที่เหลือของโลก.
Quang Dung