(VOVWORLD) - ตามรายงานสถิติเกี่ยวกับเศรษฐกิจในเดือนสิงหาคมและในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2022 ที่เพิ่งประกาศโดยทบวงสถิติของกระทรวงวางแผนและการลงทุนปรากฎว่า เศรษฐกิจเวียดนามได้ฟื้นตัวมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด- 19 สัญญาณเศรษฐกิจในเชิงบวกยังคงแสดงให้เห็นต่อเนื่องในด้านต่างๆ เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรม การนำเข้าและการส่งออกสินค้าในขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ภายใต้การควบคุม
กิจกรรมขนถ่ายสินค้า ณ ท่าเรือกั๊ตล้าย เมืองทูดึ๊ก (VNA) |
การฟื้นตัวที่ชัดเจน
การฟื้นตัวที่ชัดเจนที่สุดคือกำลังซื้อของเศรษฐกิจ ทบวงสถิติระบุว่า กิจกรรมการค้าและบริการ "ฟื้นตัวในทุกอุตสาหกรรมและอยู่ในระดับสูง" เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021
โดยในเดือนสิงหาคมปี 2022 คาดว่า ยอดขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการจะเพิ่มขึ้น 0.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 50.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยมีอัตราการเติบโตที่สูงกว่าช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งที่น่าสนใจคือบริการด้านการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 65.4 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นได้สร้างแรงผลักดันให้แก่การผลิตภายในประเทศ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมหรือ IIP ในเดือนสิงหาคมปี 2022 เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยใน 8 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว เมื่อภาวะเศรษฐกิจเอื้ออำนวย สถานประกอบการก็เพิ่มการลงทุน การผลิตและประกอบธุรกิจ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เวียดนามมีบริษัทจดทะเบียนใหม่และกลับมาดำเนินการอีกครั้งเกือบ 150,000 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันมีส่วนร่วมที่สำคัญของสินค้าส่งออก ในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา คาดว่า มูลค่าการส่งออกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งตัวเลขนี้แสดงให้เห็นว่า เวียดนามยังคงเป็นสถานที่จัดสรรสินค้าสำคัญให้แก่ตลาดโลก ในฐานะประเทศที่เปิดกว้างด้านเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก การเป็นภาคีในข้อตกลงเอฟทีเอ 17 ฉบับ โดยมีข้อตกลงเอฟทีเอที่กำลังมีผลบังคับใช้ 15 ฉบับ และ กำลังทำการเจรจาอีก2ฉบับได้เปิดโอกาสมากมายเพื่อผลักดันการส่งออก ใช้ประโยชน์จากการให้สิทธิพิเศษด้านภาษีตามข้อตกลงเอฟทีเอแต่ละฉบับ รายงานล่าสุดของ Fitch Solutions ระบุว่า เวียดนามกำลังกลายเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจากความพยายามในการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจที่นำโดยรัฐบาลและการผสมผสามเข้ากับห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ผ่านข้อตกลงการค้าและการเป็นสมาชิกของกลุ่มต่างๆในระดับภูมิภาคและโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ ดร. เลยวีบิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Economica Vietnam กล่าวว่า
“ระดับการเกินดุลการค้านี้สนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของเวียดนามเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในสภาวการณ์ค่าเงินด่องต้องเผชิญกับแรงกดดันในเวลาที่ผ่านมา โดยทั่วไป อัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเมื่อดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 และอัตราเงินเฟ้อขั้นพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 นี่เป็นจุดเด่นของเวียดนามเมื่อหลายเศรษฐกิจในภูมิภาคและโลกกำลังต้องเผชิญกับอุปสรรคมากมาย
ดร. เลยวีบิ่ง ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจ Economica Vietnam (vnexpress) |
แนวโน้มที่สดใส
สามารถเห็นได้ว่า ดัชนีเศรษฐกิจมหภาคในเดือนสิงหาคมเพิ่มขึ้นอย่างเข้มแข็งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยสาเหตุหลักคือเวียดนามได้กลับมาเปิดประเทศอีกครั้งหลังจากสามารถป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 ได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า แม้ไม่คำนึงถึงปัจจัยดังกล่าว ก็ยังคงสามารถเห็นได้ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีความชัดเจนมาก โดยใน 8 เดือนที่ผ่านมาของปี 2022 ยอดค้าปลีกของสินค้าอุปโภคบริโภคและบริการได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
การที่ดัชนีของเศรษฐกิจมหภาคในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วได้รับการคาดหวังว่า อัตราการเติบโตจีดีพีของไตรมาสที่ 3 ของปีนี้จะอยู่ในระดับสูง ธนาคาร Standard Chartered เคยคาดการณ์ว่า การขยายตัวจีดีพีของเวียดนามในไตรมาสที่ 3 ของปี 2022 จะอยู่ที่ร้อยละ 10.8 ผู้เชี่ยวชาญหลายคนยังแสดงความเห็นว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การขยายตัวจีดีพีในไตรมาสที่ 3 จะอยู่ที่เลข 2 หลัก
บรรดานักวิเคราะห์ระบุว่า เวียดนามต้องเร่งเบิกจ่ายเงินลงทุนภาครัฐ มีความคล่องตัวในการบริหารนโยบายการเงิน งบประมาณและเน้นให้ความสนใจต่อการฟื้นฟูสถานประกอบการเพื่อธำรงอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเพื่อจำกัดผลกระทบในทางลบจากการบริหารนโยบายของประเทศใหญ่ๆในโลก ดร.ฟาน ชี้ แอง ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยบริหารธุรกิจหรือ CBAS ของมหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์สังกัดมหาวิทยาลัยแห่งชาติฮานอยกล่าวว่า
“การพัฒนาของสถานประกอบการและบริการคิดเป็นประมาณร้อยละ 40 ของการเติบโตจีดีพี ประจำปี ถ้าหากเราไม่สามารถแก้ปัญหาการสนับสนุนภาคส่วนนี้ได้ ก็จะนำไปสู่ความเสี่ยงในการค้ำประกันการเติบโตของจีดีพี”
เศรษฐกิจมหภาคที่มีเสถียรภาพในช่วงปลายปี 2022 ไม่เพียงแต่จะช่วยให้เวียดนามบรรลุเป้าหมายการเติบโตตลอดทั้งปีเท่านั้น หากยังเป็นพื้นฐานสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและยั่งยืนภายในปี 2023 อีกด้วย หวังว่า ภายใต้การบริหารของรัฐบาล กระทรวง สำนักงานและท้องถิ่นต่างๆ รวมทั้งความพยายามของชุมชนสถานประกอบการ ภาพรวมเศรษฐกิจของเวียดนามยังคงมีความสดใสต่อไป.