เหตุปะทะในเขต นาร์กอโน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) ตกเข้าสู่ภาวะอันตราย
Bá Thi -  
(VOVWORLD) - ในช่วงปลายเดือนกันยายน เขตนาร์กอโน-คาราบัค (Nagorno-Karabakh) ซึ่งเคยเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของอดีตสหภาพโซเวียดได้กลายเป็นจุดร้อนใหม่ที่ไม่คาดคิดของประชามติโลกเมื่อกองทัพของอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานได้ปะทะกันอย่างดุเดือดโดยใช้ทั้งรถถัง ปืนใหญ่และเครื่องบินรบ ซึ่งหลายคนกังวลว่า ถ้าหากไม่มีมาตรการแก้ปัญหาที่ทันท่วงที การปะทะนี้อาจบานปลายกลายเป็นเหตุที่เลวร้ายในภูมิภาค
ความสัมพันธ์ระหว่างอาร์เมเนียกับอาเซอร์ไบจานทวีความตึงเครียดมากขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายนเนื่องจากเกี่ยวข้องถึงเหตุปะทะในเขตนาร์กอโน-คาราบัค (vtc.vn) |
เหตุปะทะเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 27 กันยายน โดยกองทัพของทั้งสองประเทศต่างกล่าวหาอีกฝ่ายเปิดฉากโจมตีใส่เป้าหมายในเขตนาร์กอโน-คาราบัค ซึ่งเป็นเขตพิพาทระหว่างกันที่ยืดเยื้อมายาวนาน การโจมตีทางอากาศและการใช้ปืนใหญ่ได้สร้างความเสียหายให้แก่ทั้งสองประเทศ ในคำประกาศเมื่อวันที่ 28 กันยายน กระทรวงกลาโหมอาเซอร์ไบจานได้ยืนยันว่า ได้สังหารทหาร 550 นาย ทำลายรถหุ้มเกราะ 22 คัน ฐานยิงระบบป้องกันภัยทางอากาศ 15 แห่ง เครื่องบินไร้คนขับ 18 ลำ ฐานปืนใหญ่ 8 แห่งและคลังกระสุน 3 แห่งของอาร์เมเนีย ส่วนกองทัพอาร์เมเนียได้เผยว่า อาเซอร์ไบจานมีทหารเสียชีวิตเกือบ 200 นาย รถหุ้มเกราะถูกทำลาย 30 คัน อีกทั้งปฏิเสธตัวเลขผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตที่อาเซอร์ไบจานได้ประกาศ โดยยืนยันว่า อาร์เมเนียมีทหารเสียชีวิต 16 นายและได้รับบาดเจ็บ 100 นาย นอกจากนี้กองทัพทั้งสองประเทศยังเผยแพร่วีดีโอและภาพถ่ายเกี่ยวกับการโจมตีใส่กองทัพของอีกฝ่ายเพื่อเป็นหลักเห็นยืนยันถึงความเสียหายของอีกฝ่าย
การปะทะที่ดุเดือดและเสี่ยงทวีความรุนแรง
ตามแหล่งข่าวต่างๆและจากความเห็นบรรดานักวิเคราะห์ การปะทะระหว่างอาเซอร์ไบจานกับอาร์เมเนียเมื่อวันที่ 27 กันยายนมีความดุเดือดมากกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับการปะทะเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากทั้งสองฝ่ายได้ใช้อาวุธสงครามหนักหลายชนิด แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลกว่าในช่วงนี้คือ ทั้งสองฝ่ายยังคงแสดงทัศนะที่แข็งกร้าว ซึ่งอาจทำให้วิกฤตในปัจจุบันมีความรุนแรงมากขึ้น
โดยทั้งอาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานต่างกล่าวหาอีกฝ่ายว่าได้ระดมกองกำลังจากภายนอกเข้าร่วมการปะทะ ฝ่ายอาร์เมเนียได้กล่าวหาโดยไม่แสดงหลักฐานว่า ตุรกีส่งนักรบซีเรียเกือบ 4 พันนายพร้อมเครื่องบินไร้คนขับและผู้เชี่ยวชาญด้านทหารไปยังเขต นาร์กอโน-คาราบัค เพื่อสนับสนุนกองทัพอาเซอร์ไบจาน ส่วนทางการอาเซอร์ไบจานได้ปฏิเสธข้อมูลนี้พร้อมกล่าวหาอาร์เมเนียว่ากำลังใช้ทหารรับจ้างจากซีเรียและบางประเทศในตะวันออกกลางในการปะทะในเขต นาร์กอโน-คาราบัค แต่ก็ไม่ได้แสดงหลักฐานใดๆเช่นกัน
โดยเฉพาะ เมื่อวันที่ 28 กันยายน เอกอัครราชทูตอาเมเนียประจำรัสเซีย Vardan Toghanyan ได้เตือนว่า จะใช้ขีปนาวุธอิสกันเดอร์ ถ้าหากตุรกีส่งเครื่องบิน F-16 ไปยังเขต นาร์กอโน-คาราบัค เพื่อสนับสนุนอาเซอร์ไบจาน ส่วนรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซอร์ไบจาน Jeyhun Bayramov ก็ได้ประกาศตอบทันทีว่า จะใช้มาตรการตอบโต้ที่เหมาะสมถ้าหากอาร์เมเนียใช้ขีปนาวุธอิสกันเดอร์ ในขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 27 กันยายน ประธานาธิบดีตุรกี ไตยิป แอร์โดอัน ได้ยืนยันว่า จะสนับสนุนอาเซอร์ไบจานต่อไป
รถถังอาเซอร์ไบจานถูกกระสุนเผาไหม้ (AP) |
ประชาคมโลกแสดงความวิตกกังวล
จากสถานการณ์ที่รุนแรงในเขตนาร์กอโน-คาราบัค ประเทศมหาอำนาจต่างๆได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความอดกลั้น โดยเมื่อวันที่ 27 กันยายน ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดีเมียร์ ปูติน ได้แสดงความกังวลเป็นอย่างมากและเรียกร้องให้อาร์เมเนียและอาเซอร์ไบจานทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้การปะทะลุกลามและยุติความเกลียดชัง ในวันเดียวกัน ประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศว่า กำลังพิจารณาเรื่องนี้และแสดงความประสงค์ว่า ทั้งสองประเทศจะยุติการปะทะ เช่นเดียวกับทัศนะนี้ สหภาพยุโรปหรืออียูได้เตือนว่า ความตึงเครียดในเขตนาร์กอโน-คาราบัค มีความเสี่ยงที่จะยืดเยื้อและสร้างความเสียหายที่รุนแรง สร้างภัยคุกคามต่อเสถียรภาพในภูมิภาค อียูได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายหยุดยิงทันที ยุติปฏิบัติการที่เป็นศัตรู ลดความตึงเครียดและประเทศมหาอำนาจในภูมิภาคไม่ควรเข้าไปแทรกแซง
โดยเฉพาะ แหล่งข่าวด้านการทูตเมื่อวันที่ 28 กันยายนได้เผยว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติอาจจะจัดการประชุมลับฉุกเฉินในวันที่ 29 กันยายนเพื่อหารือเกี่ยวกับปัญหาการปะทะในเขตนาร์กอโน-คาราบัคโดยเยอรมนีและฝรั่งเศสเป็นฝ่ายเสนอให้จัดการประชุมดังกล่าว ในขณะที่ประเทศยุโรปอื่นๆซึ่งกำลังเป็นสมาชิกในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกอบด้วย เบลเยียม อังกฤษและเอสโตเนียได้สนับสนุนท่าทีนี้
บรรดานักวิเคราะห์แสดงความเชื่อมั่นว่า ถึงแม้การปะทะในนาร์กอโน-คาราบัค ยังคงรุนแรง แต่การเข้าร่วมอย่างรวดเร็วของประชาคมโลกเป็นสิ่งที่จำเป็นเป็นอย่างยิ่ง เพราะอาจช่วยคลี่คลายความตึงเครียดในปัจจุบัน โดยเฉพาะประเทศรัสเซียที่มีสถานะและความสัมพันธ์ด้านผลประโยชน์พิเศษในภูมิภาคจะพยายามป้องกันการปะทะที่อันตรายที่อาจเกิดขึ้นใกล้ชายแดนของตน./.
Bá Thi