งานเทศกาล ยิงโก-ลองหาย จุดเด่นของการท่องเที่ยวจังหวัดบ่าเหรียะ-หวุงเต่า
Lê Hoa -  
(VOVWORLD) -งานเทศกาล ยิงโก-ลองหาย(Dinh Cô- Long Hải) ที่จังหวัดบ่าเหรียะ-หวุงเต่า เป็นหนึ่งในงานเทศกาลทางทะเลที่ใหญ่ที่สุดของชาวประมงในเเถบทะเลภาคใต้ โดยเป็นงานเทศกาลด้านความเลื่อมใสบูชาเจ้าแม่ที่ถูกจัดขึ้นเสมือนเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวใหญ่ที่สุดประจำปีในท้องถิ่น ดังนั้น งานเทศกาลนี้ไม่เพียงแต่เป็นงานเฉพาะของจังหวัดเท่านั้น หากยังกลายเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่โดดเด่นของท้องถิ่นทางภาคใต้เวียดนาม
ตำนานเล่าว่าเมื่อ 2 ศตวรรษก่อน มีหญิงสาวชื่อ เลถิห่ง(Lê Thị Hồng)หรือที่รู้จักกันในชื่อ ถิแก๊ก มีบ้านเกิดที่ ตามกวาน จังหวัดบิ่งดิ๋งห์(Bình Định) ได้ตามพ่อเดินทางไปทำธุรกิจที่เขต บ่าเหรียะและก่อกงหลายครั้งจนมีความรักทิวทัศน์และผู้คนที่นี่ เธอมีจิตใจที่เมตตาอารีมากจนได้รับความรักใคร่จากผู้คนในท้องถิ่น แต่โชคร้ายที่ตอนอายุ 16 ปีเธอประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตขณะตามพ่อไปทะเล ชาวประมงในพื้นที่ได้ฝังศพเธอบนเนินเขาโกเซินและตั้งศาลเจ้าบูชาริมชายหาด ถึงปี 1930 ชาวประมงเขตลองหายได้ย้ายศาลเจ้าไปตั้งที่บนภูเขา กี่เวิน(Kỳ Vân) และกลายเป็นสถานที่บูชาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทุกปีชาวท้องถิ่นจะจัดเทศกาลยิงโกอย่างเคร่งขรึม
ตั้งแต่เช้าตรู่ของวันเทศกาลหลักซึ่งเป็นวันที่ 12 เดือนยี่ตามจันทรคติ มีการจัดขบวนเรือประมงออกสู่ทะเลในพิธี ยิงโก โดยมีการเลือกเรือประมงของชาวประมงที่เป็นนักเดินเรือที่เก่งที่สุดแห่งปีเป็นเรือนำขบวน บนเรือจะมีเกี้ยวแห่ ป้ายบูชา พร้อมคณะกรรมการดำเนินพิธีและผู้อาวุโสของชุมชน ขบวนเรือมุ่งออกทะเลท่ามกลางเสียงกลองดังกึกก้องประมาณ 2-3 ไมล์ทะเลเพื่อไปยังจุดที่หญิงสาวเลถิห่งเสียชีวิตในอดีตเพื่อทำพิธีสักการะอันเชิญดวงวิญญาณของนางกลับศาลเจ้าเพื่อร่วมงานเทศกาล
ในช่วงจัดงานเทศกาล ศาลเจ้า ยิงโก จะได้รับการตกแต่งอย่างเคร่งขรึมสวยงามด้วยโคมไฟและดอกไม้ บ้านทุกหลังตั้งโต๊ะเซ่นไหว้ที่มีธูปเทียน ขนม ผลไม้และข้าวเหนียว ตอนกลางคืนมีการแขวนโคมไฟ ส่วนเรือของชาวประมงจะจอดที่ท่าเทียบเรือพร้อมประดับโคมไฟกระดาษสีสันสดใสและรวมทั้งประดับดอกไม้ตั้งแต่หัวเรือจนถึงท้ายเรือรวมทั้งบนเสากระโดงเรือ โดยเรือจากหมู่บ้านชาวประมงต่างๆจากท้องถิ่นใกล้เคียงและเรือบางลำที่มาจากภาคกลางล้วนแต่มีความสวยงามมาก และที่สำคัญคือเรือทุกลำจะจอดหันหัวเรือไปทางศาลเจ้า ยิงโก เพื่อทำพิธีกรรม "การบูชาโก" นาย เจิ่นก๊วกเญิน รองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอเมือง ลองหาย อำเภอลองเดี่ยน กล่าวว่า "ผู้คนในท้องถิ่นมาร่วมเทศกาลยิงโก ก็เพื่อขอพรให้ชีวิตมีความสงบสุข ขอให้ดินฟ้าอากาศและคลื่นลมเอื้ออำนวยให้ชาวบ้านออกเดินเรืออย่างปลอดภัยและจับปลาได้เยอะๆ ซึ่งในปีต่อไปเราจะยกระดับเทศกาลนี้ด้วยการเพิ่มกิจกรรมที่เป็นเอกลักษณ์ต่างๆเพื่อให้สมกับการเป็นเทศกาลวัฒนธรรมประจำชาติ"
การแสดงร้องเพลงพื้นบ้าน บ๊าจ๋าวในเทศกาล ศาลเจ้ายิงโก
|
ในงานเทศกาล นอกจากพิธีกรรมเพื่อการเซ่นไหว้บูชาตามประเพณีแล้ว กิจกรรมรื่นเริงก็มีความโดดเด่นและสนุกสนานน่าสนใจ เช่น งานร้องเพลงพื้นบ้าน บ๊าจ๋าว การแสดงเดิ่นกาต่ายตื๋อ การปล่อยว่าวศิลปะบนชายหาด การแข่งขันวอลเลย์บอลชายหาด การเดินขาหยั่งบนหาดทราย เป็นต้น นาย โห่หงอกยาว รองผู้อำนวยการคณะบริหารเขตท่องเที่ยวต่างๆของอำเภอลองเดี่ยน เผยว่า "งานว่าวยิงโกปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรกซึ่งถือเป็นกิจกรรมเปิดงานรื่นเริงที่เป็นไฮไลท์ของเทศกาล ยิงโก และจะมีการจัดขึ้นอีกในปีต่อๆไป โดยเราตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มความหลากหลาย ความสนุกสนานร่าเริงที่น่าประทับใจมากขึ้นให้แก่งานเทศกาลนี้"
เมื่อปี 1995 โบราณสถานยิงโกได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งชาติและทางการจังหวัดบ่าเหรียะ-หวุงเต่า ก็ให้ความสำคัญต่อกิจกรรมนี้ โดยระบุให้เป็นหนึ่งในงานวัฒนธรรมการท่องเที่ยวใหญ่ประจำปีของจังหวัด จนถึงปัจจุบัน ภายหลัง 2 ทศวรรษแห่งการพัฒนาคงอยู่ ชาวอำเภอลองเดี่ยนก็มีความภูมิใจอีกครั้งเมื่อทางกระทรวงวัฒนธรรม กีฬาและท่องเที่ยว ได้ประกาศมติขึ้นทะเบียนงานเทศกาลศาลเจ้ายิงโก ลองหาย อำเภอลองเดี่ยน จังหวัดบ่าเหรียะ-หวุงเต่า ให้เป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมแห่งชาติ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2023 นายเลิมวันห่ง ประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอลองเดี่ยน เผยว่า "การที่งานเทศกาลศาลเจ้ายิงโกปี 2023 ได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมเป็นทั้งความภาคภูมิใจและเป็นพลังขับเคลื่อนให้ประชาชนในการส่งเสริมการอนุรักษ์มรดกท้องถิ่น ซึ่งทางการจังหวัดจะมีแผนการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพกิจกรรมต่างๆของงานเทศกาลเพื่อสร้างแรงดึงดูดใจและสร้างความประทับใจให้แก่นักท่องเที่ยวที่มาเยือน"
งานเทศกาล ยิงโกปี 2023 ได้ดึงดูดผู้คนเข้าร่วมกว่า 1 แสนคน สร้างบรรยากาศที่คึกคักให้แก่งานและเป็นการยืนยันถึงเอกลักษณ์ที่น่าสนใจ พร้อมทั้งสะท้อนความปรารถนาของประชาชนในการมีชีวิตที่ผาสุก./.
Lê Hoa