ผู้ประกอบการเวียดนามมั่นใจในการปรับเปลี่ยนท่าเรือเข้าสู่ยุคดิจิทัล
Huyền -  
(VOVWORLD) - เนื่องด้วยโลจิสติกส์เป็นอุตสาหกรรมบริการที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น เวียดนามกำลังมีการลงทุนในด้านเทคโนโลยีให้แก่ภาคอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นของตลาดขนส่งสินค้าทางทะเลทั้งในระดับภูมิภาคและโลก โดยกลุ่มผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของเวียดนามได้เดินหน้าในการปรับเปลี่ยนด้านดิจิทัลในภาคโลจิสติกส์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การให้บริการโซลูชันท่าเรือดิจิทัลหรือ Vietnam Smarthub Logistics
ท่าเรือ Cái Mép - Thị Vải (tuoitre.vn) |
ปัจจุบัน เวียดนามมีท่าเรือคอนเทนเนอร์รวม 145 แห่งที่กำลังให้บริการใน 25 เมือง โดยความเชื่อมโยงระหว่างปริมาณสินค้าที่เข้าและออกจากท่าเรือกับภาระงานความรับผิดชอบอยู่ในระดับสูง แต่เนื่องจากการดำเนินงานทั้งหมดยังคงได้รับการปฏิบติในรูปแบบเดิม จึงทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ในการบริหารจัดการและพัฒนาระบบท่าเรือ ซึ่งอย่างแรกคือเคลังสินค้าในท่าเรือ ก่อนหน้านี้ ตอนยังไม่มีโซลูชั่นเทคโนโลยีภายในประเทศที่สามารถตอบสนองความต้องการในการบริหารจัดการ ท่าเรือหลายแห่งต้องเลือกใช้โซลูชันจากต่างประเทศในราคาหลายแสนล้านด่ง ซึ่งยังไม่รวมค่าบำรุงรักษารายปี พนักงานปฏิบัติการ และการอัพเกรดซอฟต์แวร์ โดยเฉพาะในท่าเรือบางแห่งค่าบำรุงรักษารายปีสูงถึง 3.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งถือเป็นความท้าทายใหญ่ทั้งในด้านบุคลากรและการเงิน ฉะนั้น กลุ่มบริษัทเทคโนโลยีของเวียดนามจำนวนมากจึงได้ร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้
โซลูชัน Vietnam Smarthub Logistics เป็นกระบวนการทำงานในท่าเรือที่ได้มีการพัฒนาด้านดิจิทัลและจัดระเบียบผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ (dientuungdung.vn) |
โซลูชัน Vietnam Smarthub Logistics เป็นกระบวนการทำงานในท่าเรือที่ได้มีการพัฒนาด้านดิจิทัลและจัดระเบียบผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยระบบดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงปฏิสัมพันธ์และการค้นหาข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นโซลูชันครบวงจรสำหรับกระบวนการท่าเรือทั้งหมด ยิ่งไปกว่านั้น ในระบบนี้ก็มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการประมวลผล นาย เจิ่นเกียน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท Advantech Global Vietnam หนึ่งในองค์กรธุรกิจที่สร้างโซลูชันดิจิทัลสำหรับท่าเรือเวียดนาม เผยว่า
“สำหรับบริษัท Advantech ได้ออกแบบโซลูชันสำหรับรูปแบบท่าเรืออัจฉริยะ ซึ่งประกอบด้วยโมดูลต่างๆ เช่น การจัดการเข้าออกท่าเรือ การจัดวางตู้คอนเทนเนอร์ การควบคุมการทำงานของเครน การบริหารคลังสินค้า ห้องเย็น ตู้คอนเทนเนอร์ กองยานพาหนะ และการเชื่อมต่อสัญญาณไวไฟในระบบ ปัจจุบัน ท่าเรือทุกแห่งได้มีการใช้ซอฟต์แวร์ของตัวเอง ซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบที่อำนวยความสะดวกในการให้บริการและควบคุมสินค้าเข้าออกได้ดีขึ้น พร้อมทั้งช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำมากขึ้น”
ส่วนบริษัท Smarthub Logistics Technology ก็ได้สร้างระบบนิเวศที่สามารถตอบสนองความต้องการในการพัฒนาด้านดิจิทัลอย่างครอบคลุมของอุตสาหกรรมท่าเรือ ก่อนหน้านั้น การรับรองความถูกต้องของคอนเทนเนอร์ผ่านเกตเวย์ของท่าเรือโดยตรงต้องใช้เวลา 5 ถึง 8 นาที แต่ในปัจจุบัน ใช้เวลาเพียงแค่ 3 วินาทีด้วยการสแกน QR โค้ด พร้อมรับรองความถูกต้องด้วยเทคโนโลยี AI สำหรับการขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือ ก่อนหน้านี้ จะมีการควบคุมด้วยการสังเกตและจดบันทึกลงสมุดหรืออุปกรณ์พกพาส่วนตัวเท่านั้น แต่ด้วนระบบ Vietnam Smarthub Logistics สามารถตรวจสอบความถูกต้องของตู้คอนเทนเนอร์ที่ลงเรือด้วยเทคโนโลยี AI อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาการจัดเก็บและค้นหาข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการจัดเก็บข้อมูลบนเซิร์ฟเวอร์หรือคลาวด์ซึ่งมีต้นทุนที่ลดลงมากและสามารถสืบค้นได้ทันที ซึ่งสามารถใช้แทนการจัดสรรพื้นที่คลังจัดเก็บเอกสารในระยะเวลา 5 ปีตามกฎระเบียบ
ระบบ Vietnam Smarthub Logistics สามารถตรวจสอบความถูกต้องของตู้คอนเทนเนอร์ที่ลงเรือด้วยเทคโนโลยี AI (dientuungdung.vn) |
ระบบท่าเรือและการให้บริการโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานในท่าเรือนั้น มีบทบาทที่สำคัญเป็นพิเศษต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามเสมอ ด้วยการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือในช่วงเวลาที่ผ่านมา รวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลอย่างเข้มแข็ง ได้มีส่วนช่วยให้เวียดนามสามารถรับมือปัญหาเศรษฐกิจโลกในเชิงรุก ดึงดูดกระแสการลงทุนจากต่างประเทศสู่อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ท่าเรือ พร้อมทั้งสร้างเสถียรภาพให้แก่เศรษฐกิจมหภาค นาย Marcello Piazza กรรมการผู้จัดการบริษัทขนส่งสินค้า JAS Worldwide ได้แสดงความเห็นว่า
“อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ของเวียดนามมีการพัฒนาที่ดีตามกระแสการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ ดังนั้น ตลาดโลจิสติกส์ในเวียดนามมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก ทำให้นักลงทุนต่างชาติ รวมถึงบริษัทของพวกเราและกลุ่มบริษัทข้ามชาติอื่นๆ ในด้านนี้ กล้าที่จะทุ่มเงินลงทุนจำนวนมาก โดยความสามารถในการแข่งขันของเวียดนามจะขึ้นอยู่กับความคล่องตัวของกลุ่มนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่มีความคิดสร้างสรรค์ในการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศพร้อมการปรับใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ได้สร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติในการลงทุนในเวียดนาม”
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือที่มีคุณภาพสูงและการใช้ประโยชน์จากระบบท่าเรืออย่างมีประสิทธิภาพ ถือเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับการสร้างกลยุทธ์การพัฒนาเศรษฐกิจให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มประเทศที่มีจุดแข็งในด้านการส่งออก ส่วนในเวียดนาม การปรับเปลี่ยนท่าเรือเข้าสู่ยุคดิจิทัลถือเป็นความจำเป็นที่ต้องปฏิบัติเพื่อตอบสนองความต้องการในการพัฒนาเป็นประเทศอุตสาหกรรมที่ทันสมัย โดยการที่องค์กรธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศภายในประเทศหลายแห่งได้นำเสนอโซลูชันดิจิทัลต่างๆ เกี่ยวกับการบริหารจัดการ การชำระเงินทางออนไลน์ และการสร้างระบบนิเวศโลจิสติกส์ในท่าเรือ ด้วยจิตใจแห่งกลยุทธ์ Make in Vietnam นั้น จะช่วยให้ภาคเศรษฐกิจท่าเรือในเวียดนามมีการพัฒนาและบูรณาการได้อย่างยั่งยืน.
Huyền