เรื่องเล่าการปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลด้านอุตสาหกรรมการแปรรูปและจัดจำหน่ายอาหาร
(VOVWORLD) - ในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 การปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อสามารถสร้างความเชื่อมโยงและจัดจำหน่ายสินค้าในหลากหลายช่องทางถือเป็นทางเลือกเชิงปฏิบัติสำหรับหลายองค์กรธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ซึ่งในนั้น มีผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการแปรรูปและจัดจำหน่ายอาหารในเวียดนามจำนวนไม่น้อยกำลังปรับตัวให้เข้ากับกระแสดังกล่าว
พิธีลงนามบันทึกช่วยจำเพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่าง NIC Group กับสถาบันการเกษตรเวียดนามในการปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล (NIC) |
NIC Group เป็นองค์กรที่ประกอบธุรกิจหลากหลายสาขา โดยมีการจำหน่ายสินค้าและการให้บริการในหลายสาขาด้วยระบบโรงงานที่ตั้งอยู่ในจังหวัดและเมืองต่างๆ เช่น บั๊กยาง เอียนบ๊าย กวีเญิน บิ่งเยือง บิ่งเฟือก ยาลาย พร้อมพื้นที่ปลูกและแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเม็ดมะม่วงหิมพานต์ อบเชย และพริกไทย ราว 10,000 เฮกตาร์ ซึ่งทางบริษัทฯ ได้มีการวางแผนล่วงหน้าในการรับมือกับปัญหาตลาดถึงจุดอิ่มตัว ด้วยการขยายประเภทและหมวดหมู่สินค้าด้วยไลน์ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากผลไม้ เช่น ทุเรียน เสาวรส มะม่วง เป็นต้น ในกระบวนการนั้น บริษัทฯ ได้มองเห็นถึงความสำคัญในการผลักดันการส่งออกสินค้า ควบคู่กับการรักษาช่องทางการจำหน่ายสินค้าภายในประเทศ โดยเน้นถึงการค้าออนไลน์ข้ามพรมแดนแทนช่องทางการส่งออกแบบดั้งเดิม ซึ่งหมายความว่า ต้องเพิ่มการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลในด้านนี้ให้มากขึ้น นาย ดั่งแหม่งโฝ ตัวแทนจาก NIC Group เผยว่า
“พวกเราให้ความสนใจต่อระบบการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลในการบริหารจัดการสายการผลิตและห่วงโซ่อุปทานผลิตภัณฑ์การเกษตร ซึ่งถือเป็นประเด็นที่เร่งด่วนมาก สำหรับ NIC ที่ประกอบกิจการในภาคอุตสาหกรรมการเกษตรทั้งการจำหน่ายภายในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศ การประยุกต์ใช้และปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ”
ส่วนบริษัท IGV Group ก็ถือการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลและโซลูชั่นเทคโนโลยีที่ทันสมัยเป็นเครื่องมือในการแนะนำสินค้าต่างๆ ของบริษัทฯ ให้เข้าสู่ตลาดได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ แถกโก๋จ่า ที่ทำจากชา ซานเตวี๊ยดโบราณที่มีการเพาะปลูกในพื้นที่เขตเขาระหว่าง เตยโกนหลิง และ เชียวโหล่วที บนที่ราบสูงหินห่ายาง ซึ่งทีมงานฝ่ายพัฒนาสินค้าเชิงสร้างสรรค์ของบริษัทฯ ได้คิดค้นไลน์สินค้าที่หลากหลายขึ้น มีชื่อเรียกและรูปแบบที่แตกต่างน่าสนใจ นอกจากนั้น บริษัท IGV Group ยังให้ความสำคัญต่อการผลักดันการจำหน่ายสินค้าผ่านทางออนไลน์ควบคู่กับการแสวงหาช่องทางสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลให้แก่องค์กรธุรกิจ ซึ่งช่วยให้ยอดขายเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
ในขณะเดียวกัน ด้วยความเข้าใจถึงความต้องการของกลุ่มผู้ประกอบการในการประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัล หน่วยงานบริหารภาครัฐของเวียดนามได้ให้ความสำคัญและความพยายามอย่างมากเพื่อให้การสนับสนุนในด้านนี้ ตัวอย่างเช่น การเปิดตัว “คู่มือการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลให้แก่องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการแปรรูปและจัดจำหน่ายสินค้าอาหาร” เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลงานร่วมระหว่างกระทรวงวางแผนและการลงทุนกับกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม นาย เหงวียนดึ๊กจูง รองอธิบดีกรมพัฒนาสถานประกอบการ สังกัดกระทรวงวางแผนและการลงทุน ยืนยันว่า
“คู่มือเล่มนี้จะช่วยให้เกษตรกรเข้าใจถึงความสำคัญของกระบวนการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลผ่านการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า การลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโลยี และการเพิ่มมูลค่าสินค้า รวมถึงโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มตลาดส่งออก”
พิธีเปิดตัว “คู่มือการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลให้แก่องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการแปรรูปและจัดจำหน่ายสินค้าอาหาร” (MPI) |
คาดว่า ตลาดอาหารแปรรูปของโลกจะมีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.8 จนถึงปี 2028 โดยรัฐบาลเวียดนามถือภาคอุตสาหกรรมแขนงนี้เป็นหนึ่งในด้านที่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาเป็นอันดับต้นๆ ด้วยการประยุกต์ใช้หลากหลายวิธีในการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลอย่างคล่องตัว เช่น การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล การตรวจค้นแหล่งกำเนิดสินค้า การบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ การจัดการคลังสินค้าและสินค้าคงคลัง การควบคุมคุณภาพสินค้า การบริหารการค้าหลากหลายช่องทาง เป็นต้น ซึ่งในนั้น การบริหารการค้าหลากหลายช่องทางและการตรวจค้นแหล่งกำเนิดสินค้าถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อกระตุ้นยอดขายและเพิ่มความเชื่อมโยงในสภาวการณ์ปัจจุบัน นาย เหงวียนก๊วกตว๋าน ผู้อำนวยการศูนย์การปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลและสถิติการเกษตร สังกัดกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทเวียดนาม ได้แสดงความเห็นว่า
“ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก การเพาะเลี้ยง หรือการผลิต ด้านการประมงหรือป่าไม้ พวกเราต้องจัดทำข้อมูลให้อยู่ในระบบออนไลน์เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มองค์กรธุรกิจกับหน่วยงานบริหารภาครัฐ พร้อมทั้งลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกทั้งเล่าเรื่องราวประสบการณ์ตั้งแต่การเพาะปลูกหรือเพาะเลี้ยงและการผลิตจนไปถึงการแปรรูปผ่านกระบวนการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัล ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มมูลค่าสินค้า”
จากเรื่องราวต่างๆ ของบริษัท NIC และ IGV หรือความร่วมมือระหว่างกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐต่างๆ รวมถึงการเปิดตัวคู่มือการปรับเปลี่ยนทางดิจิทัลให้แก่องค์กรธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมด้านการแปรรูปและจัดจำหน่ายสินค้าอาหาร ได้แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมและความพยายามในกระบวนการปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัลทั้งในกลุ่มสถานประกอบการและในระดับมหาภาค เพื่อประชาสัมพันธ์และจำหน่ายสินค้าอาหารทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นก้าวเดินที่ถูกต้องและจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมมากขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในสภาวการณ์เศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยอุปสรรคมากมายและความผันผวนอย่างซับซ้อน.