(VOVWORLD) -การใช้วิธีการปลูกพืชอายุสั้นเพื่อพัฒนาการปลูกพืชยืนต้นและเลี้ยงปศุสัตว์ ได้ช่วยให้ครอบครัวของสามีภรรยา บุ่ยถิลี้และเหงียนวันเวือง ในตำบล เตี่ยนฟอง อำเภอ หวิงบ๋าว นครไฮฟอง สามารถผลิตผลิตภัณฑ์เกษตรแบบครบวงจรที่มีคุณภาพสูงและราคาย่อมเยา ซึ่งถือเป็นผลสำเร็จจากความกล้าคิดกล้าทำของคนรุ่นใหม่ในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพด้านการเกษตรที่บ้านเกิด
กรงเลี้ยงกระต่ายของครอบครัวนางลี้ |
ฟาร์มของครอบครัวนางบุ่ยถิลี้และสามีคือนายเหงียนวันเวือง มีพื้นที่ประมาณ 7,000 ตารางเมตร โดยตั้งชื่อฟาร์มว่า “หวานทู้ยาจาง” หมายถึงฟาร์มของสัตว์นับหมื่นตัว” โดยใช้รูปแบบการผสมผสานระหว่างการปลูกพืชและสัตว์เลี้ยงที่หลากหลายชนิดอย่างครบวงจรเพื่อลดต้นทุนการผลิต ไม่ใช้ยาปฎิชีวนะและปุ๋ยเคมีเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ที่ปลอดสารพิษ เฉลี่ยแต่ละปี ครอบครัวของเขาสามารถขายไก่ได้ประมาณ 2.4 ตัน ปลาและผลิตภัณฑ์การเกษตรชนิดต่างๆ 4 ตัน ได้กำไรประมาณ 500 ล้านด่ง
พื้นที่เลี้ยงสัตว์ของฟาร์มฯ กว้าง 500 ตร.ม. แบ่งเป็น 2 ชั้น ชั้นบนเป็นที่เลี้ยงจิ้งหรีด และชั้นล่างเลี้ยงกระต่ายประมาณ 1,000 ตัว โดยเฉลี่ยแต่ละเดือนขายเนื้อกระต่ายได้ 7-8 ตัน ส่วนด้านล่างกรงเลี้ยงกระต่ายเป็นพื้นที่สำหรับเลี้ยงไส้เดือนดินซึ่งทำหน้าที่บำบัดของเสียจากกระต่ายและขยะอินทรีย์ เป็นต้น และไส้เดือนดินนี้ก็นำมาเป็นอาหารเลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ และใช้เป็นปุ๋ยเพื่อปลูกพืชผักและผลไม้ต่างๆในฟาร์ม
น้อยคนนักที่จะรู้ว่า ก่อนที่จะมาเป็น "เจ้าของ" ฟาร์ม นาย เหงียนวันเวือง เคยเป็นลูกเรือ ส่วนนาง บุ่ยถิลี้ เรียนมหาวิทยาลัยครุศาสตร์ เมื่อปี 2017 สองสามีภรรยาตอนนั้นมีอายุ 34 ปี และ 28 ปี ได้ตัดสินใจกลับบ้านเกิดทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ดังนั้น กว่าจะประสบความสำเร็จในวันนี้ นาย เวืองและนาง ลี้ ต้องฟันฝ่าอุปสรรคมากมายและไปศึกษางานที่ฟาร์มต่างๆ ทั่วประเทศ ตอนแรก พวกเขาเลี้ยงนกพิราบสายพันธุ์ฝรั่งเศสและต้องซื้ออาหารเลี้ยงนกซึ่งมีต้นทุนสูงมาก แล้วก็เลือกวิธีการเลี้ยงปศุสัตว์แบบครบวงจรเพื่อสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น ในช่วงนั้น ตำบล เตี่ยนฟอง อนุญาตให้เกษตรสามารถแลกเปลี่ยนนาที่อยู่กระจัดกระจายห่างไกลกันให้ติดกันเป็นพื้นที่ทำเกษตรขนาดใหญ่ พวกเขาจึงตัดสินใจสร้างฟาร์มครบวงจรนี้ นาง บุ่ยถิลี้ เล่าว่า
“ตอนแรกเราประสบอุปสรรคมากมายเพราะไม่เคยทำนาและเลี้ยงปศุสัตว์ แต่ค่อยๆ เรียนรู้ประสบการณ์และศึกษาเพิ่มเติมจากฟาร์มอื่นๆ ในจังหวัดท้ายบิ่งห์ หายเยืองและอินเตอร์เนต เป็นต้น แล้วค่อยๆ ถอดประสบการณ์และประยุกต์ใช้ในฟาร์มของเรา”
นอกจากนี้ เธอยังประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการบริหารและการผลิตโดยใช้ระบบเครื่องทำความเย็นและติดตั้งระบบควบคุมอุณหภูมิอัตโนมัติและในเร็วๆนี้ ก็จะขยายฟาร์มตามรูปแบบฟาร์มสวน สร้างพื้นที่เลี้ยงปลาไหลและปูเพื่อใช้ประโยชน์จากแหล่งอาหารคือไส้เดือนดินและปลูกพืชสมุนไพร
นาย หวูวันถุ ประธานคณะกรรมการประชาชนตำบล เตี่ยนฟอง เผยว่า ความกล้าคิดกล้าทำและผลสำเร็จของสองสามีภรรยานายเวืองและนางลี้ได้ช่วยให้ชาวบ้านในท้องถิ่นเปลี่ยวความคิดและปฏิบัติตาม
“จากรูปแบบตัวอย่างของครอบครัวนางลี้ นับตั้งแต่ปี 2019 ถึงปัจจุบัน ในตำบลมีเยาวชนอีก 4 คนที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งทุกคนล้วนแค่เคยเป็นลูกจ้างในบริษัทต่างๆ มาก่อน แต่ด้วยความกล้าคิดกล้าทำพวกเขาจึงกลับบ้านเกิดทำธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยรูปแบบการเกษตรใหม่ ความคิดใหม่และวิธีการทำใหม่ได้รับการขยายผล ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร มีส่วนร่วมช่วยให้ตำบลฯ สามารถสร้างสรรค์ชนบทใหม่และผลักดันการพัฒนาเศรษฐกิจสังคม”
รูปแบบการปลูกพืชผักและเลี้ยงปศุสัตว์ครบวงจรและจิตใจการทำธุรกิจสตาร์ทอัพที่กล้าคิดกล้าทำของสองสามีภรรยานางลี้และนายเวืองได้รับหนังสือชมเชยจากอำเภอหวิงบ๋าวและกองเยาวชนคอมมิวนิสต์โฮจิมินห์สาขานครไฮฟอง พร้อมทั้งได้รับรางวัลและถูกเลือกให้เป็น “โครงการที่มีศักยภาพในการประกวด “บ่มเพาะการทำธุรกิจสตาร์ทอัพนครไฮฟอง” ปี 2021.