สตรีชนเผ่าไตมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าการเกษตรในเขตเขาอย่างมีประสิทธิภาพ
(VOVWORLD) -ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคกำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภค นาง ด่งถิเวินห่า จากแขวง อวยถวม เขตเหวี่ยนตุ๋ง นครบั๊กก๋าน จังหวัดบั๊กก๋าน ได้วิจัยและผลิตสบู่ ขนมไหว้พระจันทร์ ชาสมุนไพรและผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยต่างๆ จากฟักเขียว ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เฉพาะถิ่น เพื่อสร้างฐานะที่มั่นคงและหาช่องทางจำหน่ายสินค้าให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่น
นาง ด่งถิเวินห่า |
ชื่อของเครื่องหมายการค้า Slampe มาจากภาษาไต หมายถึง “บาเบ๋” ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งหมู่บ้านชนเผ่าไตที่เธออาศัยและเติบโต หลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ฮานอย เธอก็ทราบว่า ฟักเขียวสามารถนำมาใช้ทำเครื่องสำอาง และเป็นส่วนผสมในการผลิตสบู่หลาย ๆ แบบ เช่น สบู่ใบชิโสะและสบู่รำข้าว เป็นต้น ดังนั้น เมื่อปี 2019 เธอจึงเริ่มทดลองผลิตสบู่ที่มีส่วนผสมของฟักเขียวแม้จะล้มเหลวหลายครั้ง แต่ด้วยความพยายามในที่สุดเธอก็ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังได้รับใบรับรองด้านความปลอดภัยจากสำนักงานสาธารณสุขบั๊กก๋าน ถึงต้นปี 2022 เธอเริ่มได้รับใบสั่งซื้อจำนวนหนึ่ง เธอบอกว่า ฟักเขียวราคาอยู่ที่ประมาณ 1 หมื่น – 1 หมื่น 5 พันด่งต่อกิโลกรัม แต่บางช่วงชาวบ้านขายได้แค่ 5-6 พันด่งต่อกิโลกรัมเท่านั้น โดยฟักเขียว 1 กิโลกรัมผลิตสบู่ได้ 5 ก้อน ขายที่ราคาก้อนละ 6 หมื่น 5 พันด่ง ซึ่งสูงกว่าหลายเท่าเมื่อเทียบกับราคาขายฟักเขียวสด
“ตอนเป็นเด็กและไปโรงเรียน ดิฉันมักจะเห็นเกษตรกรเร่ขายฟักเขียวบ่อย ๆ แล้วลองคำนวณว่า ถ้าหากขายได้หมดก็จะได้เงินมากสุดประมาณ 2 แสนด่งเท่านั้น แต่การปลูกต้องใช้เวลานานและแรงงานจำนวนมาก หลายคนไม่ทราบว่าฟักเขียวเป็นพืชเฉพาะถิ่นของเรา และส่วนใหญ่ก็เอาไปประกอบอาหารเท่านั้น ทำให้ขายได้ไม่มาก แถมนักท่องเที่ยวก็ไม่มีใครซื้อฟักเขียวเป็นของฝาก ดังนั้น ดิฉันจึงมีแนวคิดอยากทำสบู่ฟักเขียวเพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยว”
ขนมไหว้พระจันทร์ใส้ฟักเขียวและใส้ชาเขียว |
ในปีนี้ อำเภอบาเบ๋มีพื้นที่ปลูกฟักเขียวประมาณ 200 เฮกตาร์ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ตำบลเดี๋ยลิงห์และตำบลเอียนเยือง นอกจากการผลิตสบู่แล้ว สหกรณ์ Slampe ของนาง ห่า ยังผลิตขนมไหว้พระจันทร์ใส้ฟักเขียวและใส้ชาเขียวที่มีรสชาติหวานกำลังดีและไม่ใส่วัตถุกันเสีย ส่วนชาสมุนไพรใช้วัตถุดิบคือฟักเขียวอบแห้งที่ขายในราคา 1 แสนด่งต่อกล่อง ถึงขณะนี้ ทางสหกรณ์ได้ช่วยเหลือเกษตรกรจำหน่ายฟักเขียวได้ประมาณ 50 ตัน และคาดว่า ถึงปลายปี จะสามารถจำหน่ายได้ 100 ตัน นาง ด่งถิหวอง ชาวบ้านคนหนึ่งในตำบลเดี๋ยลิงห์ อำเภอบาเบ๋ จังหวัดบั๊กก๋าน กล่าวว่า
“ครอบครัวเราขายฟักเขียวให้สหกรณ์ Slampe 10 ตันแล้ว โดยขายที่กิโลละ 1 หมื่นด่ง ได้เงินทั้งหมด 100 ล้านด่ง ซึ่งสูงกว่าราคาที่ขายในตลาดที่ขายได้แค่ 4-5 พันด่ง ฉันขายหมดแล้ว หลายคนในหมู่บ้านของเราก็ปลูกฟักเขียวตามมาตรฐานที่กำหนด ถ้าหากทางสหกรณ์สั่งซื้ออีก พวกเขาก็พร้อมขายให้”
นาง หว่างถิจาง ลูกค้าขาประจำของทางสหกรณ์ให้ข้อสังเกตว่า
“หวังว่า ผู้บริโภค ไม่เพียงแต่ในจังหวัดบั๊กก๋านเท่านั้น หากทั่วประเทศจะรู้จักเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของนางห่าและสหกรณ์ฯ เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคเหล่านี้ อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาสุขภาพ ขอให้คุณ จาง ประสบความสำเร็จมากขึ้น”
ปัจจุบันนี้ สหกรณ์ Slampe มีสมาชิกประจำ 7 คนและแรงงานล่วงเวลา อีก 12 คน ได้เงินเดือนประมาณ 5-6 ล้านด่ง แต่เพื่อให้ผู้บริโภครู้จักผลิตภัณฑ์ของทางสหกรณ์มากขึ้น นอกจากนำสินค้ามาจำหน่ายในเขตท่องเที่ยวแห่งชาติสระบาเบ๋และเข้าร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ ทั้งภายในและต่างจังหวัดแล้ว นางห่ายังหาทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านอี – คอมเมิร์ซอีกด้วย
“ในเมืองใหญ่ๆ ลูกค้ามักจะซื้อสินค้าออนไลน์ ดังนั้น ฉันก็พยายามเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัย ร่วมกับสมาชิกในสหกรณ์ ทั้งผู้สูอายุและคนรุ่นใหม่ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์เพื่อนำสินค้ามาขายบนแพลตฟอร์มอี – คอมเมิร์ซ โดยหวังว่า จะสามารถจำหน่ายไปยังต่างประเทศได้ด้วย”
ฟักเขียวคือผลิตภัณฑ์ OCOP ของจังหวัดบั๊กก๋าน ดังนั้น การต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีศักยภาพสูงของสหกรณ์ Slampe และการทำธุรกิจสตาร์ทอัพของนาง ด่งถิเวินห่า ควรได้รับความสนใจและความช่วยเหลือจากทางการทุกระดับมากขึ้น รวมทั้งในด้านเงินทุนเพื่อนำมาจัดหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยสำหรับใช้ในการผลิต เพื่อมีส่วนร่วมพัฒนาตลาดจำหน่ายให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากฟักเขียวของจังหวัด.