อาเซียนยังคงเป็นจุดเด่นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

(VOVWORLD) - ในช่วงเวลาที่ผ่านมา แหล่งเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเนื่องด้วยศักยภาพในการเติบโตที่ยังมีสูงมาก รวมถึงการลงนามข้อตกลงทางการค้าหลายฉบับ โดยรัฐบาลของกลุ่มประเทศอาเซียนก็ได้ให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการดึงดูดแหล่งเงินทุนต่างๆ พร้อมสร้างบรรยากาศการลงทุนและประกอบธุรกิจที่สะดวก ซึ่งทำให้ภูมิภาคแห่งนี้ยังคงเป็นจุดเด่นที่น่าจับตามองสำหรับนักลงทุนต่างชาติท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวนและเต็มไปด้วยความท้าทายมากมาย

 

อาเซียนยังคงเป็นจุดเด่นในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ - ảnh 1นาง Oh Young-joo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสตาร์ทอัพของสาธารณรัฐเกาหลี
 
 

ตามรายงานเกี่ยวกับการลงทุนจากต่างประเทศในอาเซียนหรือ AIR ที่ได้เผยแพร่เมื่อปลายปี 2023 ระบุว่า กระแสเงินทุนจากต่างประเทศหรือ FDI ในอาเซียนเมื่อปี 2022 บรรลุตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2 แสน 2 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 17 ของทุน FDI ทั่วโลก ซึ่งถือว่ามีความหมายอย่างยิ่งท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ประสบกับอุปสรรคต่างๆ  จนทำให้เงินทุน FDI ทั่วโลกลดลงร้อยละ 12 ไม่ว่าจะเป็น วิกฤตภูมิรัฐศาสตร์ ราคาอาหารและพลังงานพุ่งสูงขึ้น ความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยและแรงกดดันจากหนี้เสียที่นับวันเพิ่มขึ้นในหลายประเทศ ศาสตราจารย์ Ian Goldin อดีตรองประธานธนาคารโลกและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดของอังกฤษได้ประเมินว่า อาเซียนมีข้อได้เปรียบเฉพาะตัวหลายข้อในการดึงดูดเงินทุนจากต่างประเทศ

อย่างแรกคือ โลกาภิวัตน์ยังคงเป็นกระแสหลักของโลก ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนในภูมิภาคอาเซียนเพราะอาเซียนได้รับประโยชน์หลายอย่างจากกระแสนี้ ซึ่งมีส่วนช่วยลดความยากจนในอัตราที่เร็วขึ้นและมีการบูรณาการที่กว้างขวางและลึกซึ้งมากขึ้น กลุ่มชนชั้นกลางในอาเซียนเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีแหล่งบุคลากรที่อุดมสมบูรณ์ สำหรับภูมิภาคอาเซียนมีการดึงดูดโครงการลงทุนขนาดใหญ่หลายโครงการจากประเทศมหาอำนาจ ซึ่งเป็นผลจากการแข่งขันขยายอิทธิพลในภูมิภาคนี้ ท้ายที่สุดคือความมั่นคง ความสงบ และบทบาทการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน ซึ่งช่วยให้แหล่งเงินลงทุนใหม่ๆ ยังคงไหลเข้าสู่อาเซียนอย่างต่อเนื่อง

ในช่วงเวลาหลายปีผ่านมา ถึงแม้สิงคโปร์เป็นประเทศนำหน้าด้านปริมาณการลงทุน FDI ในภูมิภาค ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของเงินทุน FDI ทั้งหมดที่เข้ามาในอาเซียน แต่ประเทศสมาชิกอื่นๆ ก็ยังประสบผลสำเร็จที่โดดเด่นเช่นกัน โดยทุนจดทะเบียน FDI ในเวียดนามเมื่อปี 2023 มีมูลค่าอยู่ที่กว่า 36.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นตัวเลขสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ส่วนตามข้อมูลสถิติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนของไทย ระบุว่า ในปี 2023 ไทยสามารถดึงดูดเงินทุน FDI ได้มากถึง 18.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 72 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ก่อนหน้านั้น การเบิกจ่ายเงินทุน FDI เข้าสู่ประเทศอินโดนีเซียเมื่อปี 2022 บรรลุตัวเลขสูงสุดอยู่ที่ 45.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับกลุ่มประเทศหุ้นส่วนของอาเซียน สหรัฐฯ ยังคงรักษาตำแหน่งนักลงทุน FDI อันดับ 1 ในภูมิภาคนี้ โดยมีเงินลงทุนรวม 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2023 นาย Brian McFeeters รองประธานอาวุโสและกรรมการผู้จัดการระดับภูมิภาคของสภานักธุรกิจอาเซียน-สหรัฐอเมริกาหรือ USABC เผยว่า การที่มีนักธุรกิจสหรัฐฯ จำนวนกว่า 6,200 รายที่กำลังดำเนินกิจการอยู่ทั่วอาเซียนนั้น สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ประกอบการสหรัฐฯ ในการพัฒนาภูมิภาคนี้

จนถึงปัจจุบัน การลงทุน FDI ของสหรัฐฯ ในอาเซียนมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 362 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ผมอยากย้ำถึงตัวเลขนี้เพราะมากกว่าตัวเลขรวมที่สหรัฐฯ ได้ลงทุนในจีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่นในปัจจุบัน กลุ่มนักธุรกิจของพวกเรามีความสนใจในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลในอาเซียนเป็นอย่างมาก ซึ่งในอดีต เทคโนโลยีจากสหรัฐถูกสั่งห้ามใช้ในพื้นที่แห่งนี้ แต่ปัจจุบัน จากการสังเกตของผมเอง ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีที่ดีที่สุดของสหรัฐ เช่น ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ศูนย์ข้อมูลหรือ data center รวมถึงบริการซอฟต์แวร์ ล้วนปรากฏอยู่ที่นี่กันหมด นอกจากนี้ พวกเรายังคงรู้สึกยินดีกับการที่กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนลงนามในกรอบข้อตกลงเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนสู่ยุคดิจิทัล  ซึ่งจะช่วยให้กลุ่มนักลงทุนสามารถทำงานร่วมกับอาเซียนในฐานะหุ้นส่วนอย่างเป็นเอกฉันท์ แทนที่จะต้องประสานงานกับที่ละประเทศ

ถ้าหากสหรัฐฯ เป็นนักลงทุน FDI อันดับ 1 ในอาเซียนแล้ว เศรษฐกิจรายใหญ่อันดับสองของโลกอย่างประเทศจีนก็ไม่อยากสูญเสียอิทธิพลของตนในภูมิภาคนี้ โดยได้เสริมเงินทุน FDI ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนมากถึง 1 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในอาเซียนเมื่อปี 2022 เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 96 เมื่อเทียบกับช่วงปี 2020 โดยให้ความสนใจต่อภาคอุตสาหกรรมการผลิต เศรษฐกิจดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐาน และอสังหาริมทรัพย์ นอกเหนือจากสหรัฐและจีน ประเทศพันธมิตรดั้งเดิมรายอื่นๆ ของอาเซียน เช่น ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี ยังคงมองกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เหมาะสมในสภาวการณ์ที่ห่วงโซ่อุปทานกำลังมีความเปลี่ยนแปลงเพื่อลดการพึ่งพาตลาดจีน นาง Oh Young-joo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและสตาร์ทอัพของสาธารณรัฐเกาหลี แสดงความเห็นว่า

จากมุมมองของฉัน พวกเราต้องดึงดูดการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมในซัพพลายเชน โดยมีบริษัทจากสาธารณรัฐเกาหลีที่ลงทุนในอาเซียนหลายบริษัท ส่วนใหญ่จะพึ่งพาห่วงโซ่คุณค่าของตนเอง เนื่องจากยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมโยงกับกลุ่มนักธุรกิจท้องถิ่นได้ สำหรับรัฐบาลสาธารณรัฐเกาหลีให้คำมั่นที่จะอำนวยความสะดวกให้แก่กลุ่มธุรกิจ SME ในพื้นที่ สามารถเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานของพวกเรา โดยพวกเราจะเป็นผู้ประสานงานกลางเพื่อค้ำประกันได้ว่า กลุ่มผู้ประกอบการสาธารณรัฐเกาหลีจะปฏิบัติตามกฎหมายในประเทศอาเซียนเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ฉันหวังว่า รัฐบาลประเทศอาเซียนจะเสริมสร้างความร่วมมือกับทางการสาธารณรัฐเกาหลีและบรรดาผู้ประกอบการจากสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่ยั่งยืนและคล่องตัวในภูมิภาคนี้ในเวลาข้างหน้า

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจกำลังมีส่วนช่วยส่งเสริมการบริโภคในตลาดที่มีประชากร 700 ล้านคนของภูมิภาคอาเซียน โดยที่นี่มีอัตราการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่สูงที่สุดในโลก ในขณะที่ยอดรายรับจากอีคอมเมิร์ซทะลุตัวเลข 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อปี 2023 สำหรับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนนั้นยังคงมีการปรับใช้นโยบายสนับสนุนนักลงทุนต่างชาติมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่การสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มั่นคง พร้อมระบบกฎหมายที่ยุติธรรมและมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นเงื่อนไขที่เอื้ออำนวยให้เงินทุน FDI จะยังคงไหลเข้ามาสู่ภูมิภาคนี้ต่อไปในอนาคต./.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด