การอนุรักษ์วัฒนธรรมในเขตชายแดน
Việt Phú -  
(VOVWORLD) - การอนุรักษ์และส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆใน 54 ชนเผ่าเวียดนามคือประเด็นที่พรรคและรัฐให้ความสนใจเป็นพิเศษเพราะวัฒนธรรมเป็นพื้นฐานทางจิตใจ อีกทั้งเป็นเป้าหมายและพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนาของประชาชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ในการผสมผสานเข้ากับกระแสโลกในปัจจุบัน เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆกำลังมีความเสี่ยงที่จะสูญหายไป ดังนั้น จึงต้องมีมาตรการอนุรักษ์อย่างพร้อมเพรียง
การเล่นพิณติ๊งและการร้องเพลงทำนองแทน |
ชีวิตวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆในเขตชายแดนได้รับอิทธิพลจากการผสมผสานด้านวัฒนธรรมในภูมิภาค โดยนอกจากปัจจัยที่ดี ก็มีปัจจัยต่างๆที่ส่งผลกระทบในทางลบและทำให้เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆที่ได้รับการสืบทอดกันมาหลายรุ่นสูญหายไป นาง หว่างถิแอ๊งเตวี๊ยด ชนเผ่าไต ซึ่งเป็นสมาชิกคณะนาฏศิลป์จังหวัดกาวบั่งได้เผยว่า เธอชอบร้องเพลงพื้นเมืองทำนองแทน ซึ่งเป็นเพลงของชนเผ่าเธอและพยายามอนุรักษ์และแนะนำการร้องเพลงพื้นเมืองแทนในการแสดงในต่างจังหวัด แต่เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกแห่งความภาคภูมิใจและความรักศิลปะพื้นเมือง เช่น การร้องเพลงทำนองแทน ต้องสร้างบรรยากาศแห่งวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ “ที่จังหวัดกาวบั่ง ประชาชนส่วนใหญ่เป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆ ดังนั้น ต้องอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมเพราะมีความผูกพันกับขนบธรรมเนียมประเพณี ความเลื่อมใสและศาสนา”
อำเภอจุ่งแค้ง จังหวัดกาวบั่งมีแนวชายแดนติดกับประเทศจีน เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ขึ้นชื่อและดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศจำนวนมาก โดยนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่อยากค้นคว้าเอกลักษณ์วัฒนธรรมของท้องถิ่น ซึ่งนอกเหนือจากผลิตภัณฑ์และอาหารเฉพาะถิ่นแล้ว การร้องเพลงทำนองแทนของชนเผ่าไตและหนุ่งในเขตชายแดนนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวอย่างมีประสิทธิภาพ นาย มงวันหลุก รองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอจุ่งแค้ง จังหวัดกาวบั่งได้เผยว่า เพื่ออนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของศิลปะการร้องเพลงทำนองแทนอย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งที่สำคัญคือต้องส่งเสริมบทบาทของประชาชนในการร้องเพลงทำนองแทน โดยทางการอำเภอจุ่งแค้งได้ถือการอนุรักษ์วัฒนธรรมพื้นบ้านคือหน้าที่สำคัญในการผสมผสานเข้ากับกระแสโลก ดังนั้น ในหลายปีที่ผ่านมา ทางการอำเภอฯได้เน้นผลักดันการประชาสัมพันธ์เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกของประชาชนเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูเพลงทำนองแทนโบราณ การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเพื่อแนะนำและประชาสัมพันธ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของศิลปะการร้องเพลงทำนองแทนให้แก่นักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ “เมื่อเร็วๆนี้ พวกเราได้ประสานงานกับสมาคมอนุรักษ์เพลงพื้นเมืองจังหวัดกาวบั่งจัดกิจกรรมพบปะสังสรรค์เพื่อรวบรวม ประพันธ์และสอนการร้องเพลงทำนองแทนเพื่อส่งเสริมคุณค่าของศิลปะการร้องเพลงทำนองแทนควบคู่กับการการสอนการเล่นพิณติ๊งเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวบนพื้นฐานของการระดมพลังทุกแหล่งและส่งเสริมให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ”
การอนุรักษ์การร้องเพลงทำนองแทน โดยเฉพาะนโยบายให้สิทธิพิเศษต่อผู้ที่ร้องเพลงทำนองแทนคือประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก ศิลปินอาวุโสร้องเพลงทำนองแทนและเล่นพิณติ๊งเหงวียนวันเถาะ ชนเผ่าไตในจังหวัดหล่างเซินได้เผยว่า“หวังว่า หน่วยงานบริหารทุกระดับจะมีนโยบายต่างๆเพื่อสนับสนุนศิลปินอาวุโสแนะนำเอกลักษณ์วัฒนธรรมของศิลปะแขนงต่างๆให้แก่ประชาชนมากขึ้นเพราะมีศิลปินอาวุโสหลายคนที่มีส่วนอุทิศที่ยิ่งใหญ่ในการเผยแพร่วัฒนธรรมพื้นบ้านในหมู่บ้านต่างๆแต่ยังไม่ได้รับประกาศเกียรติคุณแต่อย่างใด”
ภาพในงานมหกรรมการร้องเพลงทำนองแทนและเล่นพิณติ๊งชนเผ่าไต หนุ่งและไททั่วประเทศครั้งที่ 6 |
แต่สิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่านั้นคือการผสมผสานด้านวัฒนธรรมท่ามกลางการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆจะสูญหายไป นอกจากนี้ จำนวนศิลปินอาวุโสที่หลงใหลวัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆเหลือไม่กี่คน ดังนั้นจึงต้องมีมาตรการอนุรักษ์และส่งเสริมคุณค่าวัฒนธรรมพื้นเมืองอย่างยั่งยืน นาง เหงวียนห่งเวิน รองผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวจังหวัดกาวบั่งได้เผยว่า“ต้องประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับศิลปะการร้องเพลงทำนองแทนมากขึ้น ปัจจุบัน สมาคมการร้องเพลงพื้นเมืองจังหวัดฯกำลังผลักดันการสอนการร้องเพลงต่างๆ พวกเราตั้งเป้าหมายว่า อำเภอทุกแห่งของจังหวัดกาวบั่งต่างมีสมาคมการร้องเพลงพื้นเมืองของตนเอง”
การอนุรักษ์และพัฒนาคุณค่าวัฒนธรรมพื้นบ้านของชนกลุ่มน้อยเผ่าต่างๆต้องได้รับการปฏิบัติควบคู่กับการขจัดประเพณีที่ล้าหลัง ส่วนในระยะยาว หน่วยงานวัฒนธรรมจังหวัดกาวบั่งจะปฏิบัติมาตรการที่จำเป็นเพื่ออนุรักษ์คุณค่าของศิลปะการร้องเพลงทำนองแทนอย่างมีประสิทธิภาพ.
Việt Phú