ศิลปะการทอลายผ้าพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้ง – มรดกวัฒนธรรมนามธรรมของเวียดนาม

(VOVWORLD) -ชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งอยู่อาศัยบนเขตเขาจึงมีชีวิตแบบผลิตเองใช้เองและประกอบอาชีพหัตถกรรมพื้นเมืองเป็นหลัก  โดยเฉพาะ การทอผ้าและตัดเย็บชุดพื้นเมืองที่ได้กลายเป็นอาชีพที่มีเสน่ห์และเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งและเมื่อต้นเดือนมีนาคม ศิลปะการทอลายผ้าบนชุดแต่งกายพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งในจังหวัดเดียนเบียนได้รับการรับรองเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมแห่งชาติ  
  ศิลปะการทอลายผ้าพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้ง – มรดกวัฒนธรรมนามธรรมของเวียดนาม - ảnh 1 ลวดลายต่างๆบนผ้า

นานมาแล้วที่การทอผ้าและผลิตภัณฑ์จากผ้าลายพื้นเมืองได้ปรากฎและพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการในการสวมใส่เพื่อความสวยงามและความเลื่อมใสของชาวม้ง โดยเฉพาะลวดลายต่างๆบนผ้า เป็นการบ่งบอกถึงคุณค่าทางวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ในชีวิตประจำวันของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้ง ซึ่งผ้าที่ทอด้วยมือของชนเผ่าม้งมีชื่อเสียงเนื่องจากมีลวดลายที่ปราณีตทั้งในด้านรูปแบบและอารมณ์ศิลป์ ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมทางจิตใจที่มีความหลากหลายงดงามของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้ง

สตรีชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งมีชื่อเสียงเกี่ยวกับฝีมือและเทคนิคการทอผ้าและตัดเย็บชุดพื้นเมืองที่สวยงามและเป็นเอกลักษณ์ โดยศิลปะการทำลวดลายต่างๆบนชุดแต่งกายของชาวม้งจะใช้เทคนิคการวาดลายบนผ้าด้วยขี้ผึ้ง  ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้  นาง เหงียนถิมายฮวา นักวิจัยเกี่ยวกับชุดแต่งกายของชนกลุ่มน้อยเผยว่า         “ผลิตภัณฑ์ต่างๆของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้ง เช่น กระโปรง เข็มขัด ผ้าโพกหัว ส่วนใหญ่ใช้เทคนิคการเย็บปักถักร้อย การตกแต่งผ่านการจับคู่ผ้า การวาดลายด้วยขี้ผึ้ง ซึ่งมักจะใช้รูปตัวอักษร “เถิ่บ”และ“ดิง” ในภาษาฮั่น พร้อมกับรูปทรงขนมเปียกปูนหรือรูปสามเหลี่ยม ผลิตภัณฑ์ของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งมีลวดลายหลายแบบ ซึ่งสะท้อนคุณค่า ความคล่องตัวและความแตกต่างของสตรีชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งกับชนเผ่าอื่นๆ”

ลวดลายต่างๆบนชุดแต่งกาย โดยเฉพาะกระโปรงของสตรีชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งได้สะท้อนวิถีชีวิตที่หลากหลายสีสัน ซึ่งไม่เพียงแต่ใช้สำหรับสวมใส่เพื่อปกปิดร่างกายเท่านั้นหากยังสวมใส่เพื่อความสวยงามอีกด้วย  ดังนั้นการทอผ้าและตัดเย็บชุดกระโปรงที่สวยงามก็ถือเป็นการประเมินทักษะความสามารถของสตรีชาวม้ง  ลวดลายบนผ้าล้วนมีสีสันหลากหลาย โดยมีการผสมระหว่างสีโทนร้อนต่างๆและใช้สีแดงเป็นสีหลักเพื่อสร้างความโดดเด่น    นอกจากนี้ ยังมีการผสมระหว่างการจับคู่ผ้า การปักและการวาดลายด้วยขี้ผึ้งจนทำให้ชุดแต่งกายของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งมีเอกลักษณ์และแตกต่างกับชุดแต่งกายของชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นๆ สตรีชาวม้งนิยมทอผ้าลายเรขาคณิต ลายดอกไม้และลายเกี่ยวกับมนุษย์ที่สะท้อนความสามารถในการผสมสี การแต่งตัว จิตใจและความปรารถนาในชีวิตประจำวัน

  ศิลปะการทอลายผ้าพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้ง – มรดกวัฒนธรรมนามธรรมของเวียดนาม - ảnh 2 การผสมระหว่างการจับคู่ผ้า การปักและการวาดลายด้วยขี้ผึ้งจนทำให้ชุดแต่งกายของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งมีเอกลักษณ์และแตกต่างกับชุดแต่งกายของชนกลุ่มน้อยเผ่าอื่นๆ 

เวลาได้ผ่านพ้นไปชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งยังคงให้ความสำคัญต่อการธำรงอาชีพทอผ้าพื้นเมืองและอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชุดแต่งกายพื้นเมือง และเมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ทางการและประชาชนอำเภอเหมื่องจ่า จังหวัดเดียนเบียนได้จัดพิธีรับมอบหนังสือรับรองศิลปะการทอลายพื้นเมืองบนชุดแต่งกายพื้นเมืองของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งเป็นมรดกวัฒนธรรมนามธรรมแห่งชาติ ซึ่งสร้างความปลื้มปิติยินดีให้แก่ชนกลุ่มน้อยเผ่าม้ง โดยเฉพาะชาวม้งในจังหวัดเดียนเบียน นาย จางอาหลือ รองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอเหมื่องจ่า จังหวัดเดียนเบียนเผยว่า            “นี่คือกิจกรรมทางการเมือง วัฒนธรรมและสังคมที่สำคัญของท้องถิ่น ชาวบ้านมีความยินดี เชื่อมั่นและมีความประสงค์ว่า พรรคและรัฐจะให้การดูแลเอาใจใส่ต่อไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้ชนกลุ่มน้อยธำรงและส่งเสริมเอกลักษณ์วัฒนธรรมของตน นี่คือความภาคภูมิใจของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้ง โดยเฉพาะชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งในจังหวัดเดียนเบียน”

ขณะนี้ นอกจากตัดเย็บชุดพื้นเมือง สตรีชนยังรู้จักการทำภาพพื้นเมือง  กระเป๋าแฟชั่นและถุงผ้าใส่โทรศัพท์มือถือเพื่อขายให้แก่นักท่องเที่ยวอีกด้วย ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ยังคงด้วยมือจึงช่วยให้หมู่บ้านของชนกลุ่มน้อยเผ่าม้งกลายเป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยวทั้งภายในและต่างประเทศ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด