สะท้อนความเป็นมนุษย์ผ่านจดหมายฉบับต่างๆที่เขียนในช่วงสงคราม
Lê Thơm, Lê Phương -  
(VOVWORLD) - จดหมายที่รีบเขียนบนกระดาษลอกลายคือภาพที่คุ้นเคยของครอบครัวเวียดนามหลายล้านครอบครัวในช่วงสงครามปกป้องเอกราช เสรีภาพและรวมประเทศเป็นเอกภาพ โดยจดหมายเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ปฏิวัติและความคิดที่เรียบง่ายที่เต็มไปด้วยความซาบซึ้งใจของทหารและประชาชน รวมถึงความมุ่งมั่นในการต่อสู้ของทหารในสมรภูมิ
จดหมายฉบับต่างๆที่เขียนในช่วงสงคราม (laodongxahoi.net) |
“ณ วันที่ 20 มกราคมปี 1968 ถึงพ่อแม่ที่เคารพ น้องๆที่คิดถึง ปี ผมได้จากพ่อแม่และบ้านเกิดไปตอนอายุ 16เพื่อสมัครเข้ากองกำลังต่อสู้กับศัตรูที่มารุกรานที่ทำลายบ้านเมือง ไม่ว่าประสบความยากลำบากแค่ไหน ผมก็จะพยายามฟันฝ่าให้ได้ ผมคิดถึงพ่อแม่และน้องๆมากและรอคอยจดหมายจากบ้านเกิดเพราะมันคือกำลังใจให้ผมได้ปักใจทำการต่อสู้ต่อไปจนกว่าจะได้รับชัยชนะประเทศได้รับเอกภาพ แล้วเราจะได้พบกันนะครับ” นี่คือเนื้อหาในจดหมายของนาย เลือง นาม เตี๋ยน ที่ส่งถึงครอบครัวก่อนสละชีพในสมรภูมิภาคใต้ ซึ่งถูกเรียบเรียงในหนังสือ “จดหมายในช่วงสงครามเวียดนาม”ของนักเขียน พันเอก ดั่ง เวือง ฮึง โดยจดหมายแต่ละฉบับสะท้อนให้เห็นถึงความคิดและความในใจของทหารในสมรภูมิที่ส่งถึงสมาชิกในครอบครัวและแฟน พันเอก ดั่ง เวือง ฮึง ได้เผยว่า“จดหมายฉบับที่เขียนในช่วงสงครามแตกต่างกับจดหมายเขียนในปัจจุบัน โดยในช่วงสงคราม จะใช้กระดาษทุกชนิดที่หาได้ รวมถึงใช้ปากกาหมึกซึมหรือปากกาลูกลื่นเพื่อเขียนจดหมาย การสื่อสารส่วนใหญ่จะทำผ่านการเขียนจดหมาย และคนสมัยนั้นไม่ได้มองว่าจดหมายเป็นของส่วนตัว เพราะเมื่อที่บ้านได้รับจดหมายจากทหารในแนวหน้า หรือทหารในแนวหน้าได้รับจดหมายจากภรรยาหรือคนรักก็มักจะให้คนรอบข้าง คนในหน่วยทหารหรือคนในชุมชนได้อ่านด้วยกัน”
จดหมายของทหารในสมรภูมิส่วนใหญ่มักเล่าเรื่องสถานการณ์สู้รบ การโจมตีและทำลายรถถังของศัตรู รวมถึงอุโมงค์ลับใต้ดิน การเสียสละของเพื่อนสหายและพิธีรับรองทหารเป็นสมาชิกพรรคฯท่ามกลางห่ากระสุนและระเบิดจากการโจมตีของศัตรู ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบรรยากาศสมรภูมิที่ดุเดือดและความเป็นความตายอยู่ห่างกันแค่เสี้ยววินาที พันเอก ดั่ง เวือง ฮึง ได้เผยต่อไปว่า“จดหมายในช่วงสงครามเปรียบเสมือนเป็นสื่อที่รายงานสถานการณ์ในสนามรบหรือเหตุการณ์ต่างๆในหมู่บ้าน โดยสิ่งที่สำคัญที่สุดคือทำให้คนในแนวหลังทราบว่า ญาติของพวกเขาในสมรภูมิยังปลอดภัยแม้ต้องใช้เวลาส่งหลายเดือนหรือเป็นปีถึงจะได้รับจดหมาย นอกจากนี้ จดหมายในช่วงสงครามถือเป็นที่พึ่งทางใจเพื่อช่วยให้ทหารและประชาชนเวียดนามพยายามฟันฝ่าอุปสรรคทั้งปวงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่างๆให้ลุล่วงไปด้วยดี”
นักเขียน พันเอก ดั่ง เวือง ฮึง (nhandan.vn) |
ไม่ว่าจะเป็นจดหมายที่ส่งถึงแฟนหรือพ่อแม่ เนื้อหาต่างก็พูดถึงความรักบ้านเกิด ประเทศและแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อภารกิจที่ได้รับจนกลายเป็นอุดมการณ์ในการใช้ชีวิตของทหารในสมรภูมิ นาง เล ถิ กิม ยุง ยังคงจำได้ดีถึงจดหมายของนาย ฝ่าม ซวน แซง ที่ส่งถึงเธอเมื่อกว่า 50 ปีก่อน
“เมื่อได้รับจดหมายจากแนวหน้า ดิฉันก็รู้สึกตื่นเต้นและดีใจมากเพราะต้องใช้เวลา 3-4 เดือนในการส่งจดหมายและทำให้รู้ว่า คนรักยังคงปลอดภัยอยู่ ส่วนดิฉันก็ได้ส่งจดหมายไปเพื่อเป็นกำลังใจให้คนรักในการสู้รบเพื่ออุดมการณ์ปฏิวัติและเพื่อช่วงชิงเอกราชและเอกภาพมาให้แก่ประเทศชาติ”
จดหมายที่เขียนในช่วงสงครามแสดงให้เห็นถึงอารมณ์ความรู้สึกที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความมั่นใจว่าต้องรบชนะ ความรัก ความคิดถึงบ้านเกิดและคนในครอบครัว รวมถึงความเศร้าโศก สำหรับจดหมายเหล่านี้ แม้กระดาษจะเปลี่ยนสีและหมึกปากกาจะจางลง แต่คุณค่าความเป็นมนุษย์ยังคงอยู่ไม่จางหายไป เจ้าของจดหมายเหล่านี้ส่วนใหญ่ได้เสียชีวิตไปแล้วและมีหลายคนที่เป็นทหารพลีชีพเพื่อชาติ ซึ่งทำให้จดหมายในช่วงสงครามเป็นสมบัติอันล้ำค่าและเป็นนิมิตหมายของช่วงเวลาที่รุ่งโรจน์ของประชาชาติเวียดนาม.
Lê Thơm, Lê Phương