การชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวบานปลายออกไปนอกประเทศสหรัฐ

(VOVWORLD) - ในช่วงนี้ ประชามติโลกกำลังให้ความสนใจถึงเหตุชุมนุมประท้วงที่บานปลายเป็นเหตุจราจลในสหรัฐเนื่องจากตำรวจ 4 นายในรัฐมินนิโซตาใช้กำลังเกินกว่าเหตุในการจับกุมชายผิวสีจนเสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ การชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวได้บานปลายออกไปนอกประเทศสหรัฐ
การชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวบานปลายออกไปนอกประเทศสหรัฐ - ảnh 1เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ณ เมือง โอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ มีประชาชนเกือบ 2 พันคนได้ชุมนุมประท้วงด้านหน้าสถานกงสุลสหรัฐ (THX)

นาย จอร์จ ฟลอยด์ ชายผิวดำ ชาวเมืองมินนีแอโปลิส รัฐมินนิโซตา ได้เสียชีวิต ณ โรงพยาบาลหลังจากถูกตำรวจผิวขาว Derek Chauvin ใช้เข่ากดทับลำคอเขาลงกับพื้นถนนเป็นเวลากว่า 9 นาทีในการจับกุมด้วยข้อหาใช้ธนบัตรปลอมซื้อของในร้านค้าแห่งหนึ่งเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม ถึงแม้สำนักงานตำรวจเมืองมินนีแอโปลิสได้ไล่ออกนาย Derek Chauvin และตำรวจอีก 3 นายที่อยู่ในเหตุการณ์ แต่การชุมนุมประท้วงยังคงเกิดขึ้นต่อไปและบานปลายจนกลายเป็นเหตุจราจล

การประนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวบานปลายไปทั่วประเทศสหรัฐ

จนถึงขณะนี้ ได้มีการประกาศคำสั่งเคอร์ฟิวในกว่า 40 เมืองที่เกิดเหตุจราจลจากทั้งหมด 140 เมืองที่มีการชุมนุมประท้วง โดยกองกำลังพิทักษ์มาตุภูมิเกือบ 5 พันนายได้ถูกส่งไปยังกรุงวอชิงตันและรัฐ 15 แห่งเพื่อรักษาความสงบและมีการเตรียมกำลังเสริมไว้อีก 2 พันนาย นี่เป็นการประกาศใช้คำสั่งเคอร์ฟิวในเมืองหลายแห่งของสหรัฐอีกครั้งนับตั้งแต่ปี 1968 ที่ศาสนาจารย์ชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน มาร์ติน ลูเธอร์ คิง (Martin Luther King) ถูกลอบสังหาร

จากสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ บารัค โอบามา ได้ออกมาประณามการใช้ความรุนแรงในการชุมนุมประท้วงดังกล่าว โดยในบทความที่ลงบนเว็บไซต์ Medium นาย บารัค โอบามา ได้ย้ำว่า การชุมนุมประท้วงจะมีประสิทธิภาพเมื่อข้อเสนอของพวกเขากลายเป็นนโยบายและช่วยขัดขวางไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอยเหมือนกรณีของนาย จอร์จ ฟลอยด์ ในวันเดียวกัน เลขาธิการใหญ่สหประชาชาติ อันโตนีโอ กูเตอร์เรส ได้เรียกร้องให้ชาวอเมริกันชุมนุมอย่างสงบ อีกทั้งเสนอให้ผู้นำสหรัฐใช้ความอดกลั้นและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน นายกรัฐมนตรีแคนาดา จัสติน ทรูโด ได้เผยว่า ชาวแคนาดารู้สึก “ตกใจ” ต่อการชุมนุมประท้วงที่บานปลายกลายเป็นเหตุจราจลในสหรัฐ

ตามรายงานของสื่อและพยานหลายคน สถานการณ์การใช้ความรุนแรงในปัจจุบันคือเหตุรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของสหรัฐ อย่างไรก็ตาม ได้ มีความคิดเห็นที่เตือนว่า สิ่งที่เลวร้ายที่สุดยังคงรออยู่เบื้องหน้า ซึ่งหมายความว่า ปัญหานี้อาจมีความซับซ้อนมากขึ้นและเป็นที่น่าสนใจว่า การชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวได้บานปลายออกไปนอกประเทศสหรัฐแล้ว

เหตุประท้วงบานปลายไปยังหลายประเทศ

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่เมือง โอ๊คแลนด์ ประเทศนิวซีแลนด์ ประชาชนเกือบ 2 พันคนได้ชุมนุมประท้วงที่บริเวณด้านหน้าสถานกงสุลสหรัฐโดยตะโกนข้อความ “ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีสันติภาพ” และเรียกร้องการให้ความสนใจถึงชีวิตของคนผิวสี ส่วนที่เมืองไครสต์เชิร์ช (Christchurch) ได้มีประชาชนประมาณ 500 คนออกมาชุมนุมประท้วง ที่ประเทศอังกฤษ ประชาชนนับร้อยคนได้ชุมนุมกันที่จัตุรัส Trafalgar ในกรุงลอนดอนและตะโกนข้อความที่สนับสนุนความเสมอภาคและสันติภาพ พร้อมทั้งเดินขบวนผ่านอาคารรัฐสภาก่อนที่จะไปหยุดที่บริเวณหน้าสถานทูตสหรัฐ ส่วนที่เยอรมนี ประชาชนนับร้อยคนได้ชุมนุมด้านหน้าสถานทูตสหรัฐในกรุงเบอร์ลินและตะโกนเรียกร้อง “ความยุติธรรมให้แก่นาย จอร์จ ฟลอยด์”

โดยเฉพาะ ที่แคนาดา เมื่อค่ำวันที่ 31 พฤษภาคมตามเวลาท้องถิ่น ประชาชนนับพันคนได้ชุมนุมด้านหน้าสำนักงานตำรวจในเมือง Montreal เพื่อประท้วงสถานการณ์การใช้ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องถึงการเหยียดสีผิว ผู้จัดการชุมนุมประท้วงเผยว่า เป้าหมายของกิจกรรมนี้คือต้องการแสดงการสนับสนุนขบวนการต่อต้านการเหยียดสีผิวในสหรัฐ ก่อนหน้านั้น 1 วัน ชาวแคนาดาประมาณ 4 พันคนในเมืองโตรอนโตได้ชุมนุมประท้วงสถานการณ์การเหยียดสีผิวและการเลือกปฏิบัติต่อคนพื้นเมือง ซึ่งผู้ชุมนุมได้มีการปะทะกับเจ้าหน้าที่และถูกจับหลายคน

ในขณะเดียวกัน ได้มีการเรียกร้องให้จัดการชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวในหลายประเทศยุโรป ลาตินอเมริกาและเอเชีย เพื่อแสดงการสนับสนุนการชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวในสหรัฐ แหล่งข่าวบางแห่งคาดการณ์ว่า การชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวที่มีจุดเริ่มต้นจากการชุมนุมในสหรัฐอาจบานปลายไปยังภูมิภาคและประเทศต่างๆในเวลาที่จะถึง

ตามความเห็นของบรรดานักวิเคราะห์ เหตุชุมนุมประท้วงต่อต้านการเหยียดสีผิวในสหรัฐที่บานปลายไปยังประเทศต่างๆแสดงให้เห็นว่า ปัญหาการเหยียดสีผิวยังคงเป็นประเด็นที่อ่อนไหวและได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชามติโลก ถึงแม้ยังมีหลายปัญหาที่ต้องกล่าวถึง เช่นปัญหาความรุนแรงและความวุ่นวาย แต่ที่ชัดเจนก็คือ ความมุ่งมั่นต่อสู้เพื่อสันติภาพ ความยุติธรรมและความชอบธรรมยังคงมีอยู่ในโลก.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด