มุ่งสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน

(VOVWORLD) - ในวันที่ 24 เมษายน ณ กรุงฮานอย จะมีการจัดการประชุมระดับโลกครั้งที่ 4 เกี่ยวกับระบบอาหารที่ยั่งยืน- เครือข่ายโลกใบเดียวของสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสนอมาตรการที่เป็นรูปธรรมสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารสามารถปฏิบัติได้ในระดับประเทศ
มุ่งสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน - ảnh 1(VGP)
นี่คือการประชุมระดับรัฐมนตรีซึ่งมีผู้แทน 300 คน จากประเทศต่าง ๆ สำนักงานของสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วม ภายใต้หัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงระบบอาหาร อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารยั่งยืน การปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสภาวการณ์ของวิกฤตครั้งใหม่” ที่ประชุมจะพิจารณาอุปสรรคและความท้าทายหลักที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารและเสนอมาตรการแก้ไขเพื่อค้ำประกันความมั่นคงด้านอาหารในทั่วโลก

ส่งเสริมความร่วมมือพหุภาคีเพื่อระบบอาหารที่ยั่งยืน

ระบบอาหารที่ยั่งยืนคือระบบที่มุ่งสู่เป้าหมายรักษาความมั่นคงด้านอาหาร โภชนาการและอาหารเพื่อสุขภาพ จำกัดผลกระทบในทางลบต่อสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงสวัสดิการทางเศรษฐกิจและสังคม

ระบบอาหารที่ยั่งยืนมีบทบาทที่สำคัญเป็นพิเศษในความพยายามเพื่อบรรลุทั้ง 17 เป้าหมาย การพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน การสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนกำลังเผชิญกับอุปสรรคมากมายเนื่องจากการชะงักของห่วงโซ่อุปทานซึ่งเป็นผลจากการปะทะทางทหารระหว่างรัสเซียกับยูเครน ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โรคระบาดและการเมืองที่ไร้เสถียรภาพในบางประเทศ

จากสถานการณ์ที่เป็นจริงดังกล่าวทำให้ต้องมีความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน  โดยเฉพาะ เมื่อประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 8 พันล้านคนในปัจจุบันเป็น 1 หมื่นล้านคนภายในปี 2050  นาย Stefanos Fotiou ผู้อำนวยการสำนักงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานระบบอาหารของสหประชาชาติกล่าวว่า ความร่วมมือเป็นทางเลือกเดียวเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถแก้ไขปัญหาเชิงระบบอย่างมีประสิทธิภาพ เพราะไม่มีประเทศใดที่สามารถส่งเสริมระบบอาหารที่ยั่งยืนได้เพียงลำพัง และความร่วมมือในกรอบสหประชาชาติยังคงเป็นความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพสำหรับความร่วมมือระดับโลกและนำโอกาสที่เท่าเทียมมาให้แก่ทุกคน ดังนั้นเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านนี้ จนถึงขณะนี้ สหประชาชาติได้จัดการประชุมระดับโลก 3 ครั้ง ด้วยแนวคิดเชิงปฏิบัติ ส่งเสริมการเจรจาและความร่วมมือในทุกระดับ พร้อมการเสนอความคิดริเริ่มต่างๆและสามารถพิสูจน์ให้เห็นถึงประสิทธิผลในภาคปฏิบัติภายหลังการประชุม 3 ครั้ง

ในการประชุมระดับโลกครั้งแรกเมื่อเดือนมิถุนายนปี 2017 ณ แอฟริกาใต้ บรรดาผู้แทนได้เห็นพ้องที่จะขยายเครือข่ายโครงการระบบอาหารที่ยั่งยืนหรือ SFS เพื่อให้ประเทศต่างๆในแอฟริกาและเอเชียเข้าร่วมมากขึ้น นอกจากการนำเสนอและการอภิปรายในการประชุมเชิงวิชาการแล้ว ได้มีการหารือเกี่ยวกับหัวข้อร่วมคือ การแปรแนวคิดและคำพูดให้เป็นการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและการเพิ่มความตระหนักทางการเมืองเพื่อค้ำประกันนโยบายที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงในระบบอาหาร

ส่วนในการประชุมครั้งที่ 2 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2019 ณ คอสตาริกา ที่ประชุมได้เห็นพ้องที่จะพัฒนารูปแบบของความร่วมมือเพื่อสนับสนุนระบบอาหารที่ยั่งยืน เสริมสร้างวิสัยทัศน์และความเข้าใจร่วมในการสร้างสรรค์ความไว้วางใจและพัฒนาทักษะความสามารถ โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางและกลุ่มด้อยโอกาส

ในขณะที่การประชุมออนไลน์ครั้งที่ 3 เมื่อเดือนธันวาคมปี 2020 บรรดาผู้แทนได้เห็นพ้องกันว่า การพัฒนาของระบบอาหารที่ยั่งยืนเป็นเนื้อหาหลักเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งหมด เช่น การมีส่วนร่วมต่อการแก้ปัญหาความยากจน การยุติความหิวโหย การบรรลุความมั่นคงด้านอาหารและการปรับปรุงโภชนาการและสุขภาพ สวัสดิการสังคมและส่งเสริมงานทำที่ยั่งยืน

ส่วนในการประชุมระดับโลกครั้งที่ 4 ที่จะมีขึ้นในระหว่างวันที่ 24 - 27 เดือนนี้ นาย Stefanos Fotiou ผู้อำนวยการสำนักงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ และผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานระบบอาหารของสหประชาชาติได้เผยว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายคือการหามาตรการแก้ไขความท้าทาย โดยจะแนวทางเพื่อเปลี่ยนแปลงระบบอาหารที่สามารถปฏิบัติได้ในระดับประเทศ

มุ่งสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน - ảnh 2ภาพการแถลงข่าว (qdnd.vn)

เวียดนามเป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาระดับโลก

เหตุผลที่สหประชาชาติเลือกเวียดนามเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 4 คือ ปัจจุบันเวียดนามเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก โดยเมื่อปีที่แล้ว เวียดนามส่งออกสินค้าเกษตร รวมมูลค่า 5 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำลังมุ่งสู่เป้าหมาย 5 หมื่น 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนี้  เวียดนามเป็นประเทศที่สหประชาชาติชื่นชมเป็นอย่างสูงเนื่องจากมีความรับผิดชอบต่อด้านอาหารโลก

การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมมีขึ้นในสภาวการณ์ที่อุตสาหกรรมการเกษตรของเวียดนามกำลังมุ่งสู่รูปแบบการเติบโตแบบบูรณาการที่สร้างมูลค่าจากการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง มีความหลากหลาย ยั่งยืน ปล่อยมลพิษต่ำ ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ บนพื้นฐานดังกล่าว เวียดนามมีความปรารถนาที่จะส่งสารในด้านสินค้าเกษตรให้ทั่วโลกรับทราบว่า “เวียดนามเป็นประเทศที่จัดสรรอาหารที่มีความโปร่งใส มีความรับผิดชอบและยั่งยืน” เป็นสมาชิกที่มีความรับผิดชอบต่อปัญหาระดับโลก รวมถึงความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่

อีกไม่ถึง 10 ปีต่อจากนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเสร็จสิ้นการปฏิบัติตามระเบียบวาระการประชุม 2030 เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติด้วยเป้าหมายหลักคือแก้ปัญหาความยากจนและนำโลกไปสู่สันติภาพ ความเจริญรุ่งเรืองและความเท่าเทียมกันสำหรับทุกคน ดังนั้นการจัดการประชุมระดับโลกครั้งที่ 4 เกี่ยวกับระบบอาหารที่ยั่งยืน-เครือข่ายโลกใบเดียวของสหประชาชาติในต้นสัปดาห์หน้าจึงถือเป็นก้าวเดินที่จำเป็นเพื่อมีส่วนร่วมต่อการเสร็จสิ้นแผนงานตามระเบียบวาระการประชุม 2030 และส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทั่วโลก.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด