(VOVWORLD) - เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม ปี 1945 เป็นครั้งแรกที่ธงแดงดาวเหลืองโบกสะบัดบนยอดป้อมปราการพระราชวังหลวงด้านหน้าประตูเหงาะโมนหรือประตูเที่ยงวัน ซึ่งนับเป็นก้าวสำคัญทางประวัติศาสตร์ของการปฏิวัติฤดูใบไม้ร่วงในดินแดนแห่งกรุงเก่าเว้ต่อความสำเร็จของการปฏิวัติเดือนสิงหาคมปี 1945 อันเป็นการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม
การสละราชสมบัติของกษัตริย์บ๋าวด่าย |
เวลา 9 โมงเช้าของวันที่ 21 สิงหาคมปี 1945 การที่ธงแดงดาวเหลืองโบกสะบัดบนยอดป้อมปราการพระราชวังหลวง ด้านหน้าประตูเหงาะโมนในดินแดนแห่งกรุงเก่าเว้แทนธงชาติประจำราชวงศ์เหงวียน ถือเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความซาบซึ้งใจให้แก่ประชาชนชาวเว้ นาย ดั่งวันเหวียด และนาย เหงวียนเท้เลือง เป็นผู้ที่รับหน้าที่เชิญธงอันทรงเกียรติ อันเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ครั้งสำคัญ ภายหลังเหตการณ์นั้นสองวัน เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมปี 1945 เกิดการปฏิวัติเดือนสิงหาคมและประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในเมืองเว้ พร้อมกับการเสนอตัวของคณะกรรมาธิการปฏิวัติภาคกลางและจังหวัดเถื่อเทียนเว้ หนึ่งอาทิตย์ต่อมา ณ ประตูเหงาะโมน จักรพรรดิ บ๋าวด่าย ทรงประกาศสละราชสมบัติพร้อมมอบตราประทับและดาบให้แก่คณะผู้แทนรัฐบาลกลางนำโดยนาย เจิ่นฮวีเหลี่ยว
ภาพธงแดงดาวเหลืองโบกสะบัดบนยอดป้อมปราการพระราชวังหลวงก่อนเกิดการปฏิวัติในกรุงเก่าเว้ นั้นถือเป็นจุดสิ้นสุดการครองราชย์ของกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์เหงวียน อีกทั้งเสริมพลังใจต่อการลุกขึ้นสู้เพื่อยึดอำนาจในเมืองเว้จนสำเร็จ อันเป็นส่วนสำคัญต่อการปฏิวัติเดือนสิงหาคมและการสถาปนาประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนาม รองศาสตราจารย์ ด็อกเตอร์ โด๋บาง รองประธานสมาคมวิทยาศาสตร์ประวัติศาสตร์เวียดนาม ย้ำว่า
“พิธีการมอบดาบของจักรพรรดิ บ๋าวด่าย ในเมืองเว้ เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ปี 1945 ถือเป็นเหตุการณ์ทางกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งจนถึงวันที่ 2 กันยายน ปี 1945 พวกเราก็มีพื้นฐานทางกฎหมายที่ครบถ้วนสมบูรณ์ในการประกาศเอกราช โดยถ้าหากไม่มีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 30 สิงหาคมก็อาจไม่ได้รับการยอมรับทางกฎหมายระหว่างประเทศ”
ส่วนพิธีสละราชสมบัติของจักรพรรดิ บ๋าวด่าย ถือเป็นจุดสิ้นสุดของราชวงศ์สุดท้ายในประวัติศาสตร์เวียดนาม โดยในคำประกาศสละราชสมบัติของจักรพรรดิ บ๋าวด่าย ได้เขียนไว้ว่า “ในตลอด 20 ปีที่ครองอำนาจ เจ้าได้ผ่านพ้นสุขทุกข์มากมายเพียงใด เจ้าอยากเป็นพลเมืองของประเทศที่เสรีภาพแทนที่เป็นกษัตริย์ของประเทศที่ตกเป็นเมืองขึ้น” นักวิจัย เหงวียนวันฮวา ได้แสดงความเห็นว่า
“ภายหลังพิธีสละราชสมบัติ จักรพรรดิ บ๋าวด่าย ได้กลายเป็นพลเมืองชื่อ หวิงถวิ และยิ่งไปกว่านั้น ท่านได้รับคำเชิญจากประธานโฮจิมินห์ให้ไปทำงานเป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลเฉพาะกาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยเวียดนามที่กรุงฮานอย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแรงชักจูงอย่างมากที่มีต่อสมาชิกราชวงศ์เหงวียน โดยที่จริงแล้ว ภายหลังการปฏิวัติเดือนสิงหาคม มีสมาชิกราชวงศ์เหงวียนหลายคนมีความเชื่อต่อประธานโฮจิมินห์และเส้นทางการปฏิวัติ พร้อมอุทิศตนเพื่อมาตุภูมิและประเทศชาติอย่างเต็มใจ”
ประชาชนไปยังสนามกีฬาเว้ในฤดูใบไม้ร่วงเดือนสิงหาคมปี 1945 |
ป้อมปราการพระราชวังหลวงเว้ หรือหอธงชาติกรุงเก่าเว้ ได้สร้างขึ้นมาพร้อมกับอาคารอื่นๆ ภายในพระบรมมหาราชวังเมื่อปี 1807 หรือปีจักรพรรดิยาลองที่ 6 และผ่านการบำรุงซ่อมแซมหลายครั้งในปี 1829, 1831 และ 1840 ซึ่งประกอบด้วยสองส่วนคือฐานตั้งและหอธง โดยฐานตั้งมี 3 ชั้น ความสูง 17.5 เมตร ส่วนหอธงมีความสูงถึง 37 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางเมืองและถือเป็นสัญลักษณ์ของแผ่นดินแห่งกรุงเก่าเว้ เป็นสักขีพยานในการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทางประวัติศาสตร์ของประเทศ ปัจจุบัน ป้อมปราการพระราชวังหลวงและประตูเหงาะโมน เป็นจุดดึงดูดผู้มาเยือนเขตโบราณสถานกรุงเก่าเว้เป็นจำนวนมาก นางเหงวียถิแทงหย่าน นักท่องเที่ยวจากจังหวัดทายบิ่ง เผยว่า
“เมื่อได้มาเยือนพระบรมมหาราชวัง พวกเราได้รับการแนะนำและมีความเข้าใจมากขึ้นเกี่ยวกับโบราณสถานแห่งนี้ ถนน 23 สิงหาคม หอธง ประตูเหงาะมน และโบราณสถานอีกหลายแห่งที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของจักรพรรดิ บ๋าวด่าย จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์เหงวียนที่สละราชสมบัติพร้อมมอบดาบให้แก่รัฐบาลปฏิวัติ”
นอกเหนือจากเขตโบราณสถานหอธงชาติเว้แล้ว พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จังหวัดเถื่อเทียนเว้ กำลังเก็บบันทึกเอกสาร รูปภาพ และโบราณวัตถุ ราว 600 ชิ้น ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิวัติเดือนสิงหาคมในเมืองเว้ โดยทางพิพิธภัณฑ์ฯ ได้ทำการเก็บบันทึกและรวบรวมเอกสารต่างๆ จากประชาชน บรรดาผู้ที่บำเพ็ญประโยชน์ต่อการปฏิวัติ และหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ อย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ซึ่งหลังจากได้รับการรักษาและจำแนกแล้ว จะได้จัดแสดงให้แก่สาธารณชนเมื่อถึงวันรำลึกการปฏิวัติเดือนสิงหาคมของทุกปี นาย เหงวียนดึ๊กโหลก ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์จังหวัดเถื่อเทียนเว้ เผยว่า
“เมื่อถึงช่วงเวลารำลึก การปฏิวัติเดือนสิงหาคม พวกเราได้ให้ความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์ไปยังหน่วยงานท้องถิ่นทุกระดับ นอกจากนี้ ในเวลาข้างหน้า พวกเราจะส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานด้านนี้ ผ่านเว็บไซต์อิเล็กทรอนิกส์ของพิพิธภัณฑ์และแฟนเพจในเฟซบุ๊ก อีกทั้งสร้างคลังคำถามและภาพเคลื่อนไหวสำหรับการประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียอื่นๆ อีกด้วย”
ทั้งนี้ การที่ธงแดงดาวเหลืองโบกสะบัดบนยอดป้อมปราการพระราชวังหลวงเว้ในตลอดราว 8 ทศวรรษที่ผ่านมา ถือเป็นสัญลักษณ์อันศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวเนื่องกับประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ การรักษาเอกราชของประเทศชาติ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงใหม่และพัฒนาประเทศ.