มาตรการพัฒนาการเกษตรเพื่อรับมือปัญหาน้ำทะเลซึม
Vĩnh Phong -  
(VOVWORLD) - ในเวลาที่ผ่านมา ปัญหาน้ำทะเลซึมได้ส่งผลกระทบอย่างหนักต่อการผลิตและการดำรงชีวิตของประชาชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง แต่ปัญหาน้ำทะเลซึมก็ได้สร้างบทเรียน ประสบการณ์และวิธีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมเพื่อให้ทางการและประชาชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงรับมือปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพในเวลาที่จะถึง
ประชาชนในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงได้รับความเสียหายอย่างหนักจากภัยแล้งและปัญหาน้ำทะเลซึม |
การผลิตเกษตรถือเป็นด้านเศรษฐกิจหลักของเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงที่ต้องได้รับการพัฒนา ทำให้ต้องมีการมาตรการเบื้องต้นเพื่อรับมือปัญหาน้ำทะเลซึมที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ตามรายงานสถิติ เขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงมีพื้นที่ปลูกไม้ผลเกือบ 7,000 เฮกตาร์ และพื้นที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 8,000 เฮกตาร์ที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำทะเลซึม เมื่อเทียบกับปี 2016 ในปีนี้ ปัญหาน้ำทะเลซึมกินระยะเวลายาวนานกว่า แต่ก็สร้างความเสียหายน้อยกว่า โดยฤดูข้าวหน้าปีได้รับความเสียหายไม่ถึงร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมด นาย เหงียนซวนเกื่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและพัฒนาชนบทแสดงความเห็นว่า มาตรการที่ท้องถิ่นต่างๆในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาน้ำทะเลซึม เช่น การเปลี่ยนช่วงเวลาหว่านข้าว เปลี่ยนแปลงโครงสร้างพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ได้เกิดประสิทธิผล รวมถึงการก่อสร้างกิจการต่างๆ เช่นระบบชลประทานก็มีส่วนช่วยควบคุมปัญหาน้ำทะเลซึม “1 คือพวกเราได้ระบุความท้าทายนี้ตั้งแต่เนิ่นๆ และหารือกลุ่มมาตรการเพื่อรับมือตั้งแต่ปลายปี 2019 2 คือพวกเราได้ปฏิบัติกลุ่มมาตรการอย่างพร้อมเพรียงและได้ผลักดัน 5 โครงการก่อสร้างเพื่อควบคุมปัญหาน้ำทะเลซึมโดยเร็ว 3 คือพวกเราได้ส่งเสริมให้ปลูกข้าวนาปีเร็วขึ้น 1 เดือน ซึ่งการปฏิบัตินี้แสดงให้เห็นถึงความเห็นพ้องเป็นเอกฉันท์ของระบบการเมือง โดยเฉพาะประชาชน”
ตามความเห็นของหน่วยงานที่เชี่ยวชาญ ผลกระทบที่เกิดขึ้นบริเวณแม่น้ำโขงตอนบนจะส่งผลให้ปัญหาน้ำทะเลซึมกินพื้นที่กว้างขึ้น ทำให้การผลิตเกษตรของเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงจะต้องเผชิญกับความท้าทายต่อไป นาย กาว วัน จ่อง ประธานคณะกรรมการประชาชนจังหวัดเบ๊นแจเผยว่า เพื่อช่วยให้การผลิตเกษตรรับมือปัญหาน้ำทะเลซึมที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ทางการจังหวัดกำลังกำหนดแนวทางพัฒนาการเกษตรในระยะยาวให้สอดคล้องกับพื้นที่ 3แบบคือน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม “การพัฒนาการเกษตรต้องสอดคล้องกับพื้นที่ 3 รูปแบบคือน้ำจืด น้ำกร่อยและน้ำเค็ม โดยสำหรับพื้นที่น้ำจืดต้องเน้นพัฒนาเขตปลูกไม้ผลที่มีความพิเศษและเป็นจุดแข็งของเขต เช่นส้มโอเปลือกเขียว ทุเรียน มังคุดและเงาะ ควบคู่กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด สำหรับพื้นที่น้ำกร่อย ทางการจังหวัดส่งเสริมให้ประชาชนปลูกมะพร้าว ผลไม้ควบคู่กับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สำหรับพื้นที่น้ำเค็ม จะเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำต่างๆ เช่นกุ้งทะเล หอยกาบและการทำประมง นี่คือแนวทางที่ถูกต้องและพวกเราจะเดินหน้าปฏิบัติ”
เจ้าของสวนในจังหวัดเตี่ยนยางประหยัดน้ำในการดูแลสวนทุเรียน |
ที่เขตราบลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อถึงช่วงฤดูน้ำทะเลหนุน แหล่งน้ำสำหรับใช้เพื่อการผลิตและการดำรงชีวิตถือเป็นปัญหาที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง ตามความเห็นของรองศาสตราจารย์ ดร. เลแองต๊วน รองหัวหน้าสถาบันวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากมหาวิทยาลัยเกิ่นเทอ ปัญหาน้ำทะเลซึมเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีและผันผวนอย่างซับซ้อนทำให้หน่วยงานการเกษตรต้องพัฒนาแนวทางรับมือในระยะยาว ส่วงเสริมการประหยัดน้ำ ทำการสำรองน้ำตามอ่างเก็บน้ำต่างๆและกักเก็บน้ำฝนเพื่อเอาไว้ในช่วงฤดูแล้งและช่วงที่ประสบปัญหาน้ำทะเลซึม
เช่นเดียวกับ ดร. เลแองต๊วน ดร. ด่าวจ่องตื๊อ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาทรัพยากรน้ำและการรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืนได้แสดงความเห็นว่า การบริหารจัดการแหล่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพคือปัญหาสำคัญในการรับมือปัญหาน้ำทะเลซึมของเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง ในระยะยาว การผลิตของเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงต้องมาผลิตตามแนวทางที่สอดคล้องกับเงื่อนไขธรรมชาติ ความผันผวนของแหล่งน้ำและสภาพอากาศ เช่น เปลี่ยนจากการปลูกข้าวมาปลูกพืชอื่นๆ เป็นต้น “ปัจจุบัน กำลังมีการเปลี่ยนแปลงแนวทางทำการเกษตรโดยจะไม่เน้นแต่การปลูกข้าวถึงแม้พื้นที่ในเขตนี้จะมีศักยภาพในการปลูกข้าวก็ตาม เช่นจังหวัดเบ๊นแจได้วางแผนทำการปลูกข้าวในระดับหนึ่ง สำหรับ 8 จังหวัดริมฝั่งทะเลที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งและน้ำทะเลซึมก็จะหันไปเน้นทำการผลิตสัตว์น้ำ ผลไม้และพืชทนแล้งเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ นี่คือแนวทางที่ดีเพื่อใช้แหล่งน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ”
การพัฒนาการเกษตรด้วยการเป็นฝ่ายรุกในการรับมือปัญหาน้ำทะเลซึม ทำการผลิตตามแนวทางที่ยั่งยืนและรับมือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศคือแนวทางที่ท้องถิ่นต่างๆในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำโขงต้องปฏิบัติโดยทางการปกครองท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติแนวทางและนโยบายที่วางไว้เป็นอย่างดี ส่วนประชาชนต้องเป็นฝ่ายรุกในการอัพเดทข้อมูลที่เกี่ยวข้องถึงการผลิต การประยุกต์ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและทำการเพาะปลูกอัจฉริยะเพื่อปกป้องผลสำเร็จในการพัฒนาและมีชีวิตที่มั่นคง./.
Vĩnh Phong