(VOVWORLD) - ภาพบนกระจกคือศิลปะพื้นเมืองที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจากประชาชนในจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้เวียดนาม ซึ่งแตกต่างกับภาพบนกระจกในท้องถิ่นอื่น เช่น ล้ายเทียวในจังหวัดบิ่งเยือง เจอะเลิ้นในนครโฮจิมินห์และเจอะเม้ยในจังหวัดอานยางซึ่งเป็นภาพวาดที่ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน แต่ภาพพิมพ์กระจกในหมู่บ้านเฟือกถวน ตำบลฟูเติน อำเภอโจวแถ่ง จังหวัดซ็อกจัก เป็นภาพที่ได้รับวัฒนธรรมจากชาวเขมร
ภาพบนกระจก |
อาชีพวาดภาพบนกระจกที่หมู่บ้านเฟือกถวนมีชื่อเสียงมานานแล้ว โดยมีอายุนานกว่าครึ่งศตวรรษ โดยภาพพิมพ์ต่างๆ ส่วนใหญ่จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ทิวทัศน์ในหมู่บ้านชนบทหรือวัดวาอารามต่างๆ ซึ่งทุกคนจะซื้อภาพวาเหล่านี้เพื่อนำมาบูชาหรือตกแต่งบ้าน นาย เหงียนวันหมี รองประธานคณะกรรมการประชาชนอำเภอโจวแถ่ง เผยว่า “ภาพเหล่านี้สวยมาก นอกจากภาพเขตชนบทที่สวยงามแล้วก็ยังมีภาพที่เล่าเรื่องราวต่างๆ และตำนานที่ให้การศึกษา ชาวเขมรนับถือพุทธศาสนา จึงมักจะวาดภาพพระพุทธเจ้า วัดวาอารามต่างๆ เพื่อสอนให้ผู้คนทำดี อาชีพนี้ป็นอาชีพที่เก่าแก่ของชาวเขมร ซึ่งในอดีต แต่ละบ้านต่างใช้ภาพนี้เพื่อตกแต่งบ้าน ช่วยให้อาชีพนี้พัฒนาเป็นอย่างมาก”
ในอดีต ถ้าหากเดินทางไปเยือนตำบลฟูเติน นักท่องเที่ยวจะได้เห็นภาพพิมพ์เหล่านี้ถูกวางตากแห้งหน้าบ้าน โดยทั้งตำบล มีครอบครัวกว่า 100 ครอบครัวทำอาชีพนี้แล้วนำมาขายในจังหวัดและนครใหญ่ๆ ทางภาคใต้เวียดนาม แต่เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีและการแข่งขันของภาพพิมพ์ชนิดอื่นๆ ปัจจุบัน เหลือคนทำอาชีพนี้เพียงคนเดียวนั่นคือ คุณป้า เจี๋ยวถิวุย ในหมู่บ้านเฟือกถวน โดยภาพพิมพ์ของเธอได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่ามีรายได้ไม่มากนักแต่เธอก็ทำเพราะความรักและความปรารถนาที่จะอนุรักษ์เอกลักษณ์วัฒนธรรมของชนกลุ่มน้อยเผ่าเขมรเอาไว้ได้ เธอบอกว่า
“ดิฉันชอบอาชีพนี้มาก ซึ่งอยากสืบทอดให้แก่คนรุ่นใหม่ในหมู่บ้านเพื่ออนุรักษ์การพิมพ์ภาพพระพุทธเจ้าบนกระจก ดิฉันเปิดสอนอาชีพนี้ โดยมีคนมาเรียน 12 คน ซึ่งในนั้นมี 4 คนที่วาดภาพได้สวยมาก”
คุณป้า เจี๋ยวถิวุย |
ในการพิมพ์ภาพบนกระจก ผู้วาดต้องมีความพิถีพิถันและมีทักษะความสามารถในการผสมสีและการวาดลายเส้นที่เฉียบคม ภาพถูกพิมพ์บนกระจกด้วยสีสันที่หลากหลาย ขั้นตอนที่ยุ่งยากที่สุดคือ การวาดพระเนตรและพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า โดยพระเนตรต้องสื่อความรู้สึกและพระโอษฐ์ต้องดูเหมือนกำลังยิ้ม คุณป้า เจี๋ยวถิวุย กล่าวว่า
“ขั้นตอนต่างๆ ของการพิมพ์ภาพบนกระจก คือ ต้องเตรียมกระจก สี พู่กันและแม่พิมพ์ ในอดีต ชาวบ้านทุกคน ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือเด็กก็สามารถใช้แม่พิมพ์วาดภาพนี้ได้ ซึ่งช่วยให้อาชีพนี้ได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ คนในหมู่บ้านเฟือกถวนมักวาดภาพพระพุทธเจ้า เพราะเราเป็นชาวเขมรที่บูชาพระพุทธเจ้า”
เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาอาชีพนี้ ทางการท้องถิ่นได้สนับสนุนชาวบ้านในการเรียนอาชีพ สืบทอดและประชาสัมพันธ์สินค้าตามงานแสดงสินค้าและงานนิทรรศการต่างๆ นาย ฝ่ามวันเตวี๋ยน รองประธานคณะกรรมการประชาชนตำบลฟู้เติน ได้เผยว่า
“ทางการท้องถิ่นได้ยื่นขอการอนุมัติจากทางการอำเภอเพื่อสนับสนุนคุณ วุย สืบทอดอาชีพนี้ให้แก่คนรุ่นหลัง โดยเปิดชั้นเรียนได้ 1 ชั้น เพราะตอนนี้เหลือแค่คุณ วุย คนเดียวที่กำลังทำอาชีพนี้อยู่”
วาดภาพบนกระจกถือเป็นงานหัตถกรรมที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรทำแทนได้ ซึ่งสำหรับชนกลุ่มน้อยเขมรในจังหวัดซ็อกจัง นี่ไม่เพียงแต่เป็นอาชีพพื้นเมืองเท่านั้น หากยักเป็นเอกลักษณ์วัฒนธรรมที่ต้องอนุรักษ์เอาไว้อีกด้วย.