กัมพูชาเสริมสร้างทักษะความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน
็Hoang Hai - Van Do - VOV -  
(VOVWORLD) - ด้วยวัตถุประสงค์ที่จะเสริมสร้างทักษะความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สมาคมธนาคารกัมพูชาหรือ The Association of Banks in Cambodia และสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชาหรือ CMA ได้ร่วมกับบริษัท Credit Bureau Campuchia และบริษัท Apsara Media Services เปิดตัวรายการโทรทัศน์ “Financial Street” ภายใต้การสนับสนุนของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ที่มุ่งเน้นให้ความรู้ด้านกฎหมาย หลักการคุ้มครองลูกค้า ความรู้ทางการเงิน ความปลอดภัยทางการเงินดิจิทัล รวมถึงความเสี่ยงในภาคการเงินและธนาคาร
พิธีเปิดตัวรายการโทรทัศน์ “Financial Street”
|
รายการ “Financial Street” ในปีแรกมีทั้งหมด 20 ตอน ซึ่งออกอากาศทุกอาทิตย์ตั้งแต่เดือนเมษายนบนช่อง Apsara รวมถึงผ่านแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ของ Apsara Media สมาคมธนาคารกัมพูชา สมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา บริษัท Credit Bureau Campuchia และองค์กรการเงินของกัมพูชาจำนวนมาก เพื่อมีส่วนช่วยในการดำเนินแผนปฏิบัติการยุทธศาสตร์แห่งชาติเกี่ยวกับบริการทางการเงินที่ทั่วถึงระยะปี 2019-2025 ที่ธนาคารแห่งชาติกัมพูชาได้ตั้งไว้ โดยจะมีการหยิบยกประเด็นต่างๆ ที่ผู้ให้บริการทางการเงินและประชาชนทั่วไปกำลังเผชิญในปัจจุบัน เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ พร้อมเสนอวิธีแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงกลุ่มผู้ประกอบการที่ให้บริการ ลูกค้า และประชาชนทั่วไป ดังนั้น รายการนี้จึงได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มวัยหนุ่มสาวและวัยทำงานที่กำลังมีความต้องการสูงในการใช้จ่าย การออมเงิน การกู้เงิน หรือการลงทุนขนาดใหญ่ แต่ยังไม่มีประสบการณ์ในการบริหารการเงินส่วนบุคคลมากนัก คุณ Chey Sopha อายุ 25 ปี ที่อาศัยในกรุงพนมเปญ เผยว่า
“แม้รายได้ต่อเดือนของผมถือว่าสูงกว่าฐานเงินเดือนทั่วไป แต่ถึงช่วงเวลาปลายปี ผมไม่สามารถเก็บเงินออมได้มากนัก จริงๆ แล้ว การวางแผนทางการเงิน การใช้จ่ายและเก็บเงินออมรวมถึงการลงทุนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับผม ไม่รู้ว่าต้องใช้จ่ายอย่างไรให้สมดุลกับเงินเก็บ หรือถ้าอยากเริ่มต้นธุรกิจต้องบริหารการเงินอย่างไร ดังนั้น ผมหวังว่า รายการนี้จะช่วยเพิ่มพูนความรู้และแบ่งปันประสบการณ์ในด้านนี้ให้ผมมากขึ้นต่อไป”
ตามรายงานการประเมินของธนาคารแห่งชาติกัมพูชา ชาวกัมพูชาในปัจจุบันมีความรู้ด้านการเงินค่อนข้างจำกัด ตั้งแต่วิธีการบริหารเงินและรายได้ การใช้จ่าย การออมเงิน การจัดการและการใช้วงเงินสินเชื่อให้เหมาะสมกับการเติบโต โดยการขาดความรู้ทางการเงินและไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้น จะทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่จะถูกกีดกันจากความต้องการที่จำเป็น 4 ประการ ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การศึกษา สาธารณสุข และโอกาสทางธุรกิจ อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคขัดขวางต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การเสริมสร้างทักษะความรู้ทางการเงินจึงมีบทบาทสำคัญที่จะช่วยให้ประชาชนและกลุ่มผู้ประกอบการสามารถบริหารการเงินของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมช่วยให้หลุดพ้นจากภาวะหนี้สินพอกพูน นาย Kaing Tongngy หัวหน้าฝ่ายสารสนเทศของสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา กล่าวว่า
“กัมพูชามีเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนา ดังนั้น การส่งเสริมความรู้ทางการเงินจะเปิดโอกาสให้แก่ผู้คนในการเริ่มต้นทำธุรกิจหรือขยายกิจการ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งจะมีส่วนช่วยทำให้ระบบการเงินของประเทศอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่งขึ้น นอกจากนี้ ในปัจจุบัน การฉ้อโกงและการแสวงประโยชน์บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต่างๆ ก็มีหลากหลายรูปแบบ ทำให้ประชาชนต้องเสริมสร้างความรู้ทางการเงินมากขึ้น เพื่อสามารถคัดเลือกข้อมูลและปกป้องทรัพย์สินได้ด้วยตนเอง ในขณะที่ปัญหาภายนอกต่างๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อสูง รวมถึงความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ก็ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชาวกัมพูชา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นประเด็นที่พวกเราจะพูดคุยกันในรายการนี้ เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนวางแผนการออมเงินและการใช้จ่ายเพื่อฟันฝ่าภาวะวิกฤติ”
นาย Kaing Tongngy หัวหน้าฝ่ายสารสนเทศของสมาคมไมโครไฟแนนซ์กัมพูชา |
นาย Kaing Tongngy ยังเผยต่อไปว่า ระบบการเงินของกัมพูชาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมามีการพัฒนาอย่างแข็งแกร่ง โดยประชาชนทั้งในเขตเมืองหรือชนบทต่างก็สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ แต่อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียน ความรู้ทางการเงินของชาวกัมพูชายังอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ สภาพแวดล้อมทางการเงินระหว่างประเทศในยุคปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วยรูปแบบและเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย โดยวิธีการลงทุนหรือออมเงินในยุคก่อนมีความแตกต่างจากยุคปัจจุบัน ซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในอนาคตด้วยทางเลือกต่างๆ ที่หลากหลายมากขึ้น นี่นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ดังนั้น รายการ "Financial Street" จึงไม่เพียงแค่เผยแพร่มุมมองและความคิดเห็นจากบรรดาผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้เท่านั้น แต่ยังเปิดโอกาสให้ประชาชน ซึ่งเป็นผู้ใช้บริการทางการเงิน แบ่งปันประสบการณ์และปัญหาของตนเอง
“เป้าหมายของรายการ Financial Street คือ กลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการทางการเงินรวมถึงประชาชนทั่วไป โดยพวกเราจะหารือเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในระบบธนาคารหรือองค์กรการเงิน รวมถึงประเด็นต่างๆ ในสังคม นอกจากนี้ รายการดังกล่าวยังเปิดโอกาสให้ทุกคนแบ่งปันความคิดเห็นหรือข้อกังวลต่างๆ กับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ รับฟังข้อเสนอแนะและวิธีการแก้ไขต่างๆ เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ในด้านการเงินและธนาคาร”
ทั้งนี้ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา กัมพูชากำลังผลักดันการปฏิบัติโครงการต่างๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชนทุกวัย เช่น การพิมพ์จำหน่ายหนังสือการ์ตูนเกี่ยวกับการเงินสำหรับเด็กๆ การจัดการประกวดการผลิตวิดีโอเพื่อการศึกษาด้านการเงินสำหรับเยาวชน หรือการจัดตั้งคณะกรรมการทางการเงินที่ครอบคลุมเมื่อปี 2020 โดยการให้การศึกษาและการเสริมสร้างทักษะความรู้ทางการเงินนั้น ไม่เพียงแค่ช่วยให้ประชาชนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ได้ด้วยตนเองทั้งในปัจจุบันและในอนาคตเท่านั้น แต่ยังมีส่วนร่วมต่อการรักษาสภาพแวดล้อมทางการเงินให้มีความโปร่งใส ปลอดภัย และคล่องตัว เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนให้แก่การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ.
็Hoang Hai - Van Do - VOV