พิธีฮัจญ์ – น้ำตาแห่งความสุขของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย

(VOVWORLD) - การที่กลุ่มผู้แสวงบุญเดินทางไปยังนครเมกกะของประเทศซาอุดิอาระเบียเพื่อเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดที่ชาวมุสลิมต้องทำให้ได้สักครั้งในชีวิต โดยในแต่ละปี มีชาวอินโดนีเซียนับหลายแสนคนจากจำนวนชาวมุสลิมราว 242 ล้านคนในประเทศนี้ ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมพิธีดังกล่าว ซึ่งสำหรับพวกเขา การไปจาริกแสวงบุญยังดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์นั้น ไม่เพียงแค่เป็นหน้าที่ทางศาสนาเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีและการยอมรับอัลลอฮ์อีกด้วย
 

“น้ำตาผมไหลเมื่อได้เห็นกะอ์บะฮ์ ซึ่งเป็นจุดที่ชาวมุสลิมมุ่งใจถึงมาโดยตลอด การที่ได้เห็นอาคารหินอายุนับพันปีแห่งนี้ทำให้ผมซาบซึ่งใจเป็นอย่างมาก”

ความรู้สึกของนาย C.R Nurdin หนึ่งในชาวมุสลิมจากประเทศอินโดนีเซีย ก็เป็นความรู้สึกร่วมกันของชาวมุสลิมราว 2 ล้านคนจาก 160 ประเทศ เมื่อได้ย่างเท้าเข้ามาในดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์เมกกะเพื่อเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ปี 2023 ในระหว่างวันที่ 27 มิถุนายนถึง 2 กรกฎาคม โดยอาคารกะอ์บะฮ์ที่นาย Nurdin ได้กล่าวถึงคือศูนย์กลางของสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของศาสนาอิสลาม เป็นอาคารทรงลูกบาศก์ สูง 13.1 เมตร ตั้งอยู่ใจกลางมัสยิดอัลฮะรอม ซึ่งมีหินดำตั้งอยู่ที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ของอาคารและถูกยกเหนือพื้นดินประมาณ 1.5 เมตร ชาวมุสลิมมีความเชื่อว่า ท่านศาสดาโมฮัมเหม็ดเคยจูบหินดำก้อนนี้ ดังนั้น พวกเขาจึงมีความปรารถนาที่จะได้ไปยังกะอ์บะฮ์และจูบหินดำสักครั้งในชีวิต

พิธีฮัจญ์ – น้ำตาแห่งความสุขของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย - ảnh 1นาย C.R Nurdin และคู่สมรสก่อนเข้าร่วมการจาริกแสวงบุญพิธีฮัจญ์ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย

การจาริกแสวงบุญที่นครเมกกะอันศักดิ์สิทธิ์มี 2 รูปแบบคือพิธีอุมเราะห์และพิธีฮัจญ์ โดยพิธีอุมเราะห์เป็น “การเดินทางแสวงบุญขนาดเล็ก” และไม่บังคับ ซึ่งชาวมุสลิมสามารถทำอุมเราะห์ได้ทุกเวลาของปี ส่วนพิธีฮัจญ์เป็น “การเดินทางแสวงบุญครั้งใหญ่” ซึ่งถือเป็นหนึ่งในห้าเสาหลักของศาสนาอิสลามที่ผู้ศรัทธาจำเป็นต้องปฏิบัติอย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต โดยจะมีขึ้นในช่วงเดือนที่ 12 ตามปฏิทินอิสลาม นาย C.R Nurdin ได้อธิบายถึงเหตุผลที่มีชาวมุสลิมจำนวนมากในอินโดนีเซียและทั่วโลกเลือกเดินทางไปเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ที่นครเมกกะ ว่า “ตามคำสอนของศาสนาอิสลาม เมื่อผู้ศรัทธาเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ จะสามารถแก้กรรมเก่าทั้งหมดในอดีตแล้วกลับมาเป็นคนบริสุทธิ์เหมือนทารกแรกเกิด ในขณะเดียวกัน พิธีอุมเราะห์เป็นรูปแบบหนึ่งของการชดใช้ในปีที่ผ่านมา ฉะนั้น นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ชาวมุสลิมเลือกเข้าร่วมพิธีฮัจญ์”

ตามรายงานของกระทรวงกิจการศาสนาอินโดนีเซีย ในปี 2023 ทางการซาอุดิอาระเบียจะมีโควต้าให้ชาวอินโดนีเซียจำนวน 229,000 คน สามารถเดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะ เนื่องจากจำนวนผู้แสวงบุญที่ได้รับอนุญาตให้ไปนครเมกกะมีจำกัด ในขณะที่ความต้องการแสวงบุญของชาวมุสลิมอยู่ในระดับสูง ดังนั้น ชาวมุสลิมในอินโดนีเซียแต่ละคนอาจต้องรอนานถึง 20 ปีกว่าจะถึงคิวของตน รัฐบาลอินโดนีเซียจึงได้จัดตั้งคณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆ ทั้งในระดับส่วนกลางและระดับท้องถิ่น เพื่อวางแผนและดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่การจัดเที่ยวบิน โรงแรมที่พัก อาหารการกิน ไปจนถึงการดูแลสุขภาพของประชาชน เพื่อช่วยให้การเดินทางไปนครเมกกะปลอดภัยและราบรื่น นาย Lutfi Lukam Hakim เจ้าหน้าที่ดูแลกลุ่มผู้แสวงบุญจำนวน 531 คน สังกัดองค์กรสามัคคีของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย ที่เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในนครเมกกะปี 2023 เผยว่า “ถึงแม้ว่าภารกิจของพวกเราในช่วงพิธีฮัจญ์ปีนี้จะค่อนข้างหนัก พร้อมกับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวและจำนวนผู้แสวงบุญที่เพิ่มขึ้นภายหลังวิกฤตโควิด-19 แต่พวกเราก็พยายามทำให้ดีที่สุดและขอแสดงความขอบคุณต่อบรรดาเจ้าหน้าที่ทุกคนที่ให้ความช่วยเหลือทุกอย่าง”

พิธีฮัจญ์ – น้ำตาแห่งความสุขของชาวมุสลิมในอินโดนีเซีย - ảnh 2นาย Poeji สวดมนต์หน้าอาคารกะอ์บะฮ์ที่ตั้งอยู่ใจกลางมัสยิดอัลฮะรอมในนครเมกกะ

การจาริกแสวงบุญในพิธีฮัจญ์ใช้เวลาเพียงแค่ 6 วัน แต่การเดินทางไปยังนครเมกกะสำหรับชาวมุสลิมอินโดนีเซียมักใช้เวลานานถึง 40 วัน โดยมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 40-50 ล้านรูเปียห์ หรือราว 2,600-3,300 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหลายคนต้องเก็บเงินออมเป็นเวลาหลายปีหรือบางคนต้องขายทรัพย์สินของตนเพื่อการเดินทางไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ นาง Aan Abaniyah เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำเวียดนามและนาย Puji Raharjo คู่สมรส ได้เล่าถึงการเดินทางไปแสวงบุญของตัวเองเมื่อปี 2007 ด้วยความปลื้มปิติ ว่า

“ดิฉันมีความสุขมากที่ได้เดินทางไปแสวงบุญที่นครเมกกะ ซึ่งการแสวงบุญในครั้งนั้นไม่เพียงแค่เป็นการสวดมนต์เท่านั้น แต่ยังเป็นความท้าทายด้านสุขภาพร่างกายอีกด้วย โดยคุณต้องมีสุขภาพแข็งแรงเพราะต้องเดินทางไกลและเต็มไปด้วยความลำบากมาก เช่น ในพิธีขว้างเสาหิน มีผู้คนจำนวนมากมารุมกันเพื่อประกอบพิธีกรรม หรือในพิธีเดินรอบอาคารกะอ์บะฮ์ 7 ครั้ง ทุกคนมารวมตัวกันอย่างหนาแน่นในวันนั้น ซึ่งลำบากจริงๆ แต่ดิฉันมีความสุข รู้สึกอิ่มบุญอิ่มใจและภูมิใจในการเดินทางครั้งนั้นเป็นอย่างมาก”

“พวกเราเดินทางพร้อมกับกลุ่มผู้แสวงบุญจากจังหวัดต่างๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ในการเดินทางครั้งนั้น พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับการแบ่งปัน ความสามัคคี และการดูแลซึ่งกันและกัน หลังเดินทางกลับจากการเข้าร่วมพิธีฮัจญ์ พวกเราเป็นคนที่ดีขึ้น ทั้งในสัจจะวาจาและการกระทำ”

ทั้งนี้ หลังจากการทำพิธีฮัจญ์เสร็จสิ้นลง ชาวมุสลิมอินโดนีเซียจะต้องรอคิวเดินทางกลับบ้านตามกลุ่มของตน ซึ่งในระหว่างช่วงเวลานั้น พวกเขายังคงไปสวดมนต์ที่มัสยิดใหญ่หลายแห่งในนครเมกกะ หรือเที่ยวชมสถานที่ต่างๆ และไปช้อปปิ้ง ส่วนตามแผนกำหนดการ การเดินทางกลับประเทศรอบแรกจะมีขึ้นในวันที่ 4 กรกฎาคม และรอบสุดท้ายคือในวันที่ 4 สิงหาคม 2023 ซึ่งหลังการเดินทางที่ต้องเผชิญความท้าทายมากมายแต่เต็มไปด้วยความภาคภูมิใจในนครเมกกะนั้น คือน้ำตาแห่งความสุขเมื่อผู้แสวงบุญได้กลับมารวมตัวกับคนที่รักและครอบครัวอีกครั้ง.

ในตลอดช่วงเวลาเข้าร่วมการจาริกแสวงบุญพิธีฮัจญ์ ชาวมุสลิมต้องปฏิบัติพิธีกรรมต่างๆ ประกอบด้วย การเดินทวนเข็มนาฬิการอบอาคารกะอ์บะฮ์ตั้งอยู่ใจกลางมัสยิดอัลฮะรอม 7 ครั้ง การวิ่งไปมาระหว่างเนินเขา Al-Safa และ Al-Marwah การดื่มน้ำจากบ่อ Zamzam การร่วมพิธีขว้างหินปีศาจขับไล่สิ่งชั่วร้าย รวมถึงหัวใจสำคัญของการแสวงบุญคือ การรวมตัวกันบนยอดเขา Arafat ซึ่งในตำนานว่ากันว่า ศาสดาโมฮัมเหม็ด ได้ทำการเทศนาครั้งสุดท้าย เพื่อสวดมนต์และอ่านอัลกุรอานยันค่ำ.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คำติชม

ข่าวอื่นในหมวด