อาเซียน - จุดหมายปลายทางการศึกษาต่างประเทศที่น่าสนใจสําหรับเยาวชนเวียดนาม
Phương Thảo/VOV5 -  
(VOVWORLD) - ในช่วงเวลาที่ผ่านมา จํานวนนักเรียนและนักศึกษาเวียดนามที่สนใจศึกษาต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศต่างๆ ในภูมิภาค เช่น มาเลเซีย ไทย หรือ สิงคโปร์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างมาก เนื่องจากค่าเรียนและค่าครองชีพที่ไม่สูงเกินไป หลักสูตรการเรียนการสอนมีความเหมาะสม ปริญญาบัตรเป็นที่ยอมรับทั่วโลก รวมถึงสภาพภูมิอากาศและวิถีชีวิตที่มีความคล้ายคลึงกันหลายอย่าง วันนี้ ขอเชิญทุกท่านรับฟังบทความเรื่อง “อาเซียน – จุดหมายปลายทางการศึกษาต่างประเทศที่น่าสนใจสําหรับเยาวชนเวียดนาม” จาก เฟืองถาว ผู้สื่อข่าวสถานีวิทยุเวียดนาม
“หนูสนใจหลักสูตรปริญญาโทสาขาการจัดการการท่องเที่ยวในประเทศไทย เพราะที่นี่มีชื่อเสียงในด้านนี้และมีหลายสิ่งหลายอย่างคล้ายคลึงกับเวียดนาม หนูคิดว่า จะได้รับมุมมองใหม่ๆ ทั้งที่มีความคุ้นเคยและความแตกต่าง เนื่องจากไทยก็อยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
“วันนี้ หนูได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง และเห็นว่า มหาวิทยาลัยของมาเลเซียมีรูปแบบการใช้เครื่องบินจำลองที่เป็นจุดเด่น หนูคิดว่า สภาพแวดล้อมการเรียนรู้ทุกที่ย่อมมีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน แต่สำหรับของมาเลเซียนั้น หนูรู้สึกว่ามีความคุ้นเคยและใกล้ชิด อีกทั้งมีคุณภาพทัดเทียมกับกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งในทวีปยุโรปและอเมริกา”
“ผมมาศึกษาข้อมูลให้ลูกชายที่อยากไปเรียนต่อต่างประเทศในด้านสังคมศาสตร์ ผมรู้สึกว่า บรรยากาศการเรียนการสอนที่ไทยมีความเป็นสากลค่อนข้างสูง และไทยก็อยู่ใกล้กับเวียดนามด้วย ดังนั้น ค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายต่างๆ จึงถูกกว่ายุโรปและสหรัฐฯ หลายเท่า”
นี่คือความคิดเห็นต่างๆ ของนักศึกษา นักเรียนมัธยมตอนปลาย และผู้ปกครอง เมื่อเข้าชมงานนิทรรศการการศึกษานานาชาติเวียดนาม Vietnam Education Fair ปี 2022ในกรุงฮานอย ซึ่งจัดโดยศูนย์บริการให้คำปรึกษาด้านการศึกษาต่อต่างประเทศ สังกัดกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงศึกษาและการฝึกอบรมเวียดนาม ร่วมกับบริษัท BMI GLOBAL ผู้จัดงานด้านการศึกษาชั้นนําของโลก เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน โดยในงานครั้งนี้ มีมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษากว่า 100แห่งจาก 18ประเทศทั่วโลก รวมถึงไทย สิงคโปร์ และ มาเลเซีย เข้าร่วม
บรรยากาศในบูธของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
|
สำหรับการเข้าร่วมงานนิทรรศการการศึกษาในเวียดนามครั้งแรกนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พีระ พันลูกท้าวผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศและพัฒนาพันธกิจสากล มหาวิทยาลัยมหาสารคามเผยว่า ศักยภาพของความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างเวียดนามกับไทยอยู่ในระดับที่สูงมากและจําเป็นต้องให้การสนับสนุนซึ่งกันและกัน เพื่อยกระดับการศึกษาของทั้งสองประเทศในระดับภูมิภาคและโลก ปัจจุบัน มีนักศึกษาเวียดนามจํานวนมากที่กําลังศึกษาในมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ในขณะที่ทางมหาวิทยาลัยกำลังดําเนินโครงการความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเวียดนามหลายแห่ง "มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้ลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยฮานอย โดยทางเวียดนามได้ส่งอาจารย์ไปสอนภาษาเวียดนามที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ส่วนพวกเราได้ส่งอาจารย์และนักศึกษาไทยไปสอนภาษาไทยที่ฮานอย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือด้านการศึกษาที่พร้อมจะมีการขยายต่อไปในอนาคต"
ประเทศไทยกําลังเป็นจุดหมายปลายทางที่น่าสนใจสําหรับนักศึกษาต่างชาติหลายคน รวมถึงนักศึกษาเวียดนามที่มีความประสงค์จะศึกษาต่อหรือทำวิจัย เนื่องด้วยคุณภาพการเรียนการสอนที่ดีและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสม รวมถึงปริญญาบัตรทั้งในระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก ของหลักสูตรนานาชาติ ก็เป็นที่ยอมรับทั่วโลก ปัจจุบัน รัฐบาลไทยได้ดำเนินนโยบายการศึกษาที่เปิดกว้างสําหรับนักศึกษาต่างชาติ สำหรับจำนวนนักศึกษาเวียดนามที่กําลังศึกษาในมหาวิทยาลัยที่ไทยนั้นนับวันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและได้รับความชื่นชมอย่างสูง นางสาวศุกลิน วนาเกษมสันต์ ผู้อํานวยการฝ่ายบริหารวิชาการนานาชาติ สำนัวกบริหารวิรัชกิจและเครือข่ายนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า "มีนักศึกษาชาวเวียดนามประมาณ 200ถึง 300คนที่กำลังศึกษาในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สาขาวิชาวิศวกรรม พลังงาน และเทคโนโลยี โดยนักศึกษาเวียดนามมีความรู้ความสามารถที่ดีมาก ทุกคนล้วนได้รับทุนการศึกษาและมีผลการเรียนยอดเยี่ยม."
นักเรียนเวียดนามในบูธEducation Malaysia Global Services (ภาพจากCIEC)
|
เช่นเดียวกับไทย ประเทศมาเลเซียก็กําลังได้รับความสนใจจากนักศึกษาต่างชาติเป็นจํานวนมาก รวมถึงนักศึกษาเวียดนาม เนื่องจากคุณภาพการศึกษาที่ดี มีสาขาวิชาให้เลือกหลากหลาย โดยเฉพาะค่าเรียนที่ไม่สูงมากนัก และใช้เวลาเดินทางจากเวียดนามเพียง 2-3 ชั่วโมง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักศึกษาเวียดนามหลายคนตัดสินใจไปเรียนต่อที่ประเทศที่ถูกขนานนามว่า "Little Asia" เพราะมีความหลากหลายด้านวัฒนธรรมและเชื้อชาติ อีกทั้งมีเทศกาลต่างๆ จากทั่วทุกมุมโลก เมื่อกล่าวถึงศักยภาพความร่วมมือในด้านการศึกษาต่อต่างประเทศระหว่างเวียดนามกับมาเลเซีย นาย Megat Mohd Samsul Megat Ismailผู้อํานวยการส่วนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Education Malaysia Global Servicesสังกัดกระทรวงศึกษาธิการมาเลเซียเผยว่า "สำหรับมาเลเซีย เวียดนามถือเป็นตลาดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ นอกเหนือจากอินโดนีเซียและบรูไน ด้วยประชากรราว 100 ล้านคน ซึ่งเป็นโอกาสอันดีให้ทั้งสองประเทศส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกัน พวกเรายินดีที่จะให้การต้อนรับนักศึกษาเวียดนามมาศึกษาต่อในมาเลเซีย ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยในการสร้างงานสร้างอาชีพให้พวกเขาเพื่อการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่"
ทั้งนี้นาย Megat ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือระหว่างเวียดนามกับกลุ่มประเทศอาเซียนกำลังอยู่ในระดับที่ดี แม้ต้องประสบวิกฤตโควิด-19 เป็นเวลากว่าสองปี แต่การเชื่อมโยงยังคงได้รับการเสริมสร้างและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การจัดงานนิทรรศการการศึกษานานาชาติในเวียดนามครั้งนี้ถือเป็นพลังขับเคลื่อนให้แก่งานด้านการศึกษาต่างประเทศ อีกทั้งมีส่วนช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการศึกษาระดับอุดมศึกษาระหว่างเวียดนามกับกลุ่มประเทศอาเซียนให้มีการพัฒนามากขึ้น ตลอดจนเปิดโอกาสให้นักเรียนและนักศึกษาเวียดนาม สามารถเข้าถึงสถาบันการศึกษาที่มีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือสูงในภูมิภาคอาเซียนเพื่อเส้นทางการศึกษาต่อในต่างประเทศของตนเองในอนาคต.
Phương Thảo/VOV5