การตั้งกองทุนชุมชนเพื่อสร้างผลงานวัฒนธรรมและศิลปะของเวียดนาม
( VOVworld )-ปัจจุบัน บรรดาเจ้าของผลงานรุ่นใหม่เวียดนามสามารถค้นหาวิธีการเข้าถึงผู้อ่านโดยตรงรูปแบบใหม่ที่แตกต่างกับการตีพิมพ์ผลงานรูปแบบเดิมนั่นคือ การตั้งกองทุนชุมชนหรือ ( Crowdfunding ) เพื่อตีพิมพ์หนังสือ กองทุนชุมชนสามารถแปรความรักและความหลงไหลศิลปะของคนรุ่นใหม่ให้เป็นความจริง โดยได้มีผลงานที่มีอัตลักษณ์ของเวียดนาม และนับวันมีผลงานออกสู่สายตาผู้อ่านจากกองทุนชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้เปิดลู่ทางที่แจ่มใสให้แก่เจ้าของผลงานในการหาตลาดรองรับ
( VOVworld )-
ปัจจุบัน บรรดาเจ้าของผลงานรุ่นใหม่เวียดนามสามารถค้นหาวิธีการเข้าถึงผู้อ่านโดยตรงรูปแบบใหม่ที่แตกต่างกับการตีพิมพ์ผลงานรูปแบบเดิมนั่นคือ การตั้งกองทุนชุมชนหรือ ( Crowdfunding ) เพื่อตีพิมพ์หนังสือ กองทุนชุมชนสามารถแปรความรักและความหลงไหลศิลปะของคนรุ่นใหม่ให้เป็นความจริง โดยได้มีผลงานที่มีอัตลักษณ์ของเวียดนาม และนับวันมีผลงานออกสู่สายตาผู้อ่านจากกองทุนชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้เปิดลู่ทางที่แจ่มใสให้แก่เจ้าของผลงานในการหาตลาดรองรับ
หนังสือการ์ตูนชุดลอง เถิ่น เตื๊อง
การตั้งกองทุนชุมชนหรือ Crowdfunding เป็นการหาเงินทุนรูปแบบใหม่สำหรับเวียดนาม แต่ในช่วงที่ผ่านมา ในเวียดนามมีการตั้งกองทุนชุมชนเพื่อสนับสนุนแขนงงานต่างๆ อย่างไรก็ตาม การตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการตีพิมพ์ผลงานของเวียดนามเพิ่งเป็นที่รู้จักแพร่หลายตั้งแต่ปี ๒๐๑๔ เท่านั้น ผ่านหนังสือการ์ตูนประวัติศาสตร์ชุด “ ลอง เถิ่น เตื๊อง ”รวม ๕ เล่มของเจ้าของผลงานรุ่นใหม่กลุ่ม ฟอง เซือง โกมิก ที่ออกสู่สายตาผู้อ่านเล่มแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี ๒๐๑๔ จากการหาเงินทุนโดยการสนับสนุนจากผู้อ่านเพื่อตีพิมพ์หนังสือการ์ตูน ในตอนแรกกลุ่มฟอง เซือง โกมิกสามารถหาเงินได้กว่า ๓๐๐ ล้านด่งเพื่อออกเล่มแรก ต่อมาเล่มที่สองได้รับเงินสนับสนุนกว่า ๒๐๐ ล้านด่ง และก่อนที่เล่มที่สามจะออกสู่สายตาผู้อ่านในเดือนเมษายนนี้ ได้มีข่าวดีสำหรับกลุ่มเจ้าของผลงานนั่นคือ หนังสือการ์ตูน “ ลองเถิ่นเตื๊อง ” เล่มแรกได้รับรางวัลรองชนะเลิศหรือSilver Award ในการประกวดหนังสือการ์ตูนมังงะนานาชาติครั้งที่ ๙ เมื่อต้นเดือนนี้ นายเหงวียน แถ่ง ฟอง ผู้วาดหนังสือการ์ตูนชุด “ ลอง เถิ่น เตื๊อง ”เล่าเกี่ยวกับการที่กลุ่มฟอง เซือง โกมิกเลือกรูปแบบการตั้งกองทุนชุมชนว่า “ พวกเราได้เลือกการตั้งกองทุนโดยการสนับสนุนเงินจากชุมชนเพื่อทำหนังสือการ์ตูนชุดนี้เพราะไม่อยากอาศัยการตีพิมพ์รูปแบบเดิมอีกแล้ว วิธีการหาเงินทุนของพวกเราจะช่วยลดช่องว่างระหว่างเจ้าของผลงานกับผู้อ่าน โดยผู้อ่านสามารถสนับสนุนเงินเพื่อสร้างผลงานที่มีคุณภาพหรือผลงานที่ตนชื่นชอบ ”
ความสำเร็จของหนังสือการ์ตูนชุด “ ลอง เถิ่น เตื๊อง ” ถือเป็นเหตุการณ์โดดเด่นในวงการสิ่งพิมพ์ที่ยังคงใช้การตีพิมพ์รูปแบบเดิมคือ การตีพิมพ์แล้วจำหน่าย จากความสำเร็จดังกล่าวได้ส่งผลให้หนังสือหลายเล่มได้รับการตีพิมพ์ตามรูปแบบนี้เช่น หนังสือภาพ Humans of Ha Noi –การเข้าสู่โลกของกัน นวนิยายแถ่ง กี่ อี๊ หนังสือการ์ตูนเรื่อง “ น้ำตาลหวานแมวตาย ” และพ็อคเก็ตบุ๊คประจำครอบครัวซึ่งเป็นหนังสือเสริมทักษะสำหรับพ่อแม่ การตั้งกองทุนชุมชนทำให้สาธารณะชนกับผู้สร้างสรรค์ผลงานกระเถิบเข้าใกล้กันมากขึ้น โดยผู้อ่านได้กลายเป็นเจ้าของผลงานเพราะได้แสดงความคิดเห็นต่อผลงานไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาหรือรูปแบบ ด้วยเหตุนี้ จึงมีเจ้าของหรือกลุ่มเจ้าของผลงานได้เลือกรูปแบบการตั้งกองทุนชุมชนเพื่อแปรความฝันให้เป็นความจริงและถ่ายทอดความหลงไหลของตนสู่ชุมชน
ล่าสุดเมื่อต้นปีนี้ กลุ่มเยาวชนด่าย เหวียดโก๋ ฟองได้ริเริ่มโครงการ “ ลายโบราณด่าย เหวียด ”ด้วยการเรียกเงินสนับสนุนจากชุมชนเพื่อจัดทำลวดลายโบราณของเวียดนามเป็นดิจิตอลเพื่อใช้ในงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรมและออกแบบเครื่องใช้ต่างๆ ซึ่งงานแรกได้เสร็จเรียบร้อยแล้วคือ ลายโบราณบนวัตถุสิ่งของและหนังสือโบราณเพื่อเป็นคลังบริการสังคม จากความหลงไหลและความกระตือรือร้น เมื่อระดมเงินได้ ๓๕ ล้านด่ง กลุ่มด่าย เหวียด โก๋ ฟองได้ลงมือทำการสะสมและทำลวดลายต่างๆในรัชสมัยเหงวียนให้เป็นดิจิตอลโดยไม่รอเงินสนับสนุนครบเป้าหมายคือ ๑๐๐ ล้านด่ง และเมื่อสามารถหาเงินได้ ๕๐ ล้านด่ง พวกเขาได้ลงมือทำลวดลายสถาปัตยกรรมและลายเครื่องใช้ในรัชสมัยเลเป็นดิจิตอล นายกู่ มินห์ คัว จิตรกรที่ปรึกษาและตรวจรับผลงานโครงการได้เปิดเผยว่า “ ต้องรู้ว่า พวกเราจะทำอะไรให้แก่บรรดาผู้ที่สนับสนุนเราได้บ้าง ดังนั้นต้องทำโครงการที่มีประโยชน์ต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในสังคม สองคือ ต้องทำโครงการด้วยใจและทุ่มเทให้แก่งานที่ทำ ทั้งนี้และทั้งนั้นทำให้ทุกคนเข้าใจและสนับสนุนพวกเรา ”
โครงการ “ ลอง เถิ่น เตื๊อง ”และ คลังข้อมูลดิจิตอลลายด่ายเหวียดโบราณเป็นผลงานที่ทำโดยคนเวียดนามที่ได้รับการสนับสนุนเงินจากกองทุนชุมชน การตีพิมพ์หนังสือจากเงินของกองทุนช่วยให้เจ้าของผลงานรุ่นใหม่เรียนรู้ประสบการณ์ในการบริหารเวลา การวางแผนตีพิมพ์สิ่งพิมพ์ตลอดจนการดูแลลูกค้าซึ่งเป็นผู้มีส่วนร่วมต่อการให้กำเนิดหนังสือ นายเหงวียน แค้ง เซือง ผู้ก่อตั้งบริษัทหุ้นส่วนหนังสือการ์ตูน โกมิโกลา ซึ่งเป็นหน่วยงานหาเงินทุนให้แก่สองโครงการดังกล่าวได้เปิดเผยว่า เมื่อโครงการเสร็จจะโพสต์ชุดสะสมลายโบราณลงอินเตอร์เน็ตให้ทุกคนใช้ฟรี นายแค้ง เซือง กล่าวว่า “ ทุกคนสนับสนุนโครงการของคนเวียดนามเสมอ พวกเราได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ พวกเขาโอนเงินให้แก่พวกเราพร้อมอิเมลความว่า ไม่ต้องส่งอะไรให้แก่พวกเราหรอก พวกคุณสู้ๆนะคะ ซึ่งเป็นการให้กำลังใจพวกเราเพื่อขยายผลต่อไป ”
นอกจากนี้ บริษัทหุ้นส่วนหนังสือการ์ตูนโกมิโกลายังหาเงินเพื่อสนับสนุนการตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนกว่า ๑๐ เรื่อง ออกแผ่นซีดีเพลงเพื่อประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับปัญหาสังคมต่างๆให้แก่ชุมชน ซึ่งก็ได้รับการสนับสนุนจากทุกคนอย่างเต็มที่
การก่อตั้งกองทุนชุมชนแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบของสังคมต่อการพัฒนาหนังสือที่มีคุณภาพ และในทางกลับกันเมื่อเจ้าของผลงานใช้เงินลงทุนจากกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลให้มีผลงานที่ดีๆและมีคุณภาพ อันเป็นการมีส่วนร่วมเสริมสร้างวัฒนธรรมการอ่านในชุมชน .